วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ลงทุนแบบ เบน เกรแฮม

  Value Value tor ที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 10-15  ปีที่ผ่านมานั้น  ผมคิดว่ามักอยู่ใน 2 กลุ่มคือ  กลุ่มแรกเน้นการลงทุนในหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก”  สไตล์แบบวอเร็น บัฟเฟตต์  ส่วนกลุ่มที่สองเน้นลงทุนหุ้นธรรมดาที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงสไตล์เบน เกรแฮม  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนในกลุ่มหลังนั้นจะฉีกแนวออกจากวิธีการของเบน เกรแฮมในแง่ที่ว่าพวกเขามักจะลงทุนในหุ้นตัวเล็กที่มีความไม่แน่นอนของผลประกอบการสูง  ลงทุนแบบเน้นหนักในหุ้นน้อยตัวมากและมักจะซื้อขายหุ้นด้วยมาร์จินเต็มที่  นอกจากนั้นยังมีแนวทางการลงทุนอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนเกรแฮมเลย  อาจจะพูดได้ว่าสิ่งเดียวที่เหมือนเบน เกรแฮมก็คือการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นและซื้อเมื่อราคาต่ำกว่านั้นมาก ๆ และขายเมื่อหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่าแล้ว

    สถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงไป  หุ้นซุปเปอร์สต็อกราคาไม่ถูกเลย  ราคาหุ้นถึงจะไม่ลงมากแต่ก็ขึ้นช้ามาก  ส่วนหุ้นตัวเล็กที่ถูกเล่นในแนวของเบนเกรแฮมนั้น  หลายตัวมีราคาตกลงมามาก  กำไรที่เคยทำได้หดหายลงไปไม่น้อย  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยนั้นแม้ว่าจะไม่ได้เกิดวิกฤติแต่ก็ชะลอตัวลงมาก  แรงเก็งกำไรของนักลงทุนรายย่อยที่เป็นตัวขับเคลื่อน “หุ้น VI” ของไทยในอดีตหดหายไปมาก  นี่เป็นเหตุผลที่ผมเริ่มคิดว่าเราจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั่นก็คือ  ลงทุนแบบ Conservative หรือระมัดระวังมากขึ้นและไม่หวังผลเลิศ  และกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็คือ  การลงทุนแบบ เบน เกรแฮม ดั้งเดิมที่ถูกออกแบบมาในช่วงที่ตลาดหุ้นเงียบเหงาคนไม่สนใจการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤติตลาดหุ้นครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นอเมริกาหลังปี 1929

    เกณฑ์การเลือกหุ้นแนว เบน เกรแฮม ดั้งเดิมนั้น  จะต้องเป็นหุ้นที่มีราคาถูกหรือถูกมาก  ถ้าวัดจากค่า PE ผมคิดว่าไม่ควรเกิน 10 เท่า  และที่สำคัญกำไรนั้นจะต้องมีความมั่นคงสูง  ซึ่งกำไรจะเป็นแบบนั้นได้ผมคิดว่าเราต้องเน้นหุ้นที่มีขนาดใหญ่พอสมควร  Market Cap. น่าจะต้องหลายหมื่นล้านขึ้นไป  สินค้าที่บริษัทขายมีความผันผวนของมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายไม่สูง  และถ้าจะให้มั่นใจขึ้นไปอีก  เราก็ควรจะมองย้อนหลังไปซัก 3-4 ปีว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทไม่เคยต่ำกว่านั้น  เกรแฮมเองบอกว่าเราไม่ควรจะใช้กำไรปีล่าสุดปีเดียว  แต่ให้ใช้กำไรต่อหุ้นเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี เป็นตัวคำนวณค่า PE ล่าสุด

    การเติบโตของกิจการนั้น  เบน เกรแฮม เน้นว่าจะต้องเป็นการเติบโตที่แท้จริงในระยะยาวไม่ใช่การขยายตัวของยอดขายและกำไรในระยะสั้น ๆ  ปีสองปี   ถ้าจะยึดแนวเกรแฮมอย่างเคร่งครัด  เราควรจะเอาตัวเลขผลประกอบการย้อนหลังซัก 10 ปี   คำนวณหากำไรเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด  เปรียบเทียบกับกำไรเฉลี่ย 3 ปีแรก  แล้วมาคำนวณว่าบริษัทมีกำไรต่อหุ้นเติบโตเฉลี่ยปีละกี่เปอร์เซ็นต์  และนี่ก็คือการเติบโตอย่างแท้จริง  ซึ่งก็แตกต่างจากการเติบโตที่ VI ไทยใช้ที่มักจะดูกันแค่ปีหรือสองปี  ประเด็นนี้อาจจะมีข้อถกเถียงว่าบริษัทในตลาดหุ้นไทยจำนวนมากเพิ่งจะเข้าตลาด  สถิติที่แสดงให้เห็นมีแค่ 3-4 ปี ดังนั้นจึงใช้วิธีคิดแบบนั้นไม่ได้  สิ่งที่พวกเขาทำก็คือการคาดการณ์ไปในอนาคตโดยการวิเคราะห์จากข้อมูลล่าสุดบวกกับการรับฟังกลยุทธ์ของบริษัทจากผู้บริหาร

    ถ้าถามว่าเบน เกรแฮมจะแก้อย่างไรสำหรับประเด็นดังกล่าว  คำตอบก็คือ  เขาไม่เชื่อว่าเราจะคาดการณ์การเติบโตได้ถูกต้อง  เบน เกรแฮม คงเคย “ถูกหลอก” จากผู้บริหารบริษัทมามากในช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นเฟื่องฟู  ทำให้เขาไม่ค่อยเชื่อผู้บริหาร  และก็มักจะไม่ไปพบหรือฟังผู้บริหารนัก  เขาสนใจที่จะดู  “ของจริงจากตัวเลข”  ที่ยาวนานเพราะมันไม่หลอก  ถ้าบริษัทไม่มีตัวเลขนั้นเพราะเป็นบริษัทใหม่ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่นานเขาก็คงจะไม่สนใจที่จะซื้อหุ้นตัวนั้นเพราะผลประกอบการที่แท้จริงเพียงปีสองปีอาจจะเชื่อถือไม่ได้มากนัก

    ความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในสายตาของเบนเกรแฮม  กฎสำคัญของเขาในการลงทุนแบบ VI ก็คือ  การทำกำไรและลดความเสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุด  แนวทางหนึ่งที่เขาใช้โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นเลวร้ายที่สุดก็คือ  การหาหุ้นของบริษัทที่มีทรัพย์สินหมุนเวียนที่มีสภาพคล่องสูงลบด้วยหนี้ทั้งหมดแล้วยังมีมูลค่ามากกว่า Market Cap. หลายสิบเปอร์เซ็นต์  ซึ่งบริษัทแบบนี้ถ้าต้องเลิกบริษัทและขายทุกอย่างทิ้งก็จะยังเหลือเงินมากกว่าราคาหุ้นที่เราจ่าย  คล้าย ๆ  กับว่าเราซื้อเงิน 1 ดอลลาร์  ด้วยเงิน 50 เซ็นต์ ซึ่งไม่มีทางขาดทุนมี  Margin of Safety สูง  คือต่อให้สถานการณ์เลวร้ายมากไม่เป็นอย่างที่คิดก็จะยังไม่ขาดทุน

    ความเสี่ยงที่บริษัทจะ “ล้มละลาย” จากการที่ไม่สามารถใช้หนี้ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เบนเกรแฮมให้ความสำคัญ  ดังนั้น  เขาจะเน้นลงทุนเฉพาะในบริษัทที่มีหนี้ไม่สูงเกินไป  และบริษัทที่ทรัพย์สินหมุนเวียนสูงเมื่อเทียบกับภาระหนี้  ความคิดนี้อาจจะมาจากการที่เขาเห็นบริษัทจำนวนมากต้องล้มละลายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจทั้ง ๆ ที่อาจจะเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการดีแต่มีหนี้มากเกินตัวโดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น

    ในภาพพอร์ตโฟลิโอโดยรวม  วิธีที่เบนเกรแฮมแนะนำก็คือการถือหุ้นจำนวนมาก  อย่างน้อยอาจจะ 20-30 ตัวเพื่อที่จะกระจายความเสี่ยง  นอกจากนั้น  เขาแนะนำให้ถือพันธบัตรด้วย  สัดส่วนคร่าว ๆ  ก็คือ  ให้ถือหุ้นระหว่าง 25-75%  ที่เหลือเป็นพันธบัตร ตามสภาวะของตลาดหุ้น  ถ้าคิดว่าราคาหุ้นถูกมากก็อาจจะถือหุ้นถึง 75% ถ้าแย่ที่สุดก็ถือเพียง 25%  เป็นต้น

    เรื่องของจิตวิทยาของคนในตลาดหุ้นก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เบนให้ความสำคัญ  เขาบอกว่าเราต้องพยายามอย่าตามความคิดหรืออารมณ์ของคนอื่นหรือตลาด  การที่คนแห่เล่นหุ้นตัวไหนและทำให้หุ้นมักมีราคาแพงเกินพื้นฐานนั้นไม่ได้หมายความว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นจะสูงตามนั้น  เช่นเดียวกัน  หุ้นบางตัวที่ราคาตกลงมามากก็อาจจะไม่ได้แปลว่าพื้นฐานเลวร้ายลงขนาดนั้น  สิ่งที่เราควรทำก็คือการพิจารณาอย่างรอบคอบและฉกฉวยประโยชน์โดยการขายหุ้นที่แพงเกินและซื้อหุ้นที่ถูกกว่าความเป็นจริงให้กับ Mr Market หรือ  “นายตลาด”  ที่  “อารมณ์แปรปรวนไม่มีเหตุผล”

    เมื่อพบว่าหุ้นถูกหรือแพงกว่าความเป็นจริง  เบนเกรแฮมก็จะพยายามวิเคราะห์ดูว่าอะไรทำให้มัน Undervalue หรือ Overvalue  การเข้าใจประเด็นนี้จะทำให้เราลงทุนได้ถูกต้องขึ้น  เช่น  ถ้าราคาต่ำเพราะว่ามันเป็นธุรกิจ “ตะวันตกดิน”  ที่ไม่มีโอกาสจะดีขึ้นได้มีแต่จะค่อย ๆ  แย่ลงและตายไปในที่สุด  แบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าไปลงทุน  เป็นต้น  แต่ถ้า Undervalue เพราะมันเป็นหุ้นที่คนไม่ชอบและไม่ประทับใจ  อาจจะเนื่องจากมันดู “โตช้า” ในช่วงเร็ว ๆ นี้  หรืออาจจะเป็นเหตุผลอื่นที่รุนแรงแต่เกิดขึ้นครั้งเดียวและแก้ไขได้  แบบนี้ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีของเราในการลงทุน  เป็นต้น

    กลยุทธ์และแนวทางแบบเบนเกรแฮมดั้งเดิมนั้นมีอยู่อีกมากมาย  บ่อยครั้งในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ตลาดหุ้นสดใส  คนก็จะดูว่ามัน  “ล้าสมัย”  ทำกำไรช้า  และไม่ถูกต้อง  แค่คำกล่าวที่ว่าเขาไม่ค่อยสนใจ “ปัจจัยด้านคุณภาพ”  เน้นแต่ด้านปริมาณ  ก็ทำให้หลายคนเบือนหน้าแล้ว  แต่เราควรจะเข้าใจสภาวะตลาดที่มีอิทธิพลต่อความคิดเขาในขณะนั้นด้วย  เหนือสิ่งอื่นใด  เขาอาจจะสนใจเรื่องปัจจัยคุณภาพด้วย  เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่เชื่อเรื่องความสามารถในการคาดการณ์ว่าจะมีใครทำได้ถูกต้อง  และอะไรที่ไม่ถูกต้องสำหรับเขาแล้วก็เป็นเรื่องความเสี่ยงที่เขาไม่อยากรับ  หลักการของเขาก็คือ  การลงทุนแปลว่าเราต้องได้รับผลตอบแทนแน่ ๆ  ไม่มากก็น้อย  ถ้าไม่ใช่  มันก็คือการเก็งกำไร  และทั้งหมดนี้ก็คือแนวทางคร่าว ๆ  ของการลงทุนแบบเบน เกรแฮม ที่ผมกำลังนำกลับมาใช้ในยามนี้ที่ตลาดหุ้นกำลังเหงาหงอยลงหลังจากความ “ฟู่ฟ่า” ที่ยาวนาน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-----------------------

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การลงทุนเกมน่าเบื่อ

'การลงทุน-เกมน่าเบื่อ'

เวลาพูดถึงเรื่องของการลงทุน  คนทั่วไปรวมถึงนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นที่ยังเป็นมือใหม่มักจะคิดถึงกิจกรรมหรือการเล่นที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ  เป็นกิจกรรมที่ “ดุเดือดเลือดพล่าน” ที่นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นต้องมีไหวพริบและกลยุทธ์หรือกลเม็ดเด็ดพรายรอบตัวที่เหนือกว่าคนอื่น  นอกจากนั้น  พวกเขาก็ยังต้องมีความรวดเร็วตัดสินใจเด็ดขาดได้แบบนาทีต่อนาที  จิตใจต้องเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว  บางทีก็ต้องพร้อมที่จะ “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต”  บางครั้งก็สามารถ “ทุ่มสุดตัว”  ได้ทันทีเมื่อ  “โอกาสมาถึง”   เรื่องราวหรือ Story ของการลงทุนแต่ละครั้งของนักลงทุนแต่ละคนโดยเฉพาะที่เป็น  “เซียน”  ดูมีสีสันน่าตื่นเต้น  บางครั้งทำกำไรมโหฬารในเวลาอันสั้น  บางคนก็พลาดเสียหายหนัก  ทั้งหมดนั้นดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของฝีมือและ/หรือโชคบ้าง  เกมของการลงทุนนั้นดูเหมือนไม่มีใครคิดว่าน่าเบื่อเลย  คนคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนุกและคนจำนวนมากอยากทำ  อยากเลือกหุ้นลงทุน  สนุกกับการ  “ลุ้น” ว่าหุ้นจะขึ้นไปแค่ไหนและจะได้กำไรเท่าไร

    แต่ความเป็นจริงก็คือ  ภาพที่เห็นอาจจะไมตรงกับความเป็นจริง  ความน่าตื่นเต้นเร้าใจอาจจะไม่ได้แปลงออกมาเป็นผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน  คนลงทุนที่ตื่นเต้นและสนุกกับการลงทุนอาจจะแพ้คนที่ลงทุนแบบน่าเบื่อหน่าย  เซียนหุ้นที่ดูน่าตื่นเต้นมีเรื่องราวการลงทุนที่โดดเด่นน่าติดตามมากกรณีนั้นอาจจะแพ้เซียนที่ดูเงียบเหงาน่าเบื่อหน่ายไม่เคยมี “หุ้นเด็ด” ที่ลงแล้ว “เปลี่ยนชีวิต” ภายในปีสองปีหรือน้อยกว่านั้น  ประวัติศาสตร์ของการลงทุนและนักลงทุนนั้นบอกให้เรารู้ว่า  การลงทุนนั้นเป็นเกมที่เชื่องช้าน่าเบื่อ  วอเร็น บัฟเฟตต์ บอกว่าเหมือนตัวสล็อตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เคลื่อนไหวช้าที่สุดในโลก  ผมเองคิดว่ามันเป็นเรื่องของเต่าที่เดินช้าแต่มีกระดองที่ไม่มีใครทำอะไรมันได้   ถ้าเปรียบเทียบกับสงคราม  มันคือสงครามยืดเยื้อที่น่าเบื่อหน่ายไม่ใช่สงครามสายฟ้าแล็บ  ถ้าเปรียบกับการแข่งขันกีฬามันก็เป็นการแข่งวิ่งมาราธอนไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร  มันไม่ตื่นเต้นยกเว้นเฉพาะตอนได้ชัยชนะหรือถึงเส้นชัย  แต่ในระหว่างทางนั้นบางทีก็มีแต่อุปสรรค  หลายครั้งเราหมดหวัง  ความอดทนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรายังอยู่ในสนามหรืออยู่ในเกม    การ  “เอาตัวรอด” เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่ง  กลยุทธ์ส่วนใหญ่ที่เราใช้ก็เป็นไปตามนั้น  ไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้นในระหว่างทางที่ยาวไกล

    เรื่องราวของวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นดูมีสีสันและน่าตื่นเต้น  คนอาจจะคิดว่านี่คือสิ่งที่บอกว่าเกมการลงทุนเป็นเกมที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ  แต่นี่เกิดขึ้นเพราะเขารวยมากแล้วและดังระดับโลกเพราะผลงานที่สะสมมานานจนเป็นที่ประจักษ์   แต่ถ้าดูผลงานการลงทุนเฉพาะตัวหุ้นหรือผลงานของพอร์ตของเขาเราก็อาจจะได้เห็นอีกภาพหนึ่งว่าจริง ๆ  แล้ว  หุ้นที่เขาลงและผลงานของพอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้น  ไม่ได้หวือหวาอย่างเซียนในระดับเดียวกันเลย  หุ้นแต่ละตัวที่เขาลงทุนนั้นดูธรรมดามาก  เป็นหุ้นเก่า ๆ  ที่อยู่มานานมีคนซื้อขายกันจนไม่มีอะไรน่าสนใจแล้ว  ราคาหุ้นก็ไม่ได้หวือหวาอะไรเลยก่อนหน้านั้นรวมทั้งผลประกอบการของบริษัทเองก็เป็นแบบเดียวกัน   ตัวอย่างเช่นหุ้นโค๊ก หุ้นใบมีดโกนยิลเล็ต  หุ้นซอสมะเขือเทศไฮนน์ ที่เขาซื้อหลังจากที่บริษัทอยู่มาหลายสิบปีและกิจการก็โตมาจนน่าจะ  “อิ่มตัว”  แล้วในสายตาของคนทั่วไป  เป็นต้น

    หุ้นที่บัฟเฟตต์ซื้อเองนั้น  ก่อนที่เขาจะดังระเบิดอย่างในวันนี้  ราคาหุ้นก็มักจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นหวือหวา  และในเวลาต่อมามันก็ไม่เคยปรับตัวขึ้นรุนแรงกลายเป็นหุ้น “ขวัญใจ”  ที่ทุกคนหันมาเล่นกันและราคาขึ้นเป็นเท่า ๆ  หรือหลาย ๆ เท่าในเวลาอันสั้น  หุ้นที่เขาซื้อนั้นมักจะขึ้นไปเรื่อย ๆ  ช้า ๆ  แต่ไม่ค่อยลงเพราะมันเป็นกิจการที่เข้มแข็งมีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งอย่างยั่งยืน  ดังนั้น  กำไรมันมั่นคงแน่นอนซึ่งทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้ในเกือบทุกสถานการณ์  เวลาผ่านไปยิ่งนาน  ราคาก็ยิ่งขึ้นไป  พอถึงวันหนึ่งคนค่อยตระหนักว่ามันคือหุ้น “สุดยอด”  ที่ไม่เคยดังจริง ๆ  เลย  ไม่เคยขึ้นหวือหวาและคนกล่าวขวัญถึง  คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดจะซื้อในระหว่างทางเพราะมันดูนิ่ง ๆ  ไม่น่าสนใจไม่มีเรื่องราวโดดเด่น  นี่คือหุ้นน่าเบื่อแต่มันทำเงินในระยะยาว  “ที่เส้นชัย”

    พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้น  ดูน่าประทับใจมาก  แต่นี่เกิดขึ้นหลังจากเวลาผ่านมานานมากหลายสิบปี  ในระหว่างทางนั้นมันก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไรนัก  แต่ละปีมีหุ้นน้อยตัวในพอร์ตที่วิ่งขึ้นเป็น “กระทิงดุ”  ดังนั้นมันจึงไม่มีข่าวอะไรที่มีสีสันเหมือนกับเซียนคนอื่น ๆ  หลายคน  ผลงานการลงทุนของพอร์ตของบัฟเฟตต์ที่น่าสนใจแต่ไม่น่าตื่นเต้นก็คือ  เขาไม่ค่อยจะขาดทุนเลยไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร  ประมาณ 60 ปีที่ผ่านมาพอร์ตของเขาน่าจะขาดทุนไม่เกิน 6 ครั้ง  เช่นเดียวกัน  การเติบโตของพอร์ตของเขาปีต่อปีก็สูงแต่ไม่น่าตื่นเต้นที่ประมาณ 20% บวกลบ แต่แทบจะไม่มีเลยที่พอร์ตจะกำไรเกิน 50% ต่อปี

    เวลาจะซื้อหุ้นหรือเทคโอเวอร์บริษัทเองนั้น  สำหรับบัฟเฟตต์เองก็ดูเหมือนว่ามันไม่ได้ดูตื่นเต้นอะไร  เขานั่งทำงานอยู่ในออฟฟิสตั้งแต่เช้ายันเย็นเป็นส่วนใหญ่  ใช้เวลากับการอ่านเป็นหลัก  เขาไม่เคยดิ้นรนวิ่งไปหาผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการเพื่อหาข้อมูลลึกแนว  Inside หรือขอซื้อหุ้นหรือกิจการในราคาพิเศษ  เขา “รอ”  ไปเรื่อย ๆ  รอให้มีคนเสนอขายกิจการหรือรอให้หุ้นที่เขาสนใจมีราคาที่เหมาะสมแล้วก็ตัดสินใจลงมือทำ  เขาไม่เสนอตัวไปแข่งกับใครหรือพยายามเข้าไปคุยหาดีลกับบริษัท  ดังนั้นเขาจึงค่อนข้างจะมีเวลาว่างมากกว่าทรัพย์สินหรือสถานะของเขามาก  ชีวิตประจำวันของเขานั้น  แม้ว่าส่วนตัวเขาเองจะคิดว่าไม่เป็นชีวิตที่น่าเบื่อเพราะเขาบอกว่าเขารักงานของเขาและมีความสุขทุกวันที่ไปทำงาน  แต่มองจากภายนอกแล้ว  เราคงรู้สึกว่า  “น่าเบื่อ”  เพราะวัน ๆ  ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้ทำอะไรนัก

    ประสบการณ์ของผมจากการศึกษานักลงทุนที่เป็นหรือเคยเป็น “เซียน”  ทั้งในระดับโลกและในตลาดหุ้นไทยผมคิดว่ามีบทเรียนที่น่าสนใจก็คือ  นักลงทุนส่วนใหญ่และคนในแวดวงตลาดหุ้นต่างก็ชอบลงทุนหรือเล่นหุ้นที่น่าตื่นเต้น  เป็นหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ๆ  ทั้งในเรื่องของพื้นฐานของกิจการและราคาหุ้น  พวกเขาจะเชียร์กันสนั่นเมื่อมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์หรือมีคุณสมบัติดังกล่าว  และก็จะเข้ามาซื้อขายหุ้นหรือลงทุนอย่างหนัก  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  “ขาใหญ่” ที่เข้าไปโหมซื้อจนมีสถานะเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่”  เมื่อมีการประกาศในข้อมูลของบริษัทเขาก็จะได้รับการสรรเสริญชื่นชมว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นได้ดีเด่นและ “ทำกำไร”  เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปแรง  จากนั้นก็อาจจะมีคนซื้อตามและส่งเสริมให้หุ้นได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น  คนจำนวนมากที่เข้าไปซื้อก่อนหน้านั้นได้กำไรและก็รู้สึกถึงความตื่นเต้นและพึงพอใจ   เวลาต่อมาหุ้นตัวนั้นก็อาจจะตกลงมาแรงเมื่อผลประกอบการอาจจะไม่ดีตามที่คาด  หรือบางทีก็อาจจะดีแต่ราคาหุ้นแพงเกินพื้นฐานไปมากทำให้นักลงทุนบางส่วนรวมถึงรายใหญ่อาจจะขายหุ้นทิ้งทำให้ราคาลดลงมามาก  คนจำนวนมากที่เข้าไปทีหลังขาดทุนอย่างหนัก  บางครั้งนักลงทุนรายใหญ่ก็ขาดทุนเช่นกันหาก “ปล่อยของ” ไม่ทัน   โดยรวมแล้วคนที่กำไรและคนที่ขาดทุนอาจจะพอ ๆ  กันหรือแตกต่างกันก็ได้แต่คนที่ขาดทุนมักไม่พูดแต่คนที่กำไรพูดไปแล้วทั้ง ๆ  ที่ต่อมาอาจจะขาดทุนทีหลัง

    ผมเองเห็นคนที่ทำผลงานเป็นกรณี ๆ  หรือหุ้นเป็นตัว ๆ  ได้น่าประทับใจอยู่พอสมควร  ซึ่งก็เกิดความรู้สึกว่ากำไรของพอร์ตโดยรวมน่าจะดีมาก—ทุกปี  อย่างไรก็ตาม  เวลาผ่านไปหลาย ๆ  ปี  ผมเองก็ไม่ได้เห็นว่าเขาเหล่านั้นมีผลการลงทุนแบบทบต้นที่โดดเด่นมาก ๆ  อย่างที่คิด  แน่นอนว่าคนที่ลงทุนหรือแม้แต่เก็งกำไรแบบ Aggressive ในช่วง  “ยุคทอง”  ที่ผ่านมาต่างก็รวยในระดับหนึ่งทั้งนั้น  แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาก็ไม่ได้ทำได้เหนือกว่านักลงทุนที่ “ลงทุนเต็มร้อย”  แบบ  “น่าเบื่อ”  เช่นเดียวกัน  ดังนั้น  ผมจึงสรุปโดยอาศัยประสบการณ์การอ่านจากต่างประเทศว่า  การลงทุนแบบที่รู้สึกว่า “น่าเบื่อ”  นั้น  ดีกว่าการลงทุนที่รู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลา

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
--------------------

วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แนวทางการลงทุนแต่ละคนไม่เหมือนกัน?

Irwin Duran นักลงทุนท้องถิ่นไม่มีชื่อเสียง แต่เป็นนักลงทุนพันธ์แท้ใช้ชิวิตแบบสมถะ บริจาคเงินแบบเงียบๆ ให้แก่บ้านเกิด เมื่อง Leesburg, Virginia มากกว่า USD30 Million  เขามีเงินมากกว่า 17,000 ล้านบาท แต่ไม่เป็นที่รู้จักแม้แต่คนในเมืองนั้น ความรำ่รวยของเขามาจากการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก (หุ้นเติบโตที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนัก) และทำกำไรมหาศาลเมื่อบริษัทที่ลงทุนกลายเป็นหุ้นขนาดกลาง (จงให้ความสำคัญแก่ Market Cap เมื่อลงทุนระยะปานกลางและยาว)   กลยุทธในการลงทุน

1. ลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก แต่ละหุ้นถือไม่น้อยกว่า 3-5 ปี ขายเมื่อบริษัทเติบโตถึงจุดหนึ่งที่ผ่านช่วงขาขึ้นมาแล้ว  2. ลงทุนเฉพาะบริษัทที่เขารู้จักและเข้าธุรกิจเป็นอย่างดี แต่ละตัวลงทุนด้วยปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้จะต้องเข้าใจบริษัทที่ลงทุนอย่างลึกซึ้ง 3. ลงทุนแบบไม่สนใจภาวะตลาด ไม่เก็งว่าตลาดจะขึ้นหรือลง สนใจเฉพาะปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่ลงทุน เมื่อราคาหุ้นตกลงโดยไม่มีเหตุผลจะถือเป็นโอกาสให้ลงทุน 4. เมื่อลงทุนผิดพลาด พื้นฐานเปลี่ยน จะขายทิ้งทันที ส่วนหุ้นที่ลงทุนไปแล้วผลการดำเนินงานดีขึ้นเรื่อยๆ ตามคาดจะถูกเก็บไว้ยาวนาน หลายตัวกำไรเป็นสิบเท่าก็ยังไม่ขาย (หุ้นเติบโตที่ดีมักเริ่มต้นจากฐานกำไรที่ต่ำ กำไรค่อยๆ ขยับขึ้นตามแหล่งที่มาของกำไรที่ขยายฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนแบ่งตลาดค่อยๆเพิ่ม ขณะที่ค่าใช้จ่ายคงที่ หรือลดลง)  5.ให้ความสำคัญต่อการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน การผึกฝน และ ประสบการณ์ในการลงทุนมีความสำคัญ โดยที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องฉลาด หรือ เก่งคำนวณ แต่จำเป็นต้องเข้าใจธุรกิจ และ มองแนวโน้มของการเติบโตในระยะยาวว่ากำไรส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้จากธุรกิจส่วนไหน

นักลงทุนปกติจะกลัวมาก กับ สภาพตลาดหุ้น 2 ลักษณะ:- 1. กลัวว่าดัชนีจะตกต่ำลง และ หุ้นที่เข้าไปลงทุนจะตกตามไปด้วย  ถ้าพอมีกำไรก็รีบชิงขาย กะว่าเมื่อขายไปแล้วจะกลับมาช้อนกลับ  ถ้าเราได้ยินนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นจะตกต่ำลง โอกาสตกจริงๆจะมีเพียง 50% ทำนองเดียวกันถ้าคาดการณ์ว่าจะวิ่งขึ้นไป 200 จุดในปีนี้ โอกาสที่มันจะขึ้นไปอย่างนั้นจริงๆคงมีน้อยกว่า 50% สรุป กลยุทธของเราคือ เราไม่ได้ซื้อดัชนี เราซื้อตัวหุ้น  ถ้าตลาดตกจะเป็นผลดีที่จะซื้อหุ้นที่อยู่ใน Watch List ของเราในราคาถูกลง

2. เราจะกลัวหุ้นที่มีราคาสูง ส่วนใหญ่คิดว่าหุ้นคงเหมือนกับต้นไม้ คือ ถ้าสูงแล้วจะสูงไปอีกไม่ได้มาก  ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิทยาโดยแท้ ในความเป็นจริงราคาหุ้นจะขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว เมื่อเราสามารถซื้อไม้แรกได้ในราคาต่ำแล้ว  ทำไมเราจะขายออกและหวังช้อนกลับ ในเมื่อความจริงทุกครั้งเราจะซื้อกลับน้อยลงเรื่อยๆ    หุ้นเติบโตที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนัก มักจะมีกำไรที่เติบโตไม่มากในช่วงแรก มันจะเร่งทะยานเมื่อถึงจุดหนึ่ง ที่กำไรจะโตแบบก้าวกระโดด ตามแหล่งที่มาของรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากธุรกิจเดิม และ ธุรกิจใหม่ (ให้ความสำคัญต่อ Demand Trend ของแหล่งธุรกิจ)

Cr:line


ภาพคลิปไม่เกี่ยวกะเนื้อเรื่อง..เด็กทาแป้งเองคับ5555


วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เอาหุ้นเข้าตลาดเพื่ออะไร??

16 สิงหาคม 2560 / 18.04 น.

ในทางทฤษฎี การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นนับเป็นช่องทางในการระดมทุนทางหนึ เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ต้องการเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ หากจะรอเงินจากการดำเนินงาน ก็อาจไม่ทัน การกู้เงิน โดยทั่วไปธนาคารก็จะดูงบ และมันจะมีจุดที่ธนาคารจะไม่ยอมปล่อยกู้ให้อีกแล้ว

ดังนั้น การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจได้เงินไปใช้ในการขยายกิจการต่อไปแต่การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท จะต้องเสียสัดส่วนการถือหุ้นไป เช่น จากเดิมที่ถืออยู่ 100% ก็ลดสัดส่วนลงเหลือเท่าไหร่ก็ว่ากันไป แล้วแต่ว่าจะออกหุ้นเพิ่มทุนเท่าไหร่ หลายธุรกิจที่เป็นธุรกิจครอบครัวจึงไม่มีความคิดที่เอาเข้าจดทะเบียนในตลาด ไม่ว่าจะเป็นห้างเซนทรัล (ที่เป็นส่วนรีเทล หรือ CRC) หรืออย่างห้างเดอะมอลล์ แม้ว่าทางการจะอยากให้เอาเข้าตลาด และมีคนเชิญชวนหลายต่อหลายครั้ง
แต่ธุรกิจที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ของตระกูลของเขา ใครกัน อยากจะให้คนอื่นมาร่วมเป็นเจ้าของ และยิ่งหากธุรกิจไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ยิ่งเลิกคิดไปได้เลยที่จะเอามาเข้าตลาด

ธุรกิจบางแห่ง ไม่ได้คิดจะเอาเข้าตลาด แต่ก็ทนลูกตื๊อของที่ปรึกษาการเงินที่ไปชักชวนไม่ไหว ยกตัวอย่างเช่น ร้านสุกี้ ที่ไม่ได้อยากจะเอาเข้าเลย แต่ว่าทนลูกตื๊อไม่ไหว
หากเราเจอธุรกิจที่เจ้าของไม่ได้อยากจะทิ้งบริษัทของตัวเอง แต่ต้องการเงินไปขยายธุรกิจจริงๆ จนทำให้ต้องเอามาเข้าตลาด ธุรกิจเหล่านี้เราจะเห็นได้เลยว่า เจ้าของจะกอดหุ้นไว้อย่างแน่น คือหลังจากออกหุ้นเพิ่มเพื่อขาย IPO แล้ว เจ้าของจะไม่ขายหุ้นออกมาเลย แต่เขาจะดำรงสัดส่วนการถือหุ้นเอาไว้อย่างนั้น เพื่อให้ตัวเองยังคงอำนาจในการบริหารเอาไว้

บางบริษัทเอาเข้าตลาดมาไม่กี่ปีก็ตัดสินใจเอาออกจากตลาดไปเลยก็มี นักลงทุนที่ซื้อหุ้นบริษัทเหล่านี้ อย่างน้อยก็มั่นใจ สบายใจได้ว่าเจ้าของเดิมแม้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไป แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาบริหารงานต่อไป เพราะเขายังรักธุรกิจของเขา แต่จำเป็นต้องเอามาเข้าตลาดหุ้นอาจเพียงเพราะต้องการเงินเพื่อทำตามฝันของตัวเองให้สำเร็จในการขยายกิจการ แต่ก็มีบริษัทอีกบางประเภท ที่ใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นเครื่องมือในการ "สร้างกำไร" จากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนจึงเป็นทางในการ exit ออกจากธุรกิจ

ธุรกิจที่เกิดใหม่บางแห่ง เป็นธุรกิจที่เกาะกระแส และผู้ก่อตั้งอาจมองออกตั้งแต่แรกแล้วว่า ธุรกิจที่ทำอยู่ มันจะบูมแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในอนาคตยาวไกลออกไป อาจจะไม่เป็นเหมือนช่วงแรกๆ การอาศัยช่องทางในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นทางที่จะทำให้เขา exit ออกจากธุรกิจได้ ไม่เพียงแต่เจ้าของเท่านั้นที่อยากออก ธุรกิจบางประเภท เริ่มต้นจากเงินเพียงไม่มาก แต่เนื่องจากพอจะมีอนาคต เลยทำให้มีคนอยากเข้ามาร่วมลงทุนในรูปของ "เงินร่วมลงทุน" หรือ venture capital

venture capital ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของกองทุน venture fund หรือว่าจะเป็นเงินส่วนตัว (เราเรียกบุคคลที่สนับสนุนเงินส่วนตัวให้ในรูปแบบ venture capital ว่า angels หรือว่านางฟ้า) เขาไม่ได้คิดจะลงเงินในระยะเวลานาน เมื่อเขาเอาเงินเข้ามา จะต้องมีทางออกให้กับเงินที่เป็น venture capital เหล่านี้ และทางออกของนักลงทุนกลุ่มนี้ ก็คือ การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ผู้ร่วมลงทุนบางคนจะมีข้อกำหนดไว้เลยว่า จะต้องมีการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลากี่ปี ดังนั้น เราจะเห็นได้เลยว่า หลายครั้งที่มีการขายหุ้น IPO จะมีการเอาหุ้นของกองทุนบางแห่งออกมาขายร่วมด้วย หรือว่ามีการโยน big lot จากกองทุนบางแห่งในวันแรกที่ราคา IPO ส่วนใหญ่จะเดาได้ล่วงหน้าเลยว่า กองทุนเหล่านี้เป็นพวก venture capital fund
ในระยะหลัง เราเห็นหลายบริษัทที่มีเงินร่วมลงทุนในรูปแบบ venture capital แล้วทำการขายหุ้นออกในวันแรก ซึ่งส่วนใหญ๋จะมีการแจ้งเอาไว้ในหนังสือชี้ชวนอยู่แล้ว venture capital ไม่ใช่อะไรที่น่ากลัว เพราะถ้าไม่มีเงินทุนเหล่านี้ ธุรกิจก็ไม่มีวันดำเนินมาถึงวันนี้ได้ การขายของเงินลงทุนพวกนี้ ไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนจะต้องกลัวสักเท่าไหร่ เพราะเมื่อเทียบราคา IPO กับราคาต้นทุน (ซึ่งมักเป็นราคาพาร์) ก็ได้กำไรมากมายแล้ว และเขามักจะขายหมดในคราวเดียว เมื่อขายเสร็จ ก็เอาเงินไปให้กับธุรกิจใหม่ต่อไป แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ "การขายออกของผู้ถือหุ้นเดิม" อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า เจ้าของธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ และรักกิจการของตัวเอง ไม่มีใครอยากลดสัดส่วนการถือหุ้นลง ลำพังแค่เอาหุ้นเข้าตลาดแล้วสัดส่วนการถือหุ้นต้องเหลือ 70% พวกนี้ก็แทบจะร้องไห้แล้ว แต่เจ้าของเดิมบางรายที่หวังอาศัยตลาดหุ้นเป็นช่องทางในการชิ่งหนีจากธุรกิจก็มีไม่น้อย

ลองสังเกตดูได้เลย บางบริษัทเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน แต่ก็เอาหุ้นของตัวเองออกมาขายร่วมด้วย บางบริษัทแม้ไม่ขายหุ้นของเจ้าของออกมาตั้งแต่แรก แต่ก็จะมีการขาย big lot โดยอ้างว่า เป็นการขายให้นักลงทุนสถาบันที่อยากถือหุ้น และเป็นการกระจายหุ้นเพื่อให้หุ้นมีสภาพคล่องมากขึ้น บางรายขายแล้ว ก็ขายอีก ขายเรื่อยๆ นักลงทุนที่ไม่ได้ติดตามข่าว มาดูอีกที อ้าว เจ้าของเดิมเหลือหุ้นอยู่แค่นี้เองเรอะ? แบบนี้สิ น่ากลัว เราต้องระมัดระวังธุรกิจประเภทนี้เอาไว้ให้มาก เพราะเจ้าของธุรกิจที่ดี ไม่มีใครคิดจะทิ้งบริษัทที่ตัวเองสร้างขึ้นมากับมือ แต่ก็มีบางครั้งที่การขายของเจ้าของเดิมก็เป็นเรื่องที่พอจะสมเหตุสมผล เราจะเห็นว่าธุรกิจบางแห่ง เพิ่งเปิดกิจการมาได้ไม่นาน เจ้าของทั้งใส่เงินของตัวเองลงไป ไหนจะกู้เงินอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย เมื่อขาย IPO เอาหุ้นเข้าตลาด ก็อาศัยจังหวะนี้เป็นการ ถอนทุนและกำไรที่ตัวเองต้องการออก ส่วนที่เหลืออยู่นับว่าเป็นกำไร ถ้าธุรกิจมันจะเจ๊งในวันข้างหน้า ตัวเองก็ไม่ได้ขาดทุนอะไรอยู่แล้ว

การขายหุ้นออกของเจ้าของ นักลงทุนจึงควรให้ความสนใจเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่หุ้นเอาเข้าตลาด หรือทำ IPO แล้ว ถ้าของมันดีจริง ใครจะอยากให้คนอื่นมาเป็นเจ้าของร่วมกันมากมาย ไม่ต้องคิดอะไรมาก และถ้าเป็นไปได้ก็ควรติดตามการขายหุ้นออกของเจ้าของเดิมไว้ด้วย เพราะการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง อาจตีความได้ว่า "เจ้าของเดิม ไม่เหลือใจในการทำธุรกิจแล้ว" แล้วธุรกิจที่แม้แต่เจ้าของเดิมยังไม่อยากได้ เราจะยังอยากถือหุ้นหรือหุ้นเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะจบด้วยการเป็นหุ้น "เบี้ยหัวแตก" คือไม่มีใครถือหุ้นใหญ่เลย มีแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเต็มไปหมดจริงๆ แล้ว การพิจารณาหุ้น IPO แต่ละตัวจึงต้องมองลึกลงไปถึง "เจตนา" ว่าลึกๆแล้ว เจ้าของต้องการเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน "เพื่ออะไร?"

การอ่านหนังสือชี้ชวนเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ตัดสินได้ว่า เจตนาของการทำ IPO คืออะไร ต้องอาศัยการสืบค้น หาข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวทางการ ข่าว gossip ซุบซิบดูเบื้องหลังของผู้บริหารว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกทางที่ช่วยในการตัดสินใจได้ และยิ่งถ้าไปเจอบริษัทที่เข้าตลาดมาด้วยการทำ backdoor listing อย่างพวกบริษัทที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างมาก

การ backdoor ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เข้ามาใหม่จะมีต้นทุนที่ต่ำมาก ทั้งในคราวแรกที่มีการ swap หุ้น แล้วอาจจะมีการขาย pp ราคาถูกๆให้กลุ่มก้อนของตัวเองหลังจากนั้นอีก ถ้าเป็นการ backdoor โดยการหวังเอาบริษัทของตัวเองเข้ามาจดทะเบียน ก็ยังดีตรงที่ว่า อย่างน้อยบริษัทก็ยังน่าจะประกอบธุรกิจไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ที่บริษัทมีปัญหา นักลงทุนต้องไม่ลืมระลึกไว้เสมอว่า ต้นทุนเขาต่ำมาก หรืออาจจะมีการดึงต้นทุนออกไปหมดแล้ว ถ้าจะเจ๊ง คนที่เจ๊งน่ะ คือเรา ไม่ใช่เขาแต่มันจะมีพวก backdoor หรือการเข้าลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ที่ผู้เข้าลงทุน ไม่ได้ต้องการจะทำธุรกิจ แต่เห็นว่า บริษัทเป้าหมายที่มีปัญหาอยู่นั้น มี "ทรัพย์สิน" ที่น่าสนใจ
จุดมุ่งหมายของการเข้าซื้อบริษัทเหล่านี้ มักจะเป็นการเข้าซื้อเพื่อหวังถ่ายโอนเอาทรัพย์สินออกไป ไม่ได้มุ่งหวังเข้ามาประกอบธุรกิจใดๆทั้งสิ้น เราจึงมักเห็นการอนุมัติใช้เงินของบริษัทไปในโครงการต่างๆที่ดูแล้ว ไม่สมเหตุสมผล หรือท้ายที่สุด ก็จะมีขบวนการในการดึงเอาทรัพย์สินที่เป็นเป้าหมายออกไปเป็นของตนเอง อาจจะผ่านการฟ้องร้อง หรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนใหญ๋จะเป็น "ที่ดิน" พอกลุ่มก้อนของตนเองสูบเลือดสูบเนื้อจากบริษัทออกไปหมดแล้ว ก็สมประสงค์ ต่อให้หุ้นถูกขึ้น SP หรือจะต้องล้มละลาย ก็ไม่เสียหายอะไรมาก นั่นเพราะทรัพย์สินที่ผ่องถ่ายออกไปนั้นมันคุ้มค่าเกินกว่ามูลค่าของหุ้นที่ต้องสูญไปแล้วอะไรล่ะ ที่จะเหลือไปถึงมือผู้ถือหุ้นรายอื่น??

คำตอบคือ ไม่เหลืออะไรเลย ดังนั้น การเข้าลงทุนในหุ้นสักตัวหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่เราควรต้องให้ความสำคัญเอาไว้เสมอก็คือ นิสัยของ "เจ้าของ" และพยายามมองลึกลงไปถึง "เจตนา" ของเขาให้ออก ว่าเขาต้องการทำธุรกิจ หรือว่าต้องการกอบโกย ดูให้ออกว่า เขายังรักบริษัทอยู่ หรือเขาคิดจะ "ทิ้ง" บริษัทไปแล้ว
Cr. Wattana Stock Page

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView