วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คนกินเงินเดือน

ความฝันของคนกินเงินเดือน

นักลงทุน “ผู้มุ่งมั่น” ที่ประสบความสำเร็จในช่วงประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น รวมถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่กำลัง “อิน” หรือสนใจและศึกษาการลงทุนอย่างจริงจังในช่วงเร็ว ๆ นี้ ต่างก็มักจะมีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนในหุ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องยาวนานจนถึงจุดที่ตนเอง “มีอิสรภาพทางการเงิน” และสามารถลาออกจากงานประจำในฐานะ “คนกินเงินเดือน” หรือการเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่ “อิสรภาพทางการเงิน” ในความหมายที่เป็นที่ยอมรับก็คือ การที่เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติโดยอาศัยแต่รายได้จากการลงทุนและเงินลงทุนเพียงอย่างเดียวไปตลอดชีวิตโดยที่มีความเสี่ยงที่จะผิดพลาดน้อย ผมเองเคยให้นิยามว่าเราควรจะต้องมีเงินอย่างน้อยเท่ากับ 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือนโดยเฉลี่ยและเงินนั้นจะต้องถูกลงทุนในจุดที่ถูกต้องซึ่งรวมถึงการที่จะมักจะต้องลงทุนในหุ้นเป็นหลักตลอดไป พูดง่าย ๆ ถ้าเราต้องการใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท เราต้องมีพอร์ตหุ้นหรือพอร์ตลงทุนอย่างน้อย 4 ล้านบาท ถ้าต้องการเดือนละ 100,000 บาท ก็ต้องมีเงิน 20 ล้านบาทขึ้นไป

    ความเป็นอิสรภาพทางการเงินนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็น “ความฝัน” ของคนก็เพราะว่าเราอยากมีชีวิตที่มี “อิสระ” ไม่ต้องถูก “สั่ง” หรือถูก “จำกัด” อิสรภาพในเรื่องของเวลาที่เราจะทำอะไรหรือไม่ต้องถูก “วัด” ผลงานหรือความสามารถโดย “เจ้านาย” ซึ่งทั้งหมดนั้นมักก่อให้เกิดความคับข้องใจและทำให้เราเกิดความเครียด เป็นทุกข์ เราอยากทำอะไรที่เราอยากทำ เราอาจจะทำงานต่อไปก็ได้ถ้าเรามีความสุขที่จะทำ เราอาจจะอยากเป็น “ผู้ให้” ที่จะก่อให้เกิดความสุขทางใจมากกว่า หรือถ้าเราไม่อยากจะทำอะไรเลย เราก็สามารถใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ “กระดิกเท้า” ไปวัน ๆ ก็ไม่มีใครมาว่าหรือมายุ่งกับเราได้ นอกจากนั้น เขาก็อาจจะ “ฝัน” ต่อไปอีกว่า หลังจากมีเงินพอเลี้ยงชีพแล้ว ด้วยการลงทุนต่อไป เขาก็อาจจะ “ร่ำรวย” กลายเป็นเศรษฐีและสามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างฟุ่มเฟือยมากขึ้น มีบ้าน รถยนต์ และสิ่งของหรูหรา สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก และชีวิตมีแต่ “ความสุข”

    ผมเอง “ผ่าน” ประสบการณ์ดังกล่าวมาหมดแล้ว ว่าที่จริงผมผ่านประสบการณ์ “ก่อนหน้า” นั้นด้วย ความหมายก็คือ ผมผ่านประสบการณ์ที่ต้อง “เอาตัวรอด” ซึ่งก็หมายความว่าจะรักษา “มาตรฐานชีวิตเดิม” ได้หรือไม่ผลจากการที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติในปี 2540 และกลายเป็นวิกฤติของชีวิตที่ต้อง “ตกงาน” และหางานที่จะจ่ายเงินเท่าเดิมยาก การเริ่มลงทุน “อย่างมุ่งมั่น” ในตลาดหุ้นของ

    ผมจึงเป็นการทำเพื่อ “เอาตัวรอด” ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อความเป็นอิสรภาพทางการเงินไม่ต้องพูดว่าจะรวยเป็นเศรษฐี ถ้าจะว่าไป ในยามนั้น คำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ยังไม่มีอยู่ใน “พจนานุกรม” ของผมหรือของใครด้วยซ้ำ สำหรับผมแล้ว “ความมั่นคงทางการเงิน” และแน่นอนว่ามันคือความมั่นคงในชีวิต เป็นสิ่งสูงสุดที่ผมพยายามไขว่คว้า ด้วยอายุ 44 ปี ภรรยาที่มีอาชีพหลักเป็นแม่บ้านและลูกที่ยังเล็กและอนาคตการงานที่คงจะแย่ลงอย่างแน่นอนนั้น มันเตือนผมตลอดเวลาว่า สิ่งสำคัญของการลงทุนก็คือสิ่งที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูด นั่นคือ “อย่าขาดทุน”

    เจ็ดปีต่อมาในปี 2547 ด้วยอายุ 51 ปี ผมก็ลาออกจากงานประจำ มันเป็นการลาออกแบบ “กระทันหัน” ที่ผมไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแม้ว่าลึก ๆ แล้วผมคิดว่าผมมีพอร์ตหรือมีเงินมาก “เกินพอ” ที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องมีเงินเดือน อย่างไรก็ตาม เงินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 7 ปีนั้น ผมเองก็ไม่มั่นใจว่ามันจะดำรงไว้ได้แค่ไหน ในช่วงปี 2547 พอร์ตผมเองก็ลดลงไปเกือบ 30% ในเวลาเพียงครึ่งปี แต่เงินเดือนนั้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรผมก็ยังได้รับมันทุกเดือน มันเป็น “ความมั่นคง” ที่จิตใจผมเองแสวงหามาตั้งแต่ยังเป็นเด็กที่จำความได้ เพราะในสมัยก่อนที่สังคมไทยยังจนอยู่และผมเองก็เกิดในครอบครัวที่ต้อง “หาเช้ากินค่ำ” นั้น บางทีเราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะมีวันไหนไหมที่เราจะต้อง “อดกิน” เนื่องจากวันนั้นเราไม่มีเงิน ดังนั้น วันที่ผมลาออกจากงาน ผม “ใจหาย” แม้ว่าจะมีพอร์ตหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉพาะจากเงินปันผลประมาณ 3 เท่าของเงินเดือน

    คนไทยรุ่นใหม่ที่เกิดมาในช่วงที่สังคมไทยรวยขึ้นและการ “อดอยาก” เป็นเรื่องที่ไกลตัวมักจะไม่รู้สึกมากถึง “ความมั่นคงทางการเงิน” ว่ามันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขที่สำคัญเท่ากับคนรุ่นผม พวกเขาคิดว่าการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นนั้น เป้าหมายสูงสุดก็คือมีเงินพอและมากพอที่จะใช้ชีวิตที่มีอิสระและมีความสุขอย่างที่ตนเองต้องการ หลายคนลาออกจากงานประจำทันทีที่มีเงินมากพอที่จะ “มีอิสระทางการเงิน” โดยอิงกับตัวเลขการใช้จ่ายในปัจจุบัน บางคนก็ลาออกเร็วกว่านั้น พวกเขา “ตามฝัน” ที่จะทำอะไรที่เป็น “อิสระ” ซึ่งบางทีก็คือการไม่ต้องทำงานออฟฟิสที่น่าเบื่อและไป “ลงทุน” ซึ่งก็คือการซื้อขายหุ้นและลุ้นกับการขึ้นลงของหุ้นและของพอร์ตที่น่าสนุก การได้ไปเยี่ยมชมหรือไปฟังข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นเองก็เป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์กว่าการเป็นลูกจ้างเป็นไหน ๆ หลายคนประสบความสำเร็จอย่างงดงามอานิสงค์จากการที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่สูงอย่าง “มโหฬาร” แก่นักลงทุนโดยเฉพาะคนที่สังคมเรียกว่าเป็น “Value Investor” ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา

    ในฐานะที่ผ่านประสบการณ์ตั้งแต่ศูนย์จนมีความมั่งคั่งผ่านการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผมมีความรู้สึกว่าคนจำนวนมาก “Overestimate” หรือคาดหวังสูงเกินไปกับการที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินและความสุขที่จะตามมาจากการนั้น ประการแรกก็คือ การที่จะมีอิสรภาพทางการเงินโดยที่ตนเองไม่มี “ต้นทุน” หรือต้นทุนน้อยจากครอบครัวหรือคนอื่นนั้น และหวังจะลงทุนจนได้อิสรภาพทาง

    การเงินไม่ใช่เรื่องง่าย ปกติมันต้องใช้เวลาน่าจะเกือบทั้งชีวิต การตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเกษียณตั้งแต่อายุ 40-50 ปี นั้น ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเสียหายแต่ก็อย่าหมกมุ่นจนเกินไป ควรหางานและทำงานที่ไม่ได้ทำให้เราเครียดมากและมีความสุขตามอัตภาพ ทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าเกษียณ ในขณะเดียวกัน ลงทุนในหุ้นที่ปลอดภัยและมีการเติบโตพอประมาณไปในระยะยาวหลาย ๆ ตัวและหลาย ๆ อุตสาหกรรมเพื่อกระจายหรือลดความเสี่ยงการลงทุนลง เสร็จแล้วก็รอดูพอร์ตหุ้นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับเงินเดือนที่โตขึ้นเรื่อย ๆ

    สิ่งที่จะได้ก็คือความมั่นคงทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งที่เรามั่นใจว่ามีเงินในพอร์ตมากพอและรายได้จากเงินปันผลสูงกว่าเงินเดือนมาก อย่างน้อยเป็น 2 เท่า เราก็อาจจะออกจากงานประจำเพื่อใช้ชีวิตที่เป็น “อิสระจริง ๆ” ไม่ห่วงว่าพอร์ตจะลดลงจนมีปัญหาแม้ในยามที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ

    สำหรับ “ความสุข” ที่เราแสวงหานั้น ผมคิดและเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของร่างกายเราเองที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิดว่าเราจะมีความสุขอยู่ในระดับไหนถึงไหน คนบางคนอาจจะมีความสุขตั้งแต่ 70-100 หน่วย เงินนั้นอาจจะช่วยเราได้บ้างในแง่ที่จะช่วยซื้อ “ความทุกข์” บางอย่างทิ้งไป แต่ไม่สามารถสร้างความสุขของเราเกินร้อย ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งนั้นอาจจะโชคดีที่เกิดมาก็มีความสุขระดับ 80-110 หน่วยโดยที่ใช้เงินน้อยมาก ดังนั้น สำหรับผมแล้ว สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ พยายามทำตัวเองให้มีความสุขเต็มศักยภาพของเราโดยที่ใช้เงินเป็น “ตัวช่วย” เท่าที่มันจะทำได้ อย่าไปหวังว่าถ้าเรามีเงินมากแล้วจะมีความสุขตามมาตามสัดส่วน มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย

    เคล็ดลับสุดท้ายก่อนที่จะจบก็คือ การเห็นพอร์ตของเราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ผมคิดว่ามันเป็นความสุขเท่า ๆ หรือมากกว่าการใช้เงินฟุ่มเฟือยซึ่งทำให้พอร์ตโตช้าลง ดังนั้น ไม่ต้องรีบโต ไปช้า ๆ แต่แน่นอนจะดีกว่า

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
---------------

Bitcoinหรือ"เงินดิจิตอล"

- Bubble Coin -

ข่าวคราวเกี่ยวกับ “การลงทุนใน Bitcoin” กำลังร้อนแรงมากในช่วงนี้ทั้ง ๆ ที่ไม่นานมานี้ Bitcoin หรือ “เงินดิจิตอล” ยังเป็นเรื่องที่คนไทยแทบไม่รู้จัก คนจำนวนมากยังคิดว่านี่คือ “เงินเก๊” ที่มีแก๊งต้มตุ๋นเอามาหลอกขายให้กับคนที่โลภมากอยากรวยเร็ว คล้าย ๆ กับพวกแชร์ลูกโซ่ เหตุผลก็เพราะว่าค่าของ “บิทคอยน์” มีการปรับตัวขึ้นหวือหวามาก ย้อนหลังไปไม่เกิน 10 ปี เงินดิจิตอลสกุลที่เรียกว่าบิทคอยน์ซึ่งน่าจะเป็น “เงินดิจิตอลสกุลแรก” ที่ถูกก่อกำเนิดขึ้นโดยคนที่ใช้ชื่อว่า Satoshi Nakamoto ยังมีค่าน้อยมากและแทบไม่มีคนใช้ มีเรื่องเล่ากันว่าในปี 2010 นาย Hanyecz ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ชาวฟลอริดาได้เอาเงินจำนวน 10,000 บิทคอยน์ที่ตัวเอง “ขุดได้” ไปซื้อพิสซ่า 2 ถาด ถ้าคิดคร่าว ๆ ราคา 2 ถาดเท่ากับ 1,000 บาท ก็เท่ากับว่าคนรับบิทคอยน์ตีราคา 1 บิทคอยน์เท่ากับ 0.1 บาท แต่ราคาบิทคอยน์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2560 นั้นเคยมีการซื้อขายสูงถึงเกือบ 100,000 บาท เงิน 10,000 บิทคอยน์มีค่าเท่ากับ 1,000 ล้านบาท ก็หมายความว่า นาย Hanyecz ได้สร้างตำนาน “ซื้อพิสซ่าถาดละ 500 ล้านบาท”

    ดัชนีราคาบิทคอยน์ที่มีการบันทึกตั้งแต่ประมาณ 7 ปีที่แล้วคือประมาณ เดือนกรกฎาคม 2010 นั้น เริ่มที่ประมาณ 0.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิทคอยน์ หลังจากนั้นมันก็ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและกระโดดขึ้นเป็นช่วง ๆ ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี ราคาก็ขึ้นเป็นหลัก 100 เหรียญ หรือเป็นเงิน “ร้อยเด้ง” และในช่วงประมาณ 2-3 เดือนก่อนที่จะจบปี 2013 ราคาบิทคอยน์ก็ขึ้นมาถึงเกือบ 1,000 เหรียญ หรือขึ้นมาอีกเกือบ 10 เด้งในเวลาเพียง 2 เดือน เท่ากับว่าราคาบิทคอยน์นั้นขึ้นมาประมาณไม่น้อยกว่า “พันเด้ง” ในเวลา 3 ปีเศษ ๆ และน่าจะต้องถือว่าเป็นการขึ้นของการลงทุนในหลักทรัพย์ที่น่าทึ่งที่สุดในโลกครั้งหนึ่งก็ว่าได้ หลังจากนั้น อาจจะเพราะว่ามันขึ้นมาแรงมากเกินไปและคนอาจจะคิดว่ามันถูก “ปั่น” ขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผลคล้าย ๆ กับ “Tulip Mania” หรือการปั่นราคาหัวทิวลิปในเนเธอร์แลนด์สมัยหลายร้อยปีก่อนที่ทำให้ดอกทิวลิปที่ “ไม่มีค่าหรือประโยชน์ใช้สอย” มีราคาเท่ากับบ้านทั้งหลัง ดังนั้น ราคาบิทคอยน์จึงค่อย ๆ ตกลงมาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องจนเหลือประมาณ 200 เหรียญเศษ ๆ คนที่ซื้อที่ “ดอย” ขาดทุนไปเกือบ 80% ในเวลาประมาณปีครึ่ง

    แต่ดูเหมือนว่าบิทคอยน์นั้นไม่ใช่ทิวลิป เพราะคนเริ่มเห็นประโยชน์ของมันในแง่ที่ว่ามันเป็นเงินจริง ๆ และเป็น “เงินแห่งอนาคต” เพราะมันถูกออกแบบมาด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลที่มีข้อดีหลาย ๆ อย่างที่ “เงินกระดาษ” สู้ไม่ได้ มันคล้าย ๆ กับเทคโนโลยีอิเล็คโทรนิกส์คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่ในที่สุดกำลังทำลายเทคโนโลยีกระดาษอย่างหนังสือหรือสิ่งอื่นที่จับต้องได้ ดังนั้นคนก็เริ่มที่จะใช้เงินบิทคอยน์มากขึ้น ราคาบิทคอยน์ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ถึงต้นปี 2017 ราคาบิทคอยน์ปรับตัวทะลุจุดสูงสุดเดิม ราคาปิดที่ประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อ 1 บิทคอยน์ และหลังจากนั้น ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ราคาบิทคอยน์ก็ปรับตัวขึ้นแบบ “ม้วนเดียว” ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนมีราคาสูงสุดถึง 2,850 เหรียญในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2017 คนที่ถือบิทคอยน์ไว้ตั้งแต่ราคาบิทคอยน์เท่ากับ 0.06 เหรียญเมื่อ 7 ปีก่อนจะได้กำไรเกือบ 50,000 เท่า แน่นอน มีน้อยคนที่ไม่ขายในช่วงที่ผ่านมา แต่คนที่ถือในราคา 1 เหรียญก็น่าจะกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ถ้าซื้อไว้พอสมควรและถือยาวมาจนถึงวันนี้

    นาทีนี้ถ้าจะถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับบิทคอยน์ก็คงต้องตอบว่ามันคงเป็น “ฟองสบู่” ถ้าจะเรียกแบบเท่ ๆ ก็คงต้องเรียกว่า “Bubble Coin” มันน่าจะ “แตก” ได้ตลอดเวลา เพราะตัวของมันเองนั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่กิจการที่จะก่อให้เกิดรายได้และกำไรมหาศาลแบบหุ้นกูเกิล เฟซบุค หรืออะเมซอน ว่าที่จริงมันเป็นแค่ “นามธรรม” หรือ “ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนสามารถอ้างอิงและนำไปใช้เป็น “เงิน” นั่นก็คือ เอาไว้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เอาไว้เป็นเครื่องมือในการเก็บรักษาความมั่งคั่งหรืออำนาจในการซื้อในอนาคต หรือเอาไว้ใช้ในการเก็งกำไร ซึ่งทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับว่าคนจะใช้มันไหม ถ้าไม่ใช้ มันก็ไม่มีประโยชน์ เหนือสิ่งอื่นใด บิทคอยน์ก็ไม่ได้เป็นเงินดิจิตอลเพียงตัวเดียว ขณะนี้มีเงินดิจิตอลน่าจะไม่ต่ำกว่า 10 สกุลและหนึ่งในนั้นก็คือ Ethereum ที่ก้าวขึ้นมาแข่งด้วยระบบที่อาจจะดีกว่าก็ได้ ความไม่แน่นอนของการแข่งขันและเหตุการณ์ไม่แน่นอนของเงินดิจิตอลเองที่ไม่มีรัฐบาลของประเทศไหนเป็นเจ้าของทำให้ราคาของบิทคอยน์ผันผวนอย่างหนัก ในบางครั้งคนก็ไม่แน่ใจว่าถึงวันหนึ่งเมื่อระบบ “ล่มสลาย” เราจะไปเอาเงินจากใคร? ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีข่าวว่าบิทคอยน์ “ถูกแฮ็ค” ทำให้ราคาร่วงมาอย่างหนักก่อนจะดีขึ้นเมื่อพบว่าโบรกเกอร์ที่ค้าขายบิทคอยน์ต่างหากที่โดนแฮ็ค บิทคอยน์ยังปลอดภัย เป็นต้น

    ไม่ว่าราคาบิทคอยน์จะเป็นอย่างไรในอนาคตผมก็คิดว่ามันคงจะต้องอยู่กับเราต่อไป ที่จริงถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ “เงินดิจิตอล” จะต้องอยู่กับเราต่อไปเรื่อย ๆ เราคงไม่เลิกเงินกระดาษที่รัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นผู้ “รับรองหรือรับประกัน” ว่ามันเป็นสิ่งที่ “ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” เป็นไปได้ว่าเงินดิจิตอลก็จะเป็นเงินที่ “รับรองและรับประกันโดยเทคโนโลยี” ที่สามารถ “ชำระหนี้ได้ตามกฎของสังคมโลก” ที่เป็นเอกชน เป็นไปได้ว่าวันหนึ่งเงินดิจิตอลที่ “ไม่มีกำแพงของรัฐ” มาขวางกั้น สามารถใช้ได้ทุกที่และอาจจะมีชัยเหนือรัฐเช่นเดียวกับกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เดิมรัฐเป็นผู้ผูกขาดการทำ นี่อาจจะเป็นเวลาที่ “การปฏิวัติของเงินตราเริ่มขึ้นแล้ว” และมันจะดำเนินต่อไปโดยที่ไม่มีใครขวางได้ เหมือนกับสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงของไอทีและดิจิตอลที่กำลังปฏิวัติการดำเนินการแบบเก่า ๆ

    ในฐานะของนักลงทุนแนว VI รุ่นที่เกิดในยุคอานาล็อกไม่มีทั้งคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และอื่น ๆ อีกมากนั้น ผมก็ได้แต่ทึ่งกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่น่าเชื่อ บ่อยครั้งผมก็ไม่สามารถใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ผมยอมรับมันได้ทุกเรื่อง ผมเรียนรู้แนวคิดในภาพใหญ่ของมันและก็พยายามดูเทรนด์หรือแนวโน้มว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่อง “โกหก” ผมคิดว่ามันเป็น “เรื่องจริง” ผมคิดว่าสิ่งเก่า ๆ ในที่สุดก็จะต้องค่อย ๆ หดตัวลง แม้ว่าจะไม่หมดไปแต่อนาคตที่สดใสไม่มีแล้ว ส่วนตัวผมเองนั้น ผมไม่ได้กระตือรือร้นที่จะต้องใช้มันแต่ก็ไม่ปฏิเสธยกเว้นแต่ว่าความเสี่ยงจะสูงเกินไป ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินนั้นผมคิดว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้น บ่อยครั้งผมก็ไม่อยากใช้ถ้าไม่จำเป็น เหนือสิ่งอื่นใด ผมไม่ค่อยเข้าใจหรือมีความสามารถในการใช้เพียงพอ

    ในส่วนของการลงทุนเองนั้น ผมไม่มีความสามารถพอที่จะวิเคราะห์ “ปัจจัยของการเก็งกำไร” ในเรื่องของค่าเงินไม่ว่าจะเป็นเงินแบบกระดาษหรือเงินดิจิตอล ดังนั้น ผมหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน ผมชอบลงทุนในสิ่งที่ผมรู้ดี กรณีของบิทคอยน์หรือเงินดิจิตอลอื่น ๆ นั้น ผมไม่สามารถจะบอกได้เลยว่ามันควรมีค่าเท่าไร ผมคิดว่ามันคงแพงเป็นฟองสบู่แต่มันก็อาจจะไม่จริง เพราะถึงแม้ราคาจะขึ้นมามโหฬารแต่มูลค่าตลาดของเงินบิทคอยน์ทั้งหมดก็มีเพียงประมาณ 45,000 ล้านเหรียญ หรือ 1.5 ล้านล้านบาท ไม่ได้ใหญ่มากเมื่อเทียบกับว่ามันอาจจะกลายเป็นเงินที่ยิ่งใหญ่สกุลหนึ่งของโลกในอนาคต อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะมีมูลค่าลดลงได้มากถ้าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปในด้านที่เลวร้ายลงอย่างที่เราคาดไม่ถึง

    ประเด็นสุดท้ายก็คือ ผมจะไม่ลงทุนอะไรเลยที่กำลังร้อนแรงและราคาขึ้นไปสูงมากในระยะเวลาอันสั้น เพราะโอกาสที่จะกำไรเร็ว ๆ และมากนั้นจะน้อยลง ในขณะที่โอกาสจะขาดทุนหนักในระยะเวลาอันสั้นนั้นมักจะสูงกว่า การลงทุนในสถานการณ์แบบนี้สำหรับ VI แล้วต้องถือว่า “ผิดศีล” อย่างแรง

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-----------------------

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView