วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม

นิทานการตลาด ตอนที่ 27


กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Blue Ocean Strategy ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่ง ที่ถูกเขียนขึ้นโดยอาจารย์จากสถาบันทางด้านบริหารธุรกิจชื่อดังในฝรั่งเศส เมื่อหลายปีก่อน จนทำให้ใครๆ พูดกันไปทั่วเมือง แถมยังเอามาเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ของตัวเองกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งบางทีก็แค่เพื่อจะบอกใครเขาได้ว่า ธุรกิจของตัวเองก้าวสู่ความเจริญระดับสากลแล้ว เพราะได้เลือกใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีครามนั่นเอง

หัวใจสำคัญของกลยุทธ์น่านน้ำสีครามก็คือการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่เคยมีใครเข้าถึงมาก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันแบบดั้งเดิมโดยผู้ประกอบการต้องพยายามพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง หรือต้องสร้างความต้องการใหม่ๆ ซึ่งความสำคัญของกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม จะมุ่งเน้นที่การสร้างตลาดใหม่โดยไม่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดและมีคู่แข่งจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการล้มเหลวจากการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีธุรกิจเหมือนๆ กันตั้งแต่แรกนั่นเอง ซึ่งกลยุทธ์นี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่าลูกค้าในอุตสาหกรรมของตนเอง ณ เวลานั้นซื้อสินค้าหรือบริการด้วยเหตุผลหรืออารมณ์เป็นสำคัญ เช่น ซื้อเพราะสินค้านั้นราคาถูก หรือซื้อเพราะความโก้หรูตามสินค้ายี่ห้อดังระดับโลก และที่พิเศษขึ้นอีกหน่อยก็คือ ซื้อเพราะเห็นประโยชน์จากความคุ้มค่าของสินค้านั้นๆ เช่น การตัดสินใจใช้ไอเพดหรือไอโฟนเป็นต้น

กลยุทธ์นี้ อาจทำให้ท่านผู้อ่านนึกถึงกลยุทธ์ของไอโฟนและไอเพด ที่ถือเป็นเจ้าแห่งนวตกรรมใหม่ของโลก แต่ขอให้ทุกท่านตระหนักด้วยนะครับว่า ต่อให้ไอโฟน ไอเพดจะโด่งดังและนวตกรรมล้ำยุคมากสักแค่ไหน แต่ตอนนี้ก็มีข่ายสมาร์ทโฟนอื่นๆ ต่างวก็ผลิตรุ่นต่างๆ ออกมามากมาย ที่มีคุณสมบัติพอจะใช้งานได้ไม่แพ้กันเกินไปหลากหลายยี่ห้อ และบางยี่ห้อราคาแค่ 2 พันกว่าบาทก็สามารถใช้ฟังก์ชั่นดีๆ ทันสมัยตามกันได้ทันอยู่ตลอดเวลา และเหตุผลนี้ทฤษฎีบลูโอเชี่ยนที่แท้ัจริง สำหรับผมแล้วนั้นไม่มี และผมคิดว่ามันเป็นเพียงการตั้งชื่อกลยุทธ์ขึ้นมาใหม่ๆ สัก 1 ชื่อให้ใครๆ ได้พูดถึงกันก็แค่นั้นเอง

เหตุผลที่ผมเลือกเขียนถึงเรื่อง กลยุทธ์น่านน้ำสีครามในวันนี้ ความตั้งใจจริงไม่ใช่ว่าจะเขียนเพื่อการสนับสนุนแนวคิดนี้แต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้ามผมกลับรู้สึกว่า มันก็แค่เป็นแนวคิดธรรมดาๆ ที่นักวิชาการ 2 คนร่วมกันเขียนขึ้นในเชิงเปรียบเทียบกลยุทธ์ทางการตลาดกับน่านน้ำสีคราม เพื่อให้ดูแปลกแตกต่างไปอีกสักหน่อยก็แค่นั้น ซึ่งแรกๆ ที่เห็นหนังสือเล่มนี้วางขายในร้านหนังสือ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ยินดีจ่ายเงินซื้อมาเป็นเจ้าของเพราะรู้สึกชื่นชอบในชื่อของหนังสือ แต่เมื่อได้อ่านจบลง กลับรู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรพิเศษ หรือไม่มีอะไรแปลกแตกต่างไปจากวิชาการทางการตลาดที่มีอยู่เกลื่อนไปหมดในร้านหนังสือชื่อดังทั่วไทย

ด้วยเหตุผลที่ผมเคยกล่าวถึงไปบ้างแล้วในตอนก่อนๆ หน้านี้ ในประเด็นที่ว่านักวิชาการตลาดมากมาย และนักการตลาดมากมาย มักจะพยายามสรรหาถ้อยคำ หรือชื่อกลยุทธ์อะไรแปลกๆ ออกมาอยู่ตลอดเวลา จนทำให้วิถีในการวางกลยุทธ์การตลาดดูยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นๆ ทุกขณะ และที่น่าสงสารก็คือ หลายๆ กลยุทธ์กลับหักมุมกันเอง หรือหักล้างกันเอง จนไม่รู้ว่าจะเลือกทางไหนดี แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า ในโลกของการตลาด ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก เพราะกลยุทธ์ดีๆ ที่มีความโดดเด่นมากมายที่ล้มเหลว ส่วนกลยุทธ์ธรรมดามากมายที่ประสบความสำเร็จและชนะใจลูกค้าเป้าหมายได้

ผมออกจะประเมินตัวเองว่าเป็นคนแปลกไปสักหน่อย ที่ชอบถากถางทฤษฏีทางการตลาดใหม่ๆ ของใครต่อใครอยู่บ่อยๆ แถมบางทีผมยังเคยแอบขำคนเดียว ที่มองนักการตลาดหรือนักวิชาการตลาดบางคน ราวกับเป็นตัวตลกในโรงละครสัตว์ ที่ชอบอวดตนราวกับว่าตัวเองเป็นเทวดาหรือไม่ก็นักมายากล ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคในตลาดหลงกล และตัดสินใจซื้อสินค้าตามแผนกลยุทธ์ของตนได้อย่างน่าฉงน และเมื่อทำสำเร็จก็มานั่งยกตนจนดูกลายเป็นเทวดาไปซะสิ้น

บ่อยครั้งที่ผมชอบวิจารณ์คนที่ชอบประกาศตนว่าตัวเองเป็นเทวดา ด้วยการประกาศความเป็นเจ้าของทฤษฎีใหม่ๆ ชนิดฟังดูชื่อแล้วงดงามราวกับเป็นชื่อเทพนิยายกรีกเลยทีเดียว ผมยังนึกขำๆ ว่าอีกหน่อยผมคงต้องตั้งชื่อทฤษฎีใหม่ๆ ให้ฟังดูงดงามบ้าง อาทิเช่น ชื่อกลยุทธ์ฟากฟ้าสีชมพู-ใช้สำหรับเทศกาลวันแห่งความรัก และก็ชื่อกลยุทธ์ตะวันสีแดง-ใช้สำหรับเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น หรือถ้าจะให้ดูโก้หรูทันยุคทันสมัยระดับเวิร์ลคลาสสักหน่อย ก็อาจจะใช้ชื่อกลยุทธ์บลูไซเบอร์-ใช้สำหรับการเคลื่อนธุรกิจหลากหลายรูปแบบสู่โลกของสมาร์ทโฟนเป็นต้น ผมยังนึกต่อสนุกๆ แบบเพลินๆ อีกว่า พอผมตั้งชื่อกลยุทธ์บลูไซเบอร์ ขึ้นมาแล้วผมก็แค่เอามาสร้างกระแสสักหน่อย โหมโรงแบบหนังยอดฮิต สักพักเดียวก็คงมีใครต่อใครพูดถึงกันบ้างล่ะ

ผมเคยบรรยายบนเวทีการตลาดอยู่บ่อยๆ ว่า..คนที่คิดใหญ่เขามักจะทำเรื่องยากๆ ให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆ คิดเรื่องใหญ่ๆ ให้เป็นเรื่องเล็กๆ เพื่อเขาจะได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางธุรกิจให้กับตนเองได้มากมายหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ส่วนคนที่ชอบคิดเล็กๆ ก็มักจะทำเรื่องง่ายๆ ให้กลายเป็นเรื่องยาก และชอบทำเรื่องเล็กๆ ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งคนอย่างหลังนี้ก็มักจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะในแต่ละวันมีแต่งานใหญ่เต็มไปหมดทำอะไรก็ไม่เสร็จสักที และไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็มีแต่เรื่องยากๆ จนมองดูน่าสงสารที่ต้องให้เขาแบกโลกอันแสนหนักไว้บนบ่าของเขาอยู่ตลอดเวลา ในประเด็นนี้ ผมอยากให้ผู้อ่านลองฉุกคิดขึ้นมาใหม่ว่า ต่อให้เราหยิบตำราการตลาดดีๆ มาสัก 100 เล่ม และอ่านมันจบจนทุกเล่ม ก็ไม่มีคู่มือการตลาดเล่มใด ที่ไม่ได้พูดถึงกลยุทธ์หลัก 4 ประการ คือ Product , Price , Place และ Promotion นั่นเอง

ผมยังรู้สึกขำตอนที่ไปอ่านใครประกาศตนว่า “กำลังทำธุรกิจบลูโอเชี่ยน” อยู่นะ ผมจึงล้อเลียนกลับไปบ่อยๆ ว่า “เดี๋ยวก็จมน้ำตายหรอก” เพราะทะเลมันกว้างใหญ่ น้ำมันลึก แถมบางแห่งก็เชี่ยวกรากอีกต่างหาก แล้วมหาสมุทรมันออกจะกว้างใหญ่ไพศาล จะไปงมเข็มในมหาสมุทรเจอเหรอนั่น เป็นต้น เขียนไป..เขียนไป ผมก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะกลายเป็นคนจำนวนชอบถากถางไปซะแล้ว เพราะผมอดที่จะรู้สึกหมั่นไส้พวกหัวใหม่ไม่ได้จริงๆ ที่ชอบเห่อของใหม่ เห่อทฤษฎีใหม่ๆ ทั้งๆ ที่ว่ามันก็ไม่ได้แตกต่างไปจากวิธีการเดิมๆ ไปสักเท่าไหร่ แค่นำมาตั้งชื่อให้ดูสวยหรู งดงามขึ้นสักหน่อยก็แค่นั้น

เป็นธรรมชาติของคนเรา ถ้าหากวันหนึ่งตัวเองจะต้องประสบกับความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวทางธุรกิจหรือล้มเหลวส่วนบุคคล ก็มักจะตรึกตรองหาเหตุผล โทษปัจจัยภายนอกซะจนหมดสิ้น เพื่อให้ตัวเองลอยตัวจากความผิดและไม่ต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวนั้นๆ แต่พอถึงคราวที่ตัวเองประสบความสำเร็จก็จะคอยทบทวน หาเหตุผลมายืนยันความสามารถของตนเพื่อให้ใครๆ มองว่าตัวเองกำลังกลายพันธุ์เป็นเทวดาไปซะเลยทีเดียว ในประเด็นนี้ผมเชื่อมั่นเป็นหนักหนาว่า บันทึกความสำเร็จของคนดังมากมายทั่วโลก มักจะถูกบันทึกแต่ในด้านบวกของเขาไว้ก่อนส่วนด้านลบจะไม่มีการพูดถึงกันเลยแม้แต่น้อย ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ เหล่านั้นจะพูดอะไร จะกล่าวอะไร ก็จะดูดีไปเสียหมด ต่อให้เขาพูดคำลวงหรือพูดโกหกสังคมก็เชื่อได้อย่างสนิทใจเพราะมองว่าเขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จนั่นเอง แต่ตรงกันข้ามลองบันทึกความล้มเหลวของคนล้มละลายดูบ้างซิครับ คนจะสรุปรอไว้ก่อนเลยว่า กำลังอ่านคำแก้ตัวของเขากันอยู่ ยิ่งคนล้มเหลวออกมาพูดมากเท่าไหร่ ก็ราวกับตอกย้ำให้เขากลายเป็นคนตลกของสังคมมากขึ้นๆ อยู่ร่ำไป

ที่เขียนตอนนี้ ผมยังขอยืนยันเหมือนเดิมว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนคิดลบแต่อย่างใด ที่ผมเขียนตอนนี้ขึ้นมาก็แค่ประสงค์จะให้ทุกๆ คนเลิกทำตัวเป็นคนอวดดี อวดเก่ง อวดเบ่ง ว่าตัวเองเป็นเทวดาไปซะงั้น และก็ให้ย้อนคืนกลับสู่สามัญทางความคิดว่าแท้ที่จริงแล้ว มนุษย์ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่กำลังทำกิจกรรมเพื่อสนองตอบความพึงพอใจของมนุษย์ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น และหัวใจสำคัญของการสนองตอบความพึงพอใจของมนุษย์ในสังคมที่ง่ายๆ และธรรมดาๆ ที่สุดก็คือ ก่อนจะพูดอะไรอะไรไป ก่อนจะทำอะไรออกไป ก่อนจะแสดงออกอะไรออกไป แค่ขอให้นึกก่อนว่าหากมีคนทำเช่นนั้นกับเรา แล้วเราจะรู้สึกพอใจหรือไม่อย่างไรก่อน และเมื่อนั้นสังคมโลกใบนี้ก็จะน่าอยู่มากขึ้นอย่างแน่นอน

ท้ายนี้ผมก็ควรจะกล่าวคำขอโทษ นักวิชาการและนักการตลาดบางคน ที่อาจเข้ามาอ่านแล้วรู้สึกกระทบจิตใจบ้าง แต่ขอให้ทุกท่านเชื่อว่าผมไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ดูหมิ่นใครเป็นการพิเศษ แค่ผมปรารถนาให้ทุกคนมองโลกอย่างสบายๆ มากขึ้น เพื่อให้โลกใบนี้ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องยากๆ ให้ใครต่อใครต้องคอยเอามาห้ำหั่น เก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกันเองมากเกินไปนักเท่านั้นเอง ผมนึกอยู่ตลอดเวลาว่า...การศึกษาภาควิชาการตลาด มันน่าสนุกราวกับได้เรียนวิชาศิลปะเลยทีเดียว เพราะแต่ละวิชามันล้วนเกี่ยวข้องกับศิลปะการชนะใจคน ที่ล้วนแล้วแต่มีความอ่อนโยน ละมุนละม่อม จนผมสรุปกับตัวเองตลอดเวลาว่า นักการตลาด เปรียบเสมือนนักศิลปะตัวยง ที่สามารถทำให้มนุษย์บนโลกเกิดความพึงพอใจได้อย่างงดงาม


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล
เขียนเมื่อ วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556



วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มดล้มช้าง

นิทานการตลาด ตอนที่ 26



ผมได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขาย ใน 7-ELEVEN เมื่อปี 2544 เพื่อไปรับตำแหน่งหัวหน้าทีมที่ปรึกษา โครงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทย ให้กับกระทรวงพาณิชย์ และได้เริ่มต้นจัดหลักสูตร อบรมให้ความรู้ด้านการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมของคนไทย หรือที่ใครๆ เรียกติดปากว่า “ร้านโชวห่วย” นั่นเอง เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกของคนไทยสามารถดำเนินต่อไปได้ภายใต้สภาวะการแข่งขันที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นตลอดเวลา

ณ ปี 2544 ร้าน 7-ELEVEN ในประเทศไทย มีเพียงหนึ่งพันกว่าสาขาเท่านั้น แต่มาถึงวันนี้ ร้าน 7-ELEVEN มีสาขาทั่วประเทศไทยมากกว่า 7 พันแห่งไปแล้ว ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้เอง ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนนิทานการตลาดในตอนที่ 26 โดยการใช้ชื่อเรื่องว่า “มดล้มช้าง” เพราะธุรกิจมินิมาร์ทเล็กๆ ในใจผมเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ที่ความจริงผมควรเรียกว่าร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ แต่เพราะเป็นคำศัพท์ใหม่เกินไปสำหรับผมในยุคนั้น ผมจึงคิดในใจแค่ว่าเป็นร้านมินิมาร์ทเล็กๆ ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

ถือว่าเป็นโชควาสนาดีของผมโดยแท้ ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานกับ 7-ELEVEN ในยุคบุกเบิก ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนการเป็นนักการตลาดได้อย่างเต็มที่ และผมถือว่า 7-ELEVEN มีบุญคุณใหญ่หลวงต่อชีวิตการเป็นนักการตลาดของผม ซึ่งผมได้เริ่มต้นงานจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการขาย และสามารถไต่เต้าจนสู่ตำแหน่งสูงสุดในด้านส่งเสริมการขายเต็มตัวคือ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขาย นั่นเอง และผมถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติน่าภาคภูมิใจอย่างสูง

ย้อนกลับไปถึงวันที่ผมได้ตัดสินใจลาออกจาก 7-ELEVEN เพื่อมารับงานในตำแหน่งหัวหน้าทีมที่ปรึกษา โครงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทย กระทรงพาณิชย์ ในปี 2544 ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่น่าภาคภูมิใจไม่แพ้กับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขายใน 7-ELEVEN เพราะผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการยกเครื่องเรื่องธุรกิจค้าปลีกไทยทั่วทั้งประเทศ โดยในปีแรก ผมเริ่มโครงการนำร่องก่อน 4 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสงขลา จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเชียงใหม่ และปีต่อๆ มาก็ได้ขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัดเกือบทั่วประเทศไทย

ผมภูมิใจอย่างมากที่ได้เดินทางทั่วประเทศไทย เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าของร้านโชวห่วยทั่วประเทศไทย จนในที่สุดก็ทำให้เจ้าของร้านโชวห่วยจากหลายจังหวัดทั่วประเทศมอบตำแหน่ง “วีรบุรุษโชวห่วย” ให้กับผม ซึ่งตอนนั้นรู้สึกขำขำ ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่นึกว่าเป็นคำหยอกล้อเล่นๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าๆ ผมก็เริ่มรู้สึกถึงความชัดเจนของตำแหน่งวีรบุรุษโชวห่วยมากขึ้นๆ ทุกวันๆ เพราะผมได้สร้างผลงาน การพัฒนาร้านโชวห่วยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากมายหลายพันแห่งทั่วประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งแนวคิดในการพัฒนาร้านโชวห่วยนั้น ผมก็ได้นำวิธีการบริหารจัดการที่ดีของ 7-ELEVEN มาปรับให้เหมาะสมร้านการบริหารร้านโชวห่วยนั่นเอง

คำพูดเด่นของผมข้อหนึ่งที่ผมเคยพูดทุกครั้งที่ขึ้นเวทีบรรยายในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศไทย นับจากปี 2544 ติดต่อกันมาหลายปี ด้วยคำทำนายว่า “อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าโมเดิร์นเทรดจะล่มสลาย” แรกๆ คำพูดของผม หลายๆ คนมองเป็นเรื่องเพ้อฝัน บ้างก็กล่าวหาว่าผมสติเฟื่องเกินไปหน่อยแล้ว เพราะโมเดิร์นเทรด ล้วนเป็นธุรกิจข้ามชาติ มีเงินทุนมหาศาล มีนักบริหารที่มีฝีมือระดับโลก มีกลยุทธ์การบริหารจัดการที่เยี่ยมยอดที่คนทั้งโลกยอมรับ แล้วเมื่อธุรกิจโมเดิร์นเทรดดีเลอเลิศซะขนาดนี้ แล้วมันจะล่มสลายไปได้ยังไงกัน

ปกหนังสือคู่มือการบริหารค้าปลีกของผมที่เขียนขึ้นในปี 2545 เป็นหลักประกันได้ว่าคำพูดของผมไม่ได้แค่ถูกเปล่งออกมาด้วยวาจาบนเวทีการบรรยายเท่านั้น แต่ผมได้เขียนไว้บนหน้าปกหนังสือเลยทีเดียวว่า “ทางรอดธุรกิจค้าปลีกไทยภายใต้ซอกเท้าช้าง” ซึ่งแรกๆ ก็นักวิชาการหรือนักธุรกิจมากมายแอบขำอยู่ในใจ แต่มาถึงวันนี้ เวลาได้ผ่านไป 10 ปีจริงๆ ปรากฏว่ามีพญาช้างศาลมากมายที่ได้ล้มหายตายจากประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว เริ่มต้นจากคาร์ฟูร์ห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ก็ได้ปิดตัวอย่างสิ้นเชิงในประเทศไทย แม้แต่ซูปเปอร์มาร์เก็ตที่โดดเด่นไปทั่วโลกอย่างท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไปไม่รอด จัสโก้ก็ไปไม่รอด และสุดท้ายแม้แต่ห้างค้าส่งยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างแมคโครก็ถูกธุรกิจค้าปลีกร้านเล็กๆ อย่าง 7-ELEVEN เทคโอเว่อร์ไปซะเรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว

“มดล้มช้าง” หากผมมาพูดกันในวันนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกเกินไปเสียแล้ว แต่บังเอิญผมพูดเร็วเกินไปถึง 10 ปี แต่นั่นก็ถือเป็นการที่นายที่ถูกต้องที่สุดของผม และผมของเฉลยเสียในตอนนี้เลยว่า ... จุดอ่อนที่ทำให้ธุรกิจโมเดิร์นเทรดต้องล่มสลายก็เพราะค่าบริหารจัดการที่สูงเกินไปนั่นเอง ขณะที่โครงสร้างกำไรของสินค้าค่อนข้างต่ำ ยิ่งแต่ละธุรกิจต่างพากันห่ำหั่น ฟาดฟัน แข่งขันประกาศศักดาว่าธุรกิจของฉันราคาสินค้าถูกที่สุด ฟัดกันไป ฟาดกันมา สุดท้ายก็ขาดทุนซะรู้แล้วรู้รอดกันไปนั่นเอง

เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน “มดล้มช้าง” ยังมีอะไรต่อมิอะไรที่น่าตื่นเต้นอีกมากมายก่ายกอง ผมคงเล่ากันหลายวันก็คงไม่หมด เอาเป็นว่า..วันหน้าผมจะแวะมาเล่ากันให้ฟังต่อดีว่านะครับ ว่ายุทธการล้มช้างในวิธีคิดของผมนั้น จะต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรกันบ้าง จะต้องเตรียมตัวยังไงกันบ้าง จึงจะล้มช้างได้ รับรองได้ว่า น่าสนุกพอๆ กับดูหนังเรื่องขุมทรัพย์สุดขอบฟ้ากันเลยทีเดียวล่ะ ตอนนี้ก็เขียนมายาวไปสักหน่อยแล้ว เอาเป็นว่าขอให้เชื่อว่า ณ ปี 2555 “มดได้ล้มช้าง” ไปแล้วจริงๆ อย่างเป็นรูปธรรมนะครับ ก็คงอ้างถึงข่าวยอดฮิตที่ 7-ELEVEN เทคโอเว่อร์แมคโครได้อย่างเต็มปากเต็มคำนะครับ ยังไงผมก็ขอให้ทุกท่านรออ่านกันวันต่อๆ ไปจะดีกว่านะครับ ถ้าขืนให้ผมเขียนยาวไป เกรงว่าทุกๆ คนจะเบื่อไปเสียก่อนจริงไหมครับ

เขียนโดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล
เขียนเมื่อ วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2556

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView