วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หุ้นปลิดชีวิต

หุ้นปลิดชีวิต โดย วีระพงษ์ ธัม

การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น นักลงทุนจะใช้เวลาส่วนใหญ่มุ่งหา “หุ้นดี” ที่สามารถทำกำไรสูง ๆ เพื่อซื้อเข้าพอร์ต อย่างไรก็ดีประสบการณ์ผมพบว่าการพยายามเลี่ยง “หุ้นอันตราย” นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะนอกจากจะเสียทั้งเงิน เรายังเสียเวลาติดตาม เสียสุขภาพอีกด้วย และนี่คือลักษณะหุ้นปลิดชีวิตที่ผมพยายามระวังหรือหลีกเลี่ยง

1.”หุ้นผู้บริหารสีเทา” การลงทุนเป็นกิจกรรมที่เราต้องพึ่งพาผู้บริหาร 100% ผู้บริหารที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง และผู้บริหารสีเทาก็สร้างปัญหามากกว่าที่เราคิดมาก ศิลปะในการดูผู้บริหารนั้นถูกพูดถึงอยู่ในบทความมากมายหลายครั้ง แต่ผมขอเอาจากงานวิจัยจากหนังสือเลี้ยงลูกเล่มหนึ่งที่ชื่อ How Children Succeed ที่พูดว่าเด็กที่มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตสูง ต้องมีคุณสมบัติเด่น 7 ข้อ คือ มีความมุ่งมั่น รู้จักควบคุมตนเองรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ มีความกระตือรือร้น รู้จักเข้าหาสังคม มีความกตัญญูยึดในความดี มองโลกในแง่บวก มีความสงสัยใคร่รู้และชอบค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งผู้บริหารที่ดีก็น่าจะมีลักษณะนี้เช่นเดียวกัน และบทสรุปหนึ่งที่ใช้ได้เสมอคือ ผู้บริหารที่ดีควรจริงจังกับธุรกิจมากกว่าตลาดหุ้น

2.”หุ้นหนี้สูงท่วมหัว” ในตำราการเงิน การก่อหนี้ให้ผลที่ดีเสมอในเชิงตัวเลขให้ผลลัพธ์ที่นักลงทุนชอบ คือเพิ่มกำไรได้ง่าย เพิ่มอัตราส่วนทางการเงินให้ดูสวยงาม แต่หุ้นที่มีหนี้จำนวนมาก คือหุ้นที่เราควรจะหลีกเลี่ยง บริษัทคุณภาพดีจำนวนไม่น้อยก็ประสบปัญหาล้มละลายเพราะหนี้ เพราะในเวลาทุกอย่างดูดี เจ้าหนี้จะไม่ค่อยมายุ่งกับธุรกิจ แต่พอทุกสิ่งเข้าสู่ช่วงยากลำบาก เจ้าหนี้เริ่มตั้งข้อสงสัยและจะดึงเงินกลับอย่างรวดเร็ว วิกฤตเศรษฐกิจจนถึงวิกฤตบริษัทส่วนมากมักเกิดจากปัญหา “สภาพคล่องและหนี้” เช่นกรณีวิกฤตตั๋ว B/E ในปีนี้ก็ทำให้หุ้นหลายตัวเป็นหุ้นปลิดชีวิต

3.”หุ้นล้าสมัย” ในยุคนี้ ความล้าสมัยไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจเติบโตไม่ได้ แต่อาจทำให้ธุรกิจล้มหายไปเลย เพราะการแข่งขันที่ “ข้ามสนาม” สมัยนี้ธุรกิจใหญ่ ๆ หรือหลาย ๆ สินค้าจะเป็นลักษณะกินรวบมากขึ้น และหุ้นล้าสมัยมีลักษณะหนึ่งที่คล้ายกันคือ ลูกค้าใหม่ไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่อยู่มานาน และเป็นกลุ่มคนสูงอายุ หุ้นลักษณะนี้จะค่อย ๆ ปลิดชีวิตเราอย่างช้า ๆ ผลประกอบการจะทรงและทรุด จนถึงวันที่บริษัทกลายเป็นหุ้นราคาถูกเรื้อรัง

4.”หุ้นบินก่อนผ่อนที่หลัง” หุ้นที่ธุรกิจสบายในวันนี้แต่จะลำบากในอนาคต เป็นหุ้นที่ควรระวัง เช่นธุรกิจที่เลียนแบบได้ง่าย คนทำคนแรกก็จะสบายก่อนและลำบากทีหลังเมื่อคู่แข่งใหม่เข้ามา หุ้นที่หลาย ๆอย่างดูดี โตสูง ต้องระวังว่าอนาคตจะยั่งยืนต่อไปได้หรือไม่ เหมือนกับคำพูดที่ว่าแชมป์เป็นง่ายแต่รักษาแชมป์ยากกว่า หรือธุรกิจวัฏจักรหรือหุ้นโภคภัณฑ์ในวันที่ทุกอย่างสวยหรู คือหุ้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากเมื่อวงจรขาลงมาถึง หุ้นประมูล หุ้นโครงการ ก็มีโอกาสเข้าข่ายลักษณะนี้ถ้าแข่งขันกันสูง หรือธุรกิจมุ่งแต่จะคว้างาน ผลสุดท้ายธุรกิจได้งานจำนวนมาก แต่ไม่สร้างกำไร ธุรกิจที่ดีควรจะลำบากในวันนี้ แต่ “สบายสุด ๆ” อย่างถาวรในอนาคต

5.”หุ้นอริเทคโนโลยี” เพื่อนที่จำเป็นที่สุดของธุรกิจในยุคนี้ น่าจะชื่อว่า “เทคโนโลยี” ธุรกิจไหนที่นำเทคโนโลยีมาใช้ได้ดีที่สุดคือผู้ชนะ ยุคนี้คำว่า disruptive technology หรือเทคโนโลยีที่ทำลายล้างนั้นถูกพูดถึงบ่อย แต่ถ้าสังเกตจะพบว่าเทคโนโลยีประจำวันที่เราใช้อยู่ปัจจุบันล้วนทำลายล้างสิ่งเก่า ๆ ทั้งสิ้น หุ้นที่ต่อต้านเทคโนโลยี ส่วนมากจะมีจุดจบที่ไม่ดี ดังนั้นเทคโนโลยีนอกจากต้องไม่เป็นภัยต่อสินค้าบริการ ธุรกิจ กระบวนการ เครื่องจักร บริษัทยังต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดีกว่าคู่แข่ง เทคโนโลยีคือโอกาสและความเสี่ยงที่สุดอย่างหนึ่งของโลกธุรกิจยุคนี้

6.”หุ้นเบี้ยล่าง” บ่อยครั้งนักลงทุนมักให้ราคากับหุ้นผู้ตามมากกว่าผู้นำ เนื่องจากหุ้นผู้ตามมีขนาดเล็กกว่า โอกาสการเติบโตจึงสูงกว่า หุ้นเบี้ยล่างมักมีขนาด market cap ไม่ใหญ่ นักลงทุนก็หวังกำไรโตก้าวกระโดดรายไตรมาส หุ้นเหล่านี้ในสนามธุรกิจเป็นเบี้ย แต่ราคาหุ้นเหมือนเป็นขุน ธุรกิจที่แข่งขันกันหนัก ๆ เราจะรู้ว่าไม่ใช่ง่ายที่ธุรกิจเล็กจะแข่งขันชนะธุรกิจใหญ่กว่าได้ หุ้นเบี้ยล่างที่ประสบความสำเร็จได้ ต้องไม่ถูกธุรกิจใหญ่บีบให้อยู่ในเกมการแข่งขัน แต่ต้องสามารถ “หนี” ไปทำในสิ่งที่ธุรกิจใหญ่ทำไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนในกระดานหมากรุก คือเบี้ยมักจะตายก่อน

7.”หุ้นพึ่งคนอื่น” หุ้นที่ต้องพึ่งปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ ย่อมมีเหตุให้เกิดเหตุการณ์ “ที่พักพิง” นั้นหายไป แม้ว่าทุกธุรกิจต้องพึ่งพาคนอื่น แต่จุดสำคัญคือ ธุรกิจที่มี “ทางเลือก” ในการพึ่งคนหลาย ๆ คนย่อมได้เปรียบกว่า เช่น ลูกค้ามีพันคน ย่อมปลอดภัยกว่าลูกค้าไม่กี่คน มีซัพพลายเออร์หลายรายย่อมปลอดภัยกว่ามีรายเดียว พึ่งพาใบอนุญาตเพียงใบเดียวที่ออกจากรัฐ ย่อมเสี่ยงกว่าธุรกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาใบอนุญาต

8.”หุ้นเด่นราคาฟ้าประทาน” ไม่ว่าหุ้นจะดีขนาดไหน การซื้อหุ้นในราคาแพงย่อมทำให้ผลตอบแทนเงินลงทุนเราแย่ลง หุ้นกลุ่มนี้มักจะมี story ยอดเยี่ยม ราคาหุ้นขึ้นตลอด มีคนพูดถึงมาก ยิ่งหุ้นขึ้นรุนแรงเท่าไร ยิ่งมีความเสี่ยงเท่านั้น หุ้นน่าเบื่อไม่เคยปลิดชีวิต สิ่งที่หวือหวาต่างหากที่อันตราย

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หุ้นยักษ์แห่งวอลสตรีท

 ผมมักถูกถามอยู่เนือง ๆ  ว่าทำไมไม่ไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐที่มีบริษัทที่โดดเด่นระดับโลกมากมายที่น่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”  ที่เป็นหุ้นที่ผมชอบลงทุน  คำตอบของผมมีหลายข้อซึ่งมักจะรวมถึง  ความจริงที่ว่า  มันเป็นตลาดที่ผมไม่มีความรู้มากพอในการที่จะเลือกหุ้นลงทุน  จริงอยู่  ผมก็อาจจะมีความคิดอยู่บ้างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเหล่านั้นผลิตและขายให้กับคนทั่วโลกรวมถึงผม  แต่เมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนมืออาชีพทั่วโลกแล้ว  ผมก็เป็น  “หมู” ดี ๆ  นั่นเอง  ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่อยากทำ  ผมชอบแข่งในตลาดที่ผมมีความรู้และความสามารถมากกว่าคนอื่นเช่นในตลาดที่กำลังพัฒนามากกว่า   ประเด็นต่อมาก็คือ  ตลาดหุ้นที่วอลสตรีทนั้น  ผมคิดว่ามันเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก  นั่นก็คือ  ราคาหุ้นส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมีราคาที่เหมาะสม  เป็นเรื่องยากมากที่จะหาหุ้นราคาถูกซื้อแล้วกำไรงดงาม  การที่เราจะสามารถลงทุนแล้วทำผลตอบแทนดีกว่าตลาดหรือดัชนีในระยะยาวเป็นไปได้ยาก

    แต่คนก็มักจะสงสัยว่าสิ่งที่ผมพูดข้างต้นอาจจะไม่ถูกในโลก “ยุคใหม่”  เหตุผลก็คือ  คนที่ไปลงทุนซื้อหุ้นเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ในตลาดหุ้นนิวยอร์คเมื่อเร็ว ๆ  นี้หรือที่ทำมาแล้วหลาย ๆ ปี  ต่างก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ  ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นต่างก็ขึ้นไปสูงมากและว่าที่จริงมันก็สูงลิ่วมาเป็นสิบปีแล้ว  ดูเหมือนว่ามันไม่ใช่เรื่อง ฟลุ๊กหรือบังเอิญ  เพราะเทคโนโลยีจะเป็นเรื่องของชีวิตในอนาคตของคนทั้งโลก  การลงทุนถือหุ้นเหล่านั้นยาวนานน่าจะเป็นวิธีที่จะให้ผลตอบแทนสูงและมีความมั่นคงและมันเป็นการลงทุนตามหลักการของ Value Investing อย่างแน่นอน  คนที่ไม่ยอมลงทุนในหุ้นเหล่านั้นในที่สุดก็จะ  “แพ้”  เพราะหุ้น  “ยุคเก่า”  นั้น  นับวันจะถดถอยลงไปเรื่อย ๆ  แม้แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เองก็เริ่มลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี  เริ่มตั้งแต่ ไอบีเอ็ม  และล่าสุดก็คือหุ้นแอปเปิล

    ผมเองไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร  แต่เมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา  ผมได้อ่านงานวิจัยของ GOBankingRates ซึ่งแสดงผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นยักษ์ใหญ่ที่เป็น  “ซุปเปอร์สต็อก” ของตลาดหุ้นอเมริกาที่เราคุ้นเคยกว่าสิบบริษัท  เพื่อแสดงว่าถ้าเราซื้อหุ้นลงทุนย้อนหลังไป 10 ปี  เราจะได้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละกี่เปอร์เซ็นต์  ผมคิดว่าน่าสนใจและมันอาจจะเป็นบทเรียนที่ดีได้

    หุ้นตัวแรกก็คือ  หุ้นแอปเปิล  “สุดยอดหุ้น” ที่กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในวันนี้  ถ้าเราลงทุนซื้อหุ้นเมื่อสิบปีที่แล้วและถือมาจนถึงวันนี้  ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นของเราจะเท่ากับปีละ 24.32%  เงิน 1,000 เหรียญจะกลายเป็น 8,818 เหรียญ หรือเงินโตขึ้นเกือบ 9 เท่าในเวลา 10 ปี   นี่สำหรับผมแล้วก็เป็นเรื่อง Surprise! หรือความผิดคาด  เพราะผมเองเคยตั้งเกณฑ์ว่าหุ้นที่จะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก”  นั้น  จะต้องโตขึ้นอย่างน้อย 10 เท่าในเวลา 10 ปี หรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 26%   และก็เคยแสดงให้เห็นว่าในตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น  มีหุ้นแบบนี้กว่า 10 ตัว  ดังนั้น  ถ้าถือตามเกณฑ์นี้  หุ้นแอปเปิลก็ไม่ถึงจุดที่เป็นซุปเปอร์สต็อกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

    หุ้นตัวที่สองคือหุ้น NETFLIX ที่กำลังโด่งดังจากการให้บริการภาพยนตร์ซีรีผ่านโปรแกรม Streaming แบบบอกรับเป็นสมาชิก  ถ้าเราลงทุนเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่บริษัทยังเล็ก  เงิน 1,000 เหรียญจะกลายเป็น 69,835 เหรียญ หรือโตขึ้น เกือบ 70 เท่า  หรือคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นต่อปีถึง 52.9%  อย่างไรก็ตาม  คงเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับเราที่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักบริษัทเลยเมื่อ 10 ปีก่อนที่จะเข้าไปเลือกหุ้นตัวนี้ได้ถูกต้องเมื่อเทียบกับหุ้นแอปเปิลที่ดังมากแล้วตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน

    หุ้นตัวที่สามคือหุ้นกูเกิลที่หลายคนบอกว่าไม่มีใครทาบได้ในแง่ความสามารถในการแข่งขัน  10 ปีที่ผ่านมาเงิน 1,000 เหรียญโตขึ้นเป็นเพียง 2,940 เหรียญ ให้ผลตอบแทนเพียงปีละ 11.39% ซึ่งน่าจะน้อยยิ่งกว่าซื้อกองทุนรวมอิงดัชนีในตลาดหุ้นไทย  และนี่ก็คือการลงทุนในหุ้นที่มีขนาดใหญ่และโด่งดังมากจนคนรู้จักไปทั่วโลกแล้ว

    ตัวที่ 4 คือหุ้นวอลท์ดิสนีย์  หุ้นธุรกิจยุคเก่าที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมานาน  เงิน 1,000 เหรียญกลายเป็น 3,273 หรือให้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 12.59% นี่ก็เป็นผลงานที่น่าทึ่งมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบริษัทสื่อจำนวนมากที่ต้องล้มหายตายจากไป

    ตัวที่ห้าคือ โค๊ก  หุ้นหลักเก่าแก่ตัวหนึ่งของบัฟเฟตต์ที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นโตขึ้นจาก 1,000 เป็น 2,095 เหรียญ หรือให้ผลตอบแทนปีละแค่ 7.68% พอ ๆ กับดัชนีตลาดหุ้น S&P ของสหรัฐ  ดูเหมือนว่าโค๊กอาจจะกำลังกลายเป็น “อดีต” ซุปเปอร์สต็อกตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

    ตัวที่ 6 คือหุ้นวอลมาร์ท ที่กำลังต้องต่อสู้กับการถูก Disrupted หรือทำลายโดย E-Commerce  ช่วง 10 ปี เงิน 1,000 ที่ลงทุนในหุ้นวอลมาร์ท ก็ยังโตขึ้นเป็น 2,158 เหรียญ หรือได้ผลตอบแทนปีละ 8% แบบทบต้น  และนี่ก็อาจจะแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของอดีตซุปเปอร์สต็อกที่  “ตายยาก” หรืออาจจะตายอย่างช้า ๆ  มีเวลาให้คนขายหุ้นได้ทัน

    ตัวที่ 7 คือไมโครซอฟท์ “ยักษ์ดิจิตอล” ที่เก่าแก่ที่สุดตัวหนึ่ง  เงินลงทุน 1,000 เหรียญในช่วง 10 ปีโตขึ้นเป็น 2,893 เหรียญ ให้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 11.21%  ไม่โดดเด่นมากแต่ก็ไม่เลวนักสำหรับหุ้นยักษ์ที่คนถือแล้ว “สบายใจ” เพราะยังไงเสียไม่มีใครมาแทนวินโดว์ได้

    ตัวที่ 8 คือหุ้น ไนกี้  ที่เป็นหุ้น “ยุคเก่า” ที่นักลงทุน “New Gen” อาจจะเบือนหน้าหนีเมื่อ 10 ปีก่อน  แต่ถ้าลงทุน  เงิน 1,000 เหรียญจะกลายเป็น 4,091 เหรียญ หรือได้ผลตอบแทน  “สุดยอด” ถึงปีละ 15.13% แบบทบต้นเป็นเวลา 10 ปี

    ตัวที่ 9 คือหุ้น GE บริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่และ  “เปลี่ยนโลก”  เข้าสู่ยุคเครื่องใช้ไฟฟ้า  แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วถ้านักลงทุนคิดว่ามันจะ “กลับมา” ยิ่งใหญ่ หรือคิดว่าราคาหุ้น “ถูกมาก” พวกเขาก็คิดผิด  เพราะเงิน 1,000 เหรียญจะเหลือเพียง 857 เหรียญ ใน 10 ปี  หรือขาดทุนเฉลี่ยปีละ1.52%

    ตัวที่ 10 คือหุ้น อเมซอน ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกวันและกำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนจำนวนมากในโลก  เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่บริษัทกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่ขาดทุนอย่างหนักคงมี VI จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถจะลงทุนกับบริษัทที่มี Market Cap. สูงลิ่วแต่ไม่มีกำไรได้  แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผิด  เพราะ เงินลงทุน 1,000 เหรียญโตขึ้นเป็น 12,246 เหรียญ หรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 28.47% ใน 10 ปี  ถือว่าเป็นซุปเปอร์สต็อกอย่างสมบูรณ์

    ตัวที่ 11 คือหุ้นไฟเซอร์ หุ้นยาที่เป็นเมกาเทรนด์แห่งอนาคต  แต่ถ้าใครลงทุนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เงิน 1,000 เหรียญก็โตขึ้นเป็นเพียง 1,772 เหรียญ หรือให้ผลตอบแทนปีละ 5.89%  บางทีนี่อาจจะไม่ใช่บริษัทที่จะเป็นผู้ชนะในธุรกิจแห่งอนาคตก็เป็นได้ เหนือสิ่งอื่นใด  มันใหญ่มากอยู่แล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

    ตัวที่ 12 คือหุ้นแม็คโดนัลด์  หุ้นอาหารที่ดิจิตัลไม่สามารถทำลายมันได้ เงินลงทุน 1,000 เหรียญ เติบโตขึ้นเป็น 3,836 เหรียญ หรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 14.39% ในเวลา 10 ปี และนี่ก็คือหุ้นอาหารที่ให้ผลตอบแทนสูงและ  “ไม่เสี่ยง”  ในยุคดิจิตอล

    หุ้นตัวสุดท้ายก็คือหุ้นที่ไม่สนกระแสของดิจิตอลนั่นก็คือหุ้น สตาร์บักส์ ที่กลายเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ในสายตาของคนจำนวนมาก  จากสินค้าพื้น ๆ ที่ “ทุกคนทำได้”   เงิน 1,000 เหรียญที่ลงทุนกับบริษัทกลายเป็น 4,283 เหรียญ หรือให้ผลตอบแทนปีละ 15.66% ในเวลา 10 ปี

    ข้อสรุปที่เป็นภาพใหญ่ที่สุดของผมจากผลตอบแทนของ “หุ้นยักษ์” ในตลาดหุ้นอเมริกาก็คือ  มันไม่สามารถโตเร็วมากเท่ากับซุปเปอร์สต็อกในตลาดที่กำลังพัฒนาได้แม้ว่ามันกำลังจะ “ครองโลก”  ดังนั้น  หากจะลงทุนหุ้นซุปเปอร์สต็อกระดับโลกเพื่อหวังผลตอบแทนสูง ๆ    เราคงจะต้องรู้ก่อนที่บริษัทเหล่านั้นจะดังและใหญ่คับฟ้าแล้ว  อย่างเช่นหุ้น NETFLIX เมื่อ 10 ปีที่แล้ว  เป็นต้น

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-----------------------

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView