แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หลักการสื่อสารการตลาด แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หลักการสื่อสารการตลาด แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ภาพพจน์หรือภาพลวงตา

นิทานการตลาด ตอนที่ 14




มาถึงวันนี้...คงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า มีิสินค้ามากมายในตลาดประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร ที่มักจะถ่ายภาพสินค้าที่สวยงามเกินจริง ชนิดคนละฟ้า-คนละเหว กันเลยทีเดียว ดูภาพอาหารจากสื่อต่างๆ บางทีทำเอาเราเห็นภาพต้องกลืนน้ำลายกันเลยทีเดียว แต่พอวันไหนตัดสินใจไปสั่งซื้ออาหารนั้นๆ มากินเข้าจริงๆ กลัีบผิดหวังอย่างสิ้นเชิง ราวกับสินค้าเป็นคนละชนิดกันไปเลยทีเดียว ซึ่งก็คงไม่ต้องเอ่ยนามกันนะครับว่า สินค้าที่กล่าวมานั้น เราเคยเห็นจากค่ายฟาสฟู๊ดใดกันบ้าง

ไม่ใช่แค่สินค้ากลุ่มอาหารฟ้าสฟู๊ดที่นิยมถ่ายภาพสินค้าที่สวยงามเกินจริงชนิดฟ้ากับเหว ในวงการตลาดเมืองไทยสามารถถ่ายทอดการลวงโลกผ่านทางสื่อต่างๆ มากมายไปหมด เช่น การพูดถึงคุณสมบัติของสินค้าที่ดีเกินจริง การพูดถึงวิธีการบริการที่เป็นเลิศแบบลวงโลก ตลอดจนการรับประกันความพอใจที่ไม่อาจคืนสินค้าได้จริงถ้าหากไม่พอใจ

หลายคนคงเคยเห็นแม่ค้าผลไม้ตามตลาดสดต่างๆ ที่ชอบเขียนราคาผลไม้ด้วยตัวเลขขนาดใหญ่ว่า 50 บาท แต่กลับมาตัวหนังสือเล็กมากที่หากไม่สังเกตุก็มองไม่เห็น ด้วยคำว่า (ครึ่งโล) ซึ่งผมเคยหน้าแตกยับมาแล้ว ที่เคยสั่งซื้อคราวเดียว 5 โล แล้วเตรียมเงินยื่นให้เขาไป 300 บาท ด้วยคาดหวังว่าเขาจะทอนเงินคืนมาให้ 50 บาท แต่แม่ค้ากลับบอกว่า..ยังขาดอีก 200 บาทซะงั้น ไอ้จะโวยก็อายร้านอื่นๆ ในระแวกนั้น ก็ต้องไว้หน้าตัวเองด้วยการดึงเงินออกจากกระเป๋าเพิ่มอีก 200 บาท เพราะสายตาเริ่มคมชัดขึ้น หันไปเห็นตัวหนังสือเล็กๆ ในวงเล็บว่า (ครึ่งโล) ... คนพวกนี้น่าจะไปไปติดคุกสัก 1 เดือนฐานลวงตาลูกค้า

หลังจากที่ผมสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น "นักการตลาดเต็มตัว" ผมก็เริ่มจะไม่แน่ใจตัวเองว่า เรากำลังกลายเป็นนักลวงโลกไปด้วยอีกคนหนึ่งหรือเปล่า ขณะที่ภารกิจของผมเริ่มจะขยับตัวในตำแหน่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมกลับต้องเผชิญกับภารกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับภาพพจน์ที่ดีขององค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งบางทีเราก็รู้ตัวเองดีกว่า สิ่งที่เรากำลังรับผิดชอบอยู่นั้น ความจริงมันเป็นยังไงกันแน่ แต่ที่แน่ๆ เราสามารถพูดถึงตัวเองในเพียงบางส่วนเท่านั้น จนทำให้ผู้คนที่รับทราบข้อมูลเพียงบางส่วนของเรา เข้าใจผิดในความเป็นตัวเราไปกันคนละด้านเลยก็มี

การสนองตอบความพึงพอใจสูงสุดของผู้บริโภค มันจึงมีเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างมาก ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับคำว่า "ภาพพจน์ที่ดี" ขององค์กร ขณะที่ในอีกข้อมูลความจริงส่วนหนึ่ง เรากลับรู้สึกราวกับเป็น "ภาพลวงตา" ก็ไม่ปาน ซึ่งเหตุปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ผมสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า "นักการตลาดไม่ต่างจากนักมายากล" ที่สามารถแสดงให้คนชมเข้าใจแตกต่างไปจากความจริงได้คนละด้านเลยทีเดียว


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


งานที่ยากที่สุดของนักการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 13




อันที่จริงแล้วนักการตลาด ถือเป็นตำแหน่งงานที่ไปเกี่ยวข้องกับภารกิจอื่นๆ เกือบทุกภารกิจในบริษัท และแม้แต่ภารกิจหลักในฝ่ายการตลาดเอง ก็ยังสามารถแยกงานย่อยๆ ออกเป็นแผนกต่างๆ อีกมากมาย แต่ถ้าหากจะพูดให้แคบเข้ามาหน่อย ภารกิจหลักๆ ก็จะเกี่ยวข้องกับ 4 ด้านใหญ่ๆ คือ 1.ด้านการบริหารผลิตภัณฑ์ 2.ด้านการบริหารราคา 3.ด้านการบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย 4.ด้านการบริหารการส่งเสริมการตลาด

ซึ่งหากจะเอาภารกิจหลักๆ มาเรียกลำดับความสำคัญ ก็จะมีผู้คนมากมาย ต่างออกมาถกเถียงกัน ว่าปัจจัยใดที่สำคัญมากที่สุด และที่แน่นอนก็คือ ใครรับผิดชอบภารกิจใด ก็มักจะคิดว่าภารกิจของตนสำคัญที่สุดไว้ก่อนเสมอๆ แต่สำหรับผมแล้ว ก็ไม่พยายามที่จะเข้าข้างหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ผมคิดถึงงานที่ยากที่สุดที่อาจหมายรวมถึง ของทุกปัจจัยเลยก็คือ "การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค" เพราะจิตใจของมนุษย์ ยากแท้หยั่งถึง และนักการตลาดคนใดไม่เชี่ยวชาญในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค ก็มักจะไม่ประสบผลสำเร็จในงานทางด้านการตลาดเลยจริงๆ

ทุกวันนี้..เราจะเห็นสินค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาให้เราเลือกจับจา่ยใช้สอยเพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ เราจะเห็นห้างสรรพพสินค้าต่างๆ ล้วนพากันลด-แลก-แจก-แถม แข่งขันกันแย่งลูกค้าอย่างรุนแรง เราจะเห็นธุรกิจต่างๆ พากันเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และทุกชนิดก็เทงบประมาณที่จะส่งเสริมการตลาดให้กับธุรกิจของตนเพิ่มสูงขึ้นๆ ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้..คำตอบสุดท้ายอยู่้ที่ผู้บริโภคเท่านั้น ว่าเขาจะเกิดความพึงพอใจต่อสินค้าใดมากที่สุด และเขามีพฤติกรรมการตัดสินใจซื้ออย่างไร ทำไมเขาถึงซื้อสินค้านั้นๆ ไป

เคยมีบางบริษัทฯ คิดว่ตัวเองเก่งด้านการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างมาก แต่สุดท้าย เขาก็ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากเกินไป จนทำให้ผลิตภัณฑ์เด่นๆ ที่มีอยู่แล้วต้องล่มสลายไปในที่สุด เคยมีบางบริษัทฯ ห่ำหั่นฟาดฟัน แข่งขันกัน ด้วยกลยุทธ์ลด-แลก-แจก-แถม แบบสะบัดช่อ สุดท้ายชื่อเสียงของสินค้าหรือของบริษัทฯ ก็ต้องดับวูบลงไปด้วยดาบของตัวเอง เคยมีบางบริษัททุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อการส่งเสริมการตลาดแบบครบเครื่องตามสูตรทฤษฎี IMC แบบเต็มตัว สุดก็บริษัทก็ขาดทุนต้องปิดกิจการไปก็ไม่น้อย

ประสบการณ์ตรงที่ยาวนานกว่า 20 ปีเต็มที่ผม แม้จะยังดูน้อยกว่าเซียนการตลาดอีกมากมายในเมืองไทย แต่ผมก็สามารถยืนยันได้ว่า..ไม่มีงานใดของนักการตลาดที่ยากเกินไปว่า งานทางด้านการศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เอาไว้โอกาสหน้าผมจะแวะมาเล่าแนวทางการวิเคราะห์กันในวันหน้าอย่างละเอียดอีกครั้งนะครับ


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล

ภารกิจสำคัญของนักการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 12




ไม่ว่าโลกจะพัฒนาเจริญไปสู่ยุคไหนต่อยุคไหน แต่ปรัชญาทางการตลาดยุคแรกเริ่มที่เคยพูดถึงปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่สำคัญคือ 4'P ก็ยังคงเป็นภารกิจสำคัญของนักการตลาดตลอดมา เพราะในความเป็นจริงแล้ว นักการตลาดต้องมีความเชี่ยวชาญในการบริหารผลิตภัณฑ์ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารราคา มีความเชี่ยวชาญในการบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย และมีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานด้านส่งเสริมการตลาด นั่นเอง

ความเจริญทางการศึกษา และความรุนแรงทางการแข่งขันในแวดวงธุรกิจ ทำให้เกิดนักวิชาการมากมายเพิ่มขึ้นบนโลกใบนี้ พร้อมๆ กันนั้นก็เกิดนักการตลาดของแท้บ้าง ของเทียมบ้าง เพิ่มขึ้นมากมายไปหมด และแต่ละคนก็พยายามนำเสนอวิธีคิดเรื่องส่วนประสมทางการตลาด แตกแขนงออกไปมากมาย บางคนก็บอกว่าต้อง 5'P บางคนก็บอกว่าต้อง 7 หรือ 8'P บ้าง และบางคนก็พูดกันไปถึง 10'P กันเลยทีเดียว แต่ถ้าหากใครนำทฤษฎีใหม่ๆ เข้านั้นมาสรุปหลอมรวมสู่ต้นกำเนิดทฤษฎีทางการตลาด มันก็แค่พูดถึงปัจจัยหลัก 4'P นั่นเอง ไม่ได้หลุดกรอบไปไหน

ผมจึงเรียกกลุ่มคนที่กล่าวมาว่า..นักการเตลิด" เพราะชอบทำให้การตลาด ต้องเตลิดกันไปใหญ่โต นักการตลาดเก่งมากพอที่จะทำให้เรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากๆ ได้ พวกเขาสามารถพูดเรื่องที่พูดได้ง่ายๆ ฟังได้ง่ายๆ เข้าใจได้ง่ายๆ จนสามารถกลายเป็นเรื่องที่พูดยากจับใจ ฟังยากจนเวียนหัว และเข้าใจยากจนปวดหัวกันไปเลย

คำพูดหนึ่งของผู้นำระดับโลกที่ชื่อว่า "เติ้งเสี่ยวผิง" เคยพูดเอาไว้ว่า... "แมวจะสีอะไรไม่สำคัญ ของให้จับหนูได้ก็พอ" ถ้าหากนักการตลาดตระหนักถึงคำพูดของท่านเติ้งเสี่ยวผิง ก็ควรจะตระหนักต่อด้วยว่า นักการตลาดจะเก่งสักแค่ไหน จะเรียนมาสูงสักเพียงใด มันสำคัญตรงที่ว่า ทำให้ธุรกิจเพิ่มกำไรได้หรือไม่ หรือสามารถทำให้ธุรกิจฟันฝ่าอุปสรรคภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงได้หรือไม่ต่างหาก

การเปลี่ยนวิธีคิดแบบยุคเก่า ด้วยการคิดใหม่ แทนที่เราจะถามตัวเองว่าเราจะขายสินค้าอะไรดี แต่ให้หันไปคิดที่จะถามลูกค้าว่าลูกค้าต้องการสินค้าอะไร แทนที่เราจะถามตัวเองว่าเราจะตั้งราคาขายเท่าไหร่ดี ให้เปลี่ยนไปถามลูกค้าว่าราคาที่ลูกค้าพึงพอใจที่สุดของตรงไหน แทนที่เราจะถามตัวเองว่าเราจะจัดจำหน่ายสินค้าของเราผ่านทางช่องทางการจำหน่ายแบบไหนดี ก็ให้ถามลูกค้าว่า ลูกค้าสะดวกซื้อที่ใด และสุดท้ายแสนที่จะมานั่งคิดว่าจะโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขายกันยังไงดี ก็ให้หันมาศึกษาว่า ลูกค้าเขาชอบแนวทางการส่งเสริมทางการตลาดแบบใด ... ทฤษฎีพื้นฐานที่กล่าวมานี้ ยังคงมีมนต์ขลังค์ไปตราบนานเท่านาน ถ้าหากเรายังคิดว่าตัวเองยังต้องการที่จะเรียกตัวเองว่า "เป็นนักการตลาด" อยู่สืบไป


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


ค่านิยมที่ผิดใหญ่หลวงของนักการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 11




ในยุคที่ผมก้าวสู่วงการนักการตลาดใหม่ๆ ได้มีค่านิยมหนึ่งที่คนในแวดวงการตลาดชอบเอามาพูดกันก็คือ "นักการตลาดตัดสินใจพลาด 10 ครั้งดีกว่าไม่ได้ตัดสินใจอะไรเลย" ซึ่งแรกๆ ผมก็พอจะคล้อยตาม ด้วยนึกเอาว่า..การเป็นนักการตลาดนั้น จะต้องเป็นนักตัดสินใจ แต่ละวันก็ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการตลาดมากมายไปหมด และผมได้พลอยหลงประเ้ด็นไปกับค่านิยมนั้น ด้วยเชื่อว่า..แผนส่งเสริมการขายที่ตัวผมเองบริหารอยู่นั้น ถ้าจะตัดสินใจพลาดไปบ้าง ก็คงไม่เป็นไร เพราะใครๆ ก็บอกอยู่จนชินหูว่า นักการตลาดตัดสินใจพลาดสิบครั้งก็ไม่เป็นไรนั่นเอง

มาถึงวันนี้..ผมถือว่านั่นเป็นค่านิยมที่ผิดใหญ่หลวงมากที่สุดของการเป็นนักการตลาด เพราะในโลกของความเป็นจริง การเป็นนักการตลาดที่ดีนั้น ตัดสินใจพลาดไม่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะการตัดสินใจพลาดเพียง 1 ครั้ง ถือเป็นความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้เลยทีเดียว และประสบการณ์ตรงของผมก็เป็นสิ่งยืนยันได้ชัดเจนว่า กิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ผมรับผิดชอบอยู่ใน 7-ELEVEN นั้น แต่ละรายการต้องใช้เงินงบประมาณหลายล้านบาท ดังนั้น ถ้าผมตัดสินใจพลาดเพียงครั้งเดียวก็หมายถึงบริษัทจะเกิดความเสียหายมากมายมหาศาล

ผมเพิ่งได้สัมผัสและเข้าใจถ่องแท้ว่า วิชาการตลาดนั้น แม้ว่าจะเรียนไม่ยากนัก เพราะล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แต่เมื่อได้ลงมือทำงานทางด้านการตลาดจริงๆ กลับกลายเป็นว่า ภารกิจในด้านการตลาดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ เพราะมันเกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์โดยตรง ที่จะยอมรับ หรือไม่ยอมรับ กิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เราได้วางแผนออกไป ความยากของการเป็นนักการตลาดนั้น บางทีก็ยากเกินกว่าจะอธิบายได้ละเอียด เอาเป็นว่าผมจะหาโอกาส เล่าให้ฟังในโอกาสหน้าว่า ภารกิจที่ท้าทายความสามารถอย่างมากของนักการตลาดนั้น มีขั้นตอนอะไรกันบ้าง


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


ผลงานการตลาดชิ้นโบว์แดง

นิทานการตลาด ตอนที่ 10




ในปี 2537 ถือเป็นช่วงจังหวะที่ 7-ELEVEN มีการขยายตัวเร็วขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อยอดขายเฉลี่ยที่เริ่มลดลงไปบ้าง จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายส่งเสริมการขายได้มีบทบาทมากขึ้น ที่จะช่วยผลักดันยอดขายให้กับบริษัท ในปี 2537 นี้เองที่ผมได้นำเสนอฝ่ายบริหารทุกระดับใน 7-ELEVEN ให้จัดรายการส่งเสริมกาขายที่ทำให้มีคนพูดกันไปทั้งเมือง แถมยังเป็นที่พูดถึงไปยังประเทศต่างๆ ที่มีร้าน 7-ELEVEN อีกหลายประเทศ ซึ่งรายการส่งเสริมการขายที่ว่าก็คือ "ตั๋วรถเมล์มีค่าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น"

ผลงานครั้งนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นแรกสุดที่ผมเป็นผู้ผลักดันอย่างเต็มความสามารถ ในฐานะที่ผมรับผิดชอบงานในตำแหน่งผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายนั่นเอง นอกจากผมจะต้องศึกษา SWOT Analysis ของธุรกิจ 7-ELEVEN ที่มีจุดเด่นคือ มีสาขามากมาย ตั้งอยู่ใกล้กับป้ายรถเมล์ทั่วกรุงเทพมหานครแล้ว ผมยังต้องศึกษาถึงพฤติกรรมการเดินทางของคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการขอเข้าพบฝ่ายบริหาร ขสมก. ในยุค และยังต้องศึกษาถึงจุดคุ้มทุนของการส่งเสริมการขายในครั้งนี้ ด้วยเครื่องมือที่จะให้ตั๋วรถเมล์มีค่าแทนเงิน สามารถมาซื้อสินค้าในร้าน 7-ELEVEN ได้ ว่าจะต้องกำหนดเงื่อนไขอย่างไร จึงจะจูงใจลูกค้าได้ดี และไม่ทำให้บริษัทสูญเสียกำไร

ผมใช้เวลาศึกษายาวนานถึง 5 เดือนเต็ม จนในที่สุดก็ได้แจ้งเกิดรายการส่งเสริมการขายชิ้นโบว์แดงสำหรับชีวิตผม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 ด้วยเงื่อนไขว่า ตั๋วรถเมล์ที่ใช้แล้ว มีค่าใบละ 1 บาท สามารถนำมาซื้อฟาสฟู๊ดทุกชนิดในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้ โดยสิ้นค้าแต่ละชิ้นสามารถใช้ตั๋วรถเมล์ได้ไม่เกิน 4 ใบ และเมื่อได้เปิดตัวรายการส่งเสริมการขายอย่างเป็นทางการ ก็มีเสียงชื่นชม ฮือฮา และพูดกันไปทั้งเมือง ลูกค้าทุกคนพึงพอใจรายการนี้มากๆ บุคคลากรในเซเว่นอีเลฟเว่นทุกคนก็พึงพอใจ ที่รายการตั๋วรถเมล์มีค่าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ได้ปลุกให้ลูกค้าทั่วกรุงเทพฯ เกิดการตื่นตัว วิ่งเก็บตั๋วรถเมล์ที่ถูกทิ้งเกลื่อนกราดไปทั่วทุกป้ายรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาซื้อฟาสฟู๊ดในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นกันอย่างสนุนสนาน

นับจากที่ได้เปิดตัวรายการส่งเสริมการขายชิ้นโบว์แดงไปในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน - 31 ธันวาคม 2537 ได้ผ่านพ้นไป ทำให้ฝ่ายบริหารได้อนุมัติขยายโครงการส่งเสริมการขายดังกล่าวไปอีกเป็นช่วงๆ ติดต่อกันหลายเดือน แต่มีการปรับตัวสินค้า และเพิ่มตัวสินค้าให้หลากหลายมากขึ้นๆ จำได้ว่ารายการดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้ติดต่อกันนานเกินกว่าครึ่งปี จนกระทั่งควันหลงตั๋วรถเมล์เริ่มจางหายไป ก็ได้ยุติรายการดังกล่าวไปในที่สุด

ปีนั้นผมเริ่มสนุกกับงานทางด้านการตลาดมากขึ้นๆ ผมเริ่มขยายความคิดด้วยการไปร่วมมือกับโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ทั้งหมดทุกแห่ง ให้ตั๋วหนังในเครือเมเจอร์มีค่าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยตั้งชื่อรายการว่า "รักตั๋วสุดหัวใจ" ตามเงื่อนไข ตั๋วหนังมีค่าอย่าทิ้ง สามารถนำกลับมาเป็นส่วนลดสำหรับซื้อฟาสฟู๊ดได้ทุกชนิดในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยได้รับส่วนลดใบละ 5 บาททันที ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกรายการส่งเสริมการขายหนึ่ง ที่ขยายวงกว้างของลูกค้า 7-ELEVEN ไปสู่ช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นๆ


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


กว่าจะได้เรียกตัวเองว่าเป็นนักการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 9




หลังจากที่ผมตัดสินใจลาออกจากบริษัทปูนซีเมนต์ ผมก็ได้โอากสกลับเข้าทำงานใน 7-ELEVEN อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักการตลาดได้อย่างเต็มตัวและสมภาคภูมิ อารมณ์ของผมในตอนนั้น ผมรู้สึกราวกับว่าตัวเองเป็นคนที่เคยมีของหวงล้ำค่าหล่นหายไป แล้วได้มันกลับคืนมาเลยทีเดียว การกลับมาในครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกรัก 7-ELEVEN จับใจ และบอกกับตัวเองว่าจะไปลาออกไปที่ไหนอีกแล้ว เพราะที่นี่คือ ครอบครัวที่อบอุ่น บุคคลากรทุกระดับมีความรัก ความกลมเกลียวกันมาก ราวมกับเป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกันเลยทีเดียว

ผมได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขาย ในปี 2536 และปีเดียวกันนั้นเองผมได้ถูกรับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัญฑิตย์ สอนวิชา หลักการสื่อสารการตลาด ให้กับนักศึกษาปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ แล้วค่อยๆ ขยายไปยังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ตลอดจนได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในภาควิชาการตลาด ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการประกาศตัวถึงการเป็นนักการตลาดของผมให้เป็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นั่นหมายความว่า..นับจากปี 2536 ที่ผมได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง มันได้ส่งผลให้ผมได้มีงานเสริมด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งภารกิจที่จะต้องเตรียมการสอนในฐานะอาจารย์ใหม่ ก็ได้เอื้อต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานตำแหน่งผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ผมเริ่มนึกย้อนไปเมื่อครั้งเข้าเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตว่า ... น่าจะมีใครสักคนในกรมอาชีวศึกษา หันมาให้ความสำคัญที่จะแก้ภาพลักษณ์ข้อที่ว่า "คนโง่เรียนการตลาด คนฉลาดเรียนบัญชี" ให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่มีใครอยากเรียนภาควิชาการตลาดกัน

ชีวิตนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยของผม ตลอดเวลา 4 ปีเต็ม นอกจากผมตั้งใจเรียนโดยไม่เคยขาดเรียนแม้แต่วันเดียวแล้ว ผมยังทำกิจกรรมมากมายกับทางมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ระดับชมรมต่างๆ จนถึงระดับสาขาวิชาการตลาด ระดับคณะบริหารธุรกิจ จนถึงงานในสโมสรนักศึกษา จนกระทั่งเพื่อนๆ เรียกผมว่า "มนุษย์กิจกรรม" ไปเลยทีเดียว และที่น่าประหลาดใจไม่น้อย ผมยิ่งทำกิจกรรมเยอะ ผมการเรียนของผมก็ยิ่งสูงขึ้นๆ เป็นลำดับ

หลังเรียนจบการศึกษาผมก็เริ่มงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งงานแรกสุดคือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการขายใน 7-ELEVEN ซึ่งเป็นภารกิจอันเป็นหัวใจสำคัญของสายงานการตลาดเลยทีเดียว เรียกได้ว่าคนที่เรียนจบสาขาการตลาดมาทุกคน คงไม่มีใครได้ใช้ความรู้ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างผมแน่ๆ ตำราทุกวิชาผมต้องขุดขึ้นมาประกอบการทำงานอย่างหนัก ราวกับผมถูกเรียนมาเพื่อตำแหน่งงานนี้โดยแท้ ด้วยปัจจัยแห่งโอกาสเหล่านี้ ทำให้ผมก้าวหน้าเร็วกว่าเพื่อนๆ ที่จบรุ่นเดียวกันมาในการก้าวสู่สังเวียนของคำว่า "นักการตลาด" นั่นเอง

ประกอบการได้รับโอกาสเข้าไปเป็นอาจารย์ในภาควิชาการตลาดของคณะบริหารธุรกิจ และคณะนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยภาครัฐและมหาวิทยาลัยภาคเอกชนหลายๆ แห่ง ก็ยิ่งเอื้อโอกาสต่อการที่ทำให้ผมสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น "นักการตลาด" ได้อย่างชัดถ้อยชัดคำมากยิ่งๆ ขึ้นทุกวันๆ





โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView