วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

หุ้นขึ้นเครื่องหมาย?

เล่นหุ้นมือใหม่ต้องรู้จักเครื่องหมายต่าง ๆ ที่มีในระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย ว่าแต่เครื่องหมายเหล่านี้หมายถึงอะไรกันนะ

มือใหม่หัดเล่นหุ้นอาจจะสงสัยว่า ทำไมบางวันมีหุ้นบางตัวขึ้นเครื่องหมายภาษาอังกฤษ เช่น XD XR XM H SP อยู่ข้างชื่อหุ้น แล้วเครื่องหมายเหล่านั้นคืออะไรล่ะ เกี่ยวกับเราไหม ถ้าอยากรู้ วันนี้ กระปุกดอทคอม จะพาไปรู้จักกับเครื่องหมายเหล่านี้ ซึ่งนักลงทุนมือใหม่ต้องเรียนรู้และจดจำให้ดีเลยค่ะ เพราะถ้าเป็นหุ้นที่เรามีอยู่ นั่นหมายถึงผลประโยชน์ที่เราจะได้หรือไม่ได้ด้วย

ก่อนอื่นมารู้จักกับเครื่องหมายตระกูล X กันก่อน เป็นเครื่องหมายที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แสดงไว้บนหลักทรัพย์นั้นเป็นเวลาล่วงหน้า 3 วันทำการก่อนวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหลักทรัพย์ ดังนั้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดเครื่องหมายประเภทดังกล่าวไว้บนหลักทรัพย์ใด หมายความว่า เราจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของหุ้นตัวนั้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมาย

แล้วทำไมถึงต้อง 3 วันทำการล่ะ? เหตุผลก็เพราะปกติเวลาเราส่งคำสั่งซื้อหุ้น เราจะต้องจ่ายเงินในวันทำการที่ 3 เมื่อเราจ่ายเงินแล้ว ชื่อของเราถึงจะปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้น นั่นจึงต้องขึ้นเครื่องหมายก่อนวันปิดสมุดทะเบียน 3 วันทำการนั่นเอง

ทีนี้มาดูกันว่า มีเครื่องหมายอะไรบ้าง แล้วแต่ละตัวหมายถึงอะไร

XD (Excluding Dividend) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล

XR (Excluding Right) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นออกใหม่

XW (Excluding Warrant) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์

XS (Excluding Short-term Warrant) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหลักทรัพย์ระยะสั้น

XT (Excluding Transferable Subscription Right) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ โอนสิทธิได้

XI (Excluding Interest) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับดอกเบี้ย

XP (Excluding Principal) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับเงินต้นที่บริษัทประกาศจ่ายคืนในคราวนั้น

XA (Excluding All Privileges) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิทุกประเภทที่บริษัทประกาศให้ในคราวนั้น

XM (Exclude Meetings) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น

XN (Exclude Capital Return) : ผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนทุน

เห็นแล้วอย่าเพิ่งงงไปค่ะ ถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือ หากเราอยากได้สิทธิประโยชน์ของหุ้นตัวนั้น เราจะต้องซื้อหุ้นก่อนวันที่จะขึ้นเครื่องหมายนั่นเอง เช่น หุ้น AAA ขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 หมายความว่า หากเราซื้อหุ้น AAA ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 เราจะไม่ได้รับเงินปันผลจากหุ้น AAA ในรอบนี้ แต่ถ้าเราต้องการเงินปันผล เราก็ต้องซื้อหุ้น AAA หรือมีหุ้น AAA ก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 นั่นเอง

ส่วนที่ว่าหุ้นตัวไหนจะขึ้นเครื่องหมายอะไร วันไหนบ้างนั้น สามารถตรวจสอบได้จาก ปฏิทินหลักทรัพย์ (ข้อมูลสิทธิประโยชน์) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เลย

นอกจากเครื่องหมายที่ขึ้นต้นด้วย X แล้ว ก็ยังมีเครื่องหมายอื่น ๆ อีกที่ต้องรู้ คือ

H ย่อมาจาก Trading Halt หมายถึงการหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว สาเหตุอาจเป็นเพราะมีข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น แต่ทางบริษัทยังไม่ได้แจ้งมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสั่งให้หยุดซื้อขายไว้ก่อน เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือกรณีที่มีข้อมูลบางอย่างอยู่ระหว่างรอการเปิดเผย หรือมีเหตุอื่นที่อาจกระทบต่อการซื้อขายอย่างร้ายแรง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องสั่งให้หยุดการซื้อขายไว้ก่อน

SP ย่อมาจาก Trading Suspension หมายถึง การห้ามซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราว เมื่อเกิดกรณีเช่นเดียวกับการขึ้นเครื่องหมาย H แต่บริษัทยังไม่สามารถชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ หรืออาจฝ่าฝืน ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ส่งงบการเงินให้ภายในเวลากำหนด ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อหยุดการซื้อขายหุ้นชั่วคราว

NP ย่อมาจาก Notice Pending หมายถึง บริษัทมีข้อมูลที่ต้องรายงานตลาดหลักทรัพย์และอยู่ในช่วงรอข้อมูลจากบริษัท

NR ย่อมาจาก Notice Received หมายถึง ตลาดหลักทรัพย์ได้รับการชี้แจงข้อมูลจากบริษัทนั้นแล้ว

NC ย่อมาจาก Non-Compliance หมายถึง บริษัทที่เข้าข่ายการถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์

ST ย่อมาจาก Stabilization หมายถึง หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการซื้อหุ้นเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกิน

ได้ทำความรู้จักกับสัญลักษณ์เหล่านี้ก็จดจำกันไว้นะคะ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนของเราโดยตรงเลย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เว็บไซต์ Kapook

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561

กองทุนหรือกองโจร?

ลูบคมตลาดทุน:ธนะชัย ณ นคร

เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า นักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนต่างๆ ทำตัวเสมือนเป็น “เจ้ามือ” อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

หุ้นหลายๆ ตัวที่ราคาขึ้นและลงหวือหวา หรือมีแรงเหวี่ยงค่อนข้างมาก

หุ้นเหล่านี้จะมีกองทุนเข้าไปถือหุ้นอยู่

เช่น EA-BEAUTY-COM7–MTLS และหุ้นอื่นๆ อีกหลายตัว

ที่น่าสนใจ คือ หุ้นที่กองทุนเข้ามาถือนั้น

พบว่าหลายๆ บริษัทมีค่าพี/อี เรโช ค่อนข้างสูงมาก หรือมีตั้งแต่กว่า 30 เท่า ไปถึงเกือบ 50 เท่า

และบางตัวก็มีพี/อีมากกว่านั้น

แม้จะมีการบอกว่าการลงทุนของกองทุนไม่ได้ดูเพียงแค่พี/อี

ทว่าจะให้ความสำคัญกับ PEG มากกว่า เพราะแม้พี/อีจะสูง (มาก) แต่แนวโน้มผลประกอบการยังเติบโตสูง และเป็นการลงทุนระยะยาว

ก่อนหน้านี้ เวลานักลงทุนรู้มาว่ากองทุนเข้าหุ้นตัวไหน ก็พยายามวิ่งเข้าไปซื้อ

ผ่านมาถึงตอนนี้ชักไม่แน่ใจเสียแล้วว่า หากวิ่งตามไปแล้วจะ “โดนเท” หรือไม่

และเป็นเรื่องที่นักลงทุนรายย่อยต่างต้องระมัดระวังและจับทิศทางกันเอง

เช่น หุ้น MTLS ราคาเคยขึ้นไปใกล้เต็มมูลค่า

วันดีคืนดีราคาร่วงลงมาอย่างหนัก

ต่อมามีผู้บริหารกองทุนออกมายอมรับว่าได้ขายหุ้นออกไป หลังจากมองว่าราคาเริ่มเต็มมูลค่า หรือเป็นการปรับพอร์ตตามปกติ

พร้อมกับพูดแบบหวานๆ ต่อมาว่าเมื่อราคาปรับลงมาก็อาจเข้าไปรับซื้ออีกครั้ง

แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ราคาหุ้น MTLS ปรับลงมาตลอด (ภาย) หลังมีข่าวเกี่ยวกับนโยบายของทางการที่จะเข้ามาควบคุมเรื่องอัตราดอกเบี้ย

เช่นเดียวกับหุ้นพลังงานไฟฟ้าบางตัว

ราคาเหมือนกับถูกดันขึ้นไปค่อนข้างสูง แล้วจู่ๆ หุ้นได้ถูกกองทุนเทขายออกมา ด้วยเหตุผลเหมือนกันว่า “ปรับพอร์ต” หรือขายทำกำไรตามปกติ

และยังตามด้วยคำพูดสวยๆ ว่าหุ้นนั้นๆ พื้นฐานยังดี และมีโอกาสก็จะเข้าซื้อภายหลัง

ต่อมาหุ้นตัวนั้น ราคายังคงปรับลงมาด้วยหลายปัจจัยและหนึ่งในนั้นคือมาจากนโยบายการรับซื้อไฟของทางการที่จะเปลี่ยนแปลงไป

มีการตั้งคำถามว่ากองทุนที่ขายหุ้นออกมาก่อนนั้น พวกเขารับรู้เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็น “ปัจจัยลบ” ก่อนหรือเปล่า

เรื่องนี้ตอบยากจริงๆ

เพราะหากมองแบบให้ยุติธรรมหน่อย ก็ต้องรับทราบกันว่า ทางกองทุนเขาจะมีทีมงานที่คอยดูปัจจัยบวกและลบอยู่ตลอดเวลา

อย่างเมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นไทยที่ปรับลงหนักๆ ก็ดูเหมือนว่ากองทุนอาจจะพอรับรู้กันล่วงหน้าแล้วว่า ตลาดหุ้นจะปรับฐานหรือร่วงลงอย่างแรง จึงทยอยขายหุ้นปรับพอร์ตกันไปแล้วบ้าง

ประเด็นเรื่องนักลงทุนประเภทสถาบัน (กองทุน) กับนักลงทุนรายย่อย จึงเป็นเรื่องของการ “ชิงไหวชิงพริบ”

ทุกวันนี้รายย่อยเองก็เก่งมากขึ้น และทำการบ้านมาดีมาก เอาชนะได้ทั้งฟันด์โฟลว์และกองทุน

และหลายๆ ครั้ง กลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็มักคล้ายๆ เทรดหุ้นแบบสงครามกองโจร

ปกติแล้ว การรบแบบสงครามกองโจร ฝ่ายที่นำมาใช้จะเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่า หรือมีกำลังน้อยกว่า

แต่หากฝ่ายที่แข็งแรงกว่า นำการสู้รบแบบกองโจรมาใช้ ก็ (อาจ) ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

เช่นเดียวกับกองทุนที่นำมาใช้ในเวลานี้

ตลาดหุ้นเป็นเรื่องของ Zero–Sum Game

มีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView