แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นักลงทุน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นักลงทุน แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

" New Normal ของการลงทุน "

คำว่าNormal” นั้น  เริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลายน่าจะหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจอเมริกาในปี 2008 ที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างแรงมากที่ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจลดต่ำลงมากและดูเหมือนว่ามันจะไม่สามารถกลับมาเติบโตเหมือนเดิมได้อีกต่อไป  กูรูทั้งหลายเชื่อว่า “ตัวเลขใหม่”  ที่ดู “ผิดปกติมาก”  เมื่อเทียบกับตัวเลขที่เคยเป็นนั้นจะกลายเป็น  “มาตรฐานใหม่”  และจะเป็น  “ตัวเลขปกติ” ที่จะดำเนินต่อไปในวันข้างหน้า  หลังจากนั้น  คำว่า New Normal ก็ถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ  อีกมาก  เหตุผลคงเป็นเพราะว่าในระยะหลัง ๆ  นี้  โลกได้เปลี่ยนแปลงไปเร็วและมาก  สิ่งใหม่ ๆ  ที่เกิดขึ้นได้ “ทำลาย” สิ่งเก่า ๆ  ที่เราคุ้นเคย  สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นครั้งเดียวอีกต่อไป  ดังนั้น  ในฐานะนักลงทุน  เราจะต้องตระหนักตลอดเวลามิฉะนั้นเราอาจจะหลงคิดว่า  “สิ่งที่เลวร้ายเดี๋ยวก็จะผ่านไป”  คำพูดคลาสสิกของเบน เกรแฮมที่ว่า  “This too shall past” อาจจะใช้ไม่ได้อีกแล้วในหลาย ๆ  เรื่อง  มาดูกันว่ามีอะไรที่จะเป็น New Normal ในตลาดหุ้นและการลงทุนของนักลงทุนไทย

    เรื่องแรกก็คือ  อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย  ถึงแม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้จะดูดีขึ้นมากในรอบน่าจะหลายปี  แต่ก็น่าจะเป็นการเติบโตจากอัตรา 3% ต้น ๆ  เป็น 3% ปลาย ๆ เป็นอย่างมาก  และผมคิดว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตกลับมาเกิน 4% ต่อปีเป็นเรื่องยาก  ไม่ต้องคิดถึงอัตรา 5% หรือ 7%  ที่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่า ๆ เคยคุ้นเคยและคิดว่ามันเป็นอัตราการเติบโตตาม  “ธรรมชาติ”  หรืออัตราเติบโตตามปกติของไทยมายาวนาน  เหตุผลก็เพราะว่าคนไทยแก่ตัวลงและขาดแคลนแรงงานซึ่งทำให้ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพหรือกำลังแรงงานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากนัก  ผมคิดว่า New Normal ของการเติบโตของไทยน่าจะอยู่ที่ 3-4% ก็หรูแล้ว  และนี่อาจจะทำให้ไทยไม่ใช่เศรษฐกิจที่ “โตเร็ว” อีกต่อไป

    การเติบโตของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมเองนั้น  ผมก็คิดว่าคงจะช้าลงตามเศรษฐกิจ  ในสมัยก่อนนั้น  การเติบโตของรายได้และ/หรือกำไร ที่ต่ำกว่า 10% นั้นถูกถือว่า “โตช้า”  บริษัทเหล่านั้นก็จะไม่ค่อยมีใครสนใจลงทุนแม้ว่าเศรษฐกิจเองก็โตแค่ 5-6%  ประเด็นก็คือ  ในยุคก่อนนั้น  บริษัทจดทะเบียนมักจะถูกมองว่าต้องโตเร็วกว่าเศรษฐกิจ   แต่ถ้าบริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นมีขนาดใหญ่มากจนเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจได้อย่างปัจจุบัน   ตามหลักการแล้ว  บริษัทจดทะเบียนก็ไม่น่าจะโตกว่าการโตของเศรษฐกิจบวกเงินเฟ้อ  และด้วยหลักการนี้  ในระยะยาวแล้ว  การเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมก็ไม่น่าจะโตไปกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจบวกเงินเฟ้อได้  ดังนั้น  ในความเห็นของผมก็คือ  กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่จะเป็น New Normal ก็คือ น่าจะโตประมาณ 5-10% ต่อปี  โดยที่บริษัทที่  “โตเร็ว” นั้น  น่าจะโตแค่หลัก 10% บวกลบ  ในขณะที่บริษัทที่โตปกตินั้นน่าจะอยู่ที่ 5% บวกลบ  บริษัทที่โตเร็วมากนั้นอาจจะได้ถึง 15% บวกลบ  ที่จะโตมากกว่านั้นน่าจะเป็นเฉพาะบริษัทที่เพิ่งเริ่มและยังเล็กมากเท่านั้น

    ผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยที่ผ่านมาในอดีต 42 ปี อยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้น  นั่นก็เป็นผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมน่าจะระดับต้น ๆ ของโลก  และก็น่าจะเกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจไทยในช่วงเดียวกันก็เติบโตดีในระดับต้น ๆ  ของโลกเช่นเดียวกัน  แต่ถ้าเศรษฐกิจไทยโตช้าลงมากในอนาคต  ตลาดหุ้นก็น่าจะโตหรือให้ผลตอบแทนต่อปีน้อยลง  ในความคิดผม  ตลาดหุ้นไทยน่าจะมี New Normal นั่นก็คือในอนาคตน่าจะให้ผลตอบแทนตามการเติบโตทางเศรษฐกิจบวกเงินเฟ้อที่ต่ำ  ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 7-8%  โดยตัวเลขที่ผมคิดว่าปลอดภัยก็คือ 5% ต่อปีในระยะยาว

    New Normal ของการลงทุนที่ผมคิดว่ากำลังจะเกิดขึ้นตามมาจากเรื่องของการโตช้าลงของตลาดหุ้นไทยก็คือ  การลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย  ปรากฏการณ์ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็คือ  นักลงทุนโดยเฉพาะที่ยังมีอายุน้อยกว่าต่างก็สนใจและเริ่มลงทุนในต่างประเทศทั้งในตลาดพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาและตลาดกำลังพัฒนาอย่างเวียตนาม   แม้แต่นักลงทุนสูงวัยและมีเงินมากกว่าต่างก็ลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนรวมทั้งที่เป็นพันธบัตรและหุ้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  การลงทุนในต่างประเทศจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติหรือเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับบางคนอีกต่อไป

    เช่นเดียวกับเรื่องของการลงทุนในต่างประเทศ  การลงทุนที่อาศัย Robot หรือหุ่นยนต์ก็อาจจะกำลังกลายเป็น  New Normal ด้วย  เหตุผลก็คือ  มันมีความสามารถและประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ   จริงอยู่  การให้หุ่นยนต์ทำเองทุกอย่างโดยอัตโนมัตินั้น  ยังคงมีน้อยในตลาดหุ้นไทย  แต่ผมคิดว่าการใช้ Robot ช่วยในการลงทุนอาจจะเป็นเรื่องปกติขึ้นเรื่อย ๆ  เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ  ต้นทุนของการใช้นั้นต่ำลงมาก  และในหลาย ๆ  สถานการณ์  การใช้ Robot ก็อาจจะทำได้ดีกว่าคน

    คุณภาพหรือความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมและบริษัทจดทะเบียนในระยะหลัง ๆ  นี้ผมก็คิดว่ามี  New Normal อยู่ไม่น้อยและเราจะต้องตระหนัก  มิฉะนั้นแล้วเราก็อาจจะวิเคราะห์ตามความคิดและความเชื่อเดิมซึ่งอาจจะทำให้ผิดพลาดได้  เหตุผลก็เพราะว่าเทคโนโลยีดิจิตอลพัฒนาขึ้นมาเร็วจนถึงจุดที่มันสามารถ Disrupt หรือทำลายวิธีการเดิม ๆ  อย่างรวดเร็วและทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ขึ้นมา  ตัวอย่างเช่น  ในธุรกิจสื่อเช่นทีวีนั้น  Old Normal หรือแนวความคิดเดิมก็คือมันเป็นธุรกิจที่ดีมาก  ดังนั้น  บริษัทที่ประสบความสำเร็จจะได้กำไรมากและมีค่า PE สูงมาก  แต่ New Normal  อาจจะเป็นว่า  ธุรกิจทีวีไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเยี่ยมอีกต่อไปแล้ว  ดังนั้น  กำไรก็อาจจะไม่สูงและค่า PE ของหุ้นก็อาจจะไม่สามารถสูงได้อีกต่อไปแม้ว่าจะเป็นช่องทีวีที่ประสบความสำเร็จ

    เรื่องของการใช้ชีวิตหรือการใช้เงินของคนไทยเองนั้น  ผมคิดว่าก็มี New Normal เกิดขึ้นมากและอาจจะส่งผลต่อการวิเคราะห์ในเรื่องของการลงทุน  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือเรื่องของการใช้เวลาซึ่งผมคิดว่าคนไทยใช้เวลาเพิ่มกับการ  “ดูหน้าจอแบบเคลื่อนที่” มากขึ้นมาก   ซึ่งก็มักจะตามมาด้วยการทำกิจกรรมต่อเนื่องเช่น  การสั่งสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตตั้งแต่อาหาร  เสื้อผ้า  เครื่องใช้  และเรียกรถรับจ้าง เป็นต้น  ผลกระทบตรง ๆ  ก็คือการที่คนดูทีวีและอ่านหนังสือเล่มน้อยลงมาก  ส่วนผลกระทบทางอ้อมนั้นก็มีมหาศาล  น่าเสียใจที่คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ  บริษัทต่างชาติที่ให้บริการดูหน้าจอและขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต  ส่วนคนที่เสียประโยชน์มากก็คือบริษัทท้องถิ่นไทยที่ถูกแย่งลูกค้าไปมากขึ้นเรื่อย ๆ

    มีเรื่องราวอีกมากมายที่เริ่มจะเกิดขึ้นแล้วในสังคมของประเทศที่พัฒนาสูงและผมเชื่อว่าในที่สุดมันก็จะมาถึงประเทศไทย  ตัวอย่างเช่น  การใช้รถไฟฟ้าแทนรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน  ประเด็นเหล่านี้เราจะต้องพิจารณาว่า  “เมื่อไร”  และใช้เวลานานแค่ไหนที่มันจะกลายเป็น New Normal  ในสังคมหรือตลาดไทย  ถ้าเราจะลงทุนหรือเลิกลงทุนขายหุ้นที่เกี่ยวข้องทิ้งเราจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง   ประเด็นที่ผมต้องเตือนก็คือ  อย่าไปคิดว่า  “เมืองไทยหรือคนไทยไม่เหมือนคนอื่น”  โลกในสมัยนี้เป็นหนึ่งเดียว  เราอาจจะไม่เหมือนหรือไม่พยายามเหมือนหรือทำแบบคนอื่นได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ  แต่ในระยะยาวแล้ว  เป็นไปไม่ได้ New Normal ก็คือ  คนในโลกจะมีวิถีชีวิตและพฤติกรรมเหมือนกันทุกประเทศตามฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
-------------

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การลงทุนเกมน่าเบื่อ

'การลงทุน-เกมน่าเบื่อ'

เวลาพูดถึงเรื่องของการลงทุน  คนทั่วไปรวมถึงนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นที่ยังเป็นมือใหม่มักจะคิดถึงกิจกรรมหรือการเล่นที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ  เป็นกิจกรรมที่ “ดุเดือดเลือดพล่าน” ที่นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นต้องมีไหวพริบและกลยุทธ์หรือกลเม็ดเด็ดพรายรอบตัวที่เหนือกว่าคนอื่น  นอกจากนั้น  พวกเขาก็ยังต้องมีความรวดเร็วตัดสินใจเด็ดขาดได้แบบนาทีต่อนาที  จิตใจต้องเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว  บางทีก็ต้องพร้อมที่จะ “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต”  บางครั้งก็สามารถ “ทุ่มสุดตัว”  ได้ทันทีเมื่อ  “โอกาสมาถึง”   เรื่องราวหรือ Story ของการลงทุนแต่ละครั้งของนักลงทุนแต่ละคนโดยเฉพาะที่เป็น  “เซียน”  ดูมีสีสันน่าตื่นเต้น  บางครั้งทำกำไรมโหฬารในเวลาอันสั้น  บางคนก็พลาดเสียหายหนัก  ทั้งหมดนั้นดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของฝีมือและ/หรือโชคบ้าง  เกมของการลงทุนนั้นดูเหมือนไม่มีใครคิดว่าน่าเบื่อเลย  คนคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนุกและคนจำนวนมากอยากทำ  อยากเลือกหุ้นลงทุน  สนุกกับการ  “ลุ้น” ว่าหุ้นจะขึ้นไปแค่ไหนและจะได้กำไรเท่าไร

    แต่ความเป็นจริงก็คือ  ภาพที่เห็นอาจจะไมตรงกับความเป็นจริง  ความน่าตื่นเต้นเร้าใจอาจจะไม่ได้แปลงออกมาเป็นผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน  คนลงทุนที่ตื่นเต้นและสนุกกับการลงทุนอาจจะแพ้คนที่ลงทุนแบบน่าเบื่อหน่าย  เซียนหุ้นที่ดูน่าตื่นเต้นมีเรื่องราวการลงทุนที่โดดเด่นน่าติดตามมากกรณีนั้นอาจจะแพ้เซียนที่ดูเงียบเหงาน่าเบื่อหน่ายไม่เคยมี “หุ้นเด็ด” ที่ลงแล้ว “เปลี่ยนชีวิต” ภายในปีสองปีหรือน้อยกว่านั้น  ประวัติศาสตร์ของการลงทุนและนักลงทุนนั้นบอกให้เรารู้ว่า  การลงทุนนั้นเป็นเกมที่เชื่องช้าน่าเบื่อ  วอเร็น บัฟเฟตต์ บอกว่าเหมือนตัวสล็อตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เคลื่อนไหวช้าที่สุดในโลก  ผมเองคิดว่ามันเป็นเรื่องของเต่าที่เดินช้าแต่มีกระดองที่ไม่มีใครทำอะไรมันได้   ถ้าเปรียบเทียบกับสงคราม  มันคือสงครามยืดเยื้อที่น่าเบื่อหน่ายไม่ใช่สงครามสายฟ้าแล็บ  ถ้าเปรียบกับการแข่งขันกีฬามันก็เป็นการแข่งวิ่งมาราธอนไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร  มันไม่ตื่นเต้นยกเว้นเฉพาะตอนได้ชัยชนะหรือถึงเส้นชัย  แต่ในระหว่างทางนั้นบางทีก็มีแต่อุปสรรค  หลายครั้งเราหมดหวัง  ความอดทนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรายังอยู่ในสนามหรืออยู่ในเกม    การ  “เอาตัวรอด” เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่ง  กลยุทธ์ส่วนใหญ่ที่เราใช้ก็เป็นไปตามนั้น  ไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้นในระหว่างทางที่ยาวไกล

    เรื่องราวของวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นดูมีสีสันและน่าตื่นเต้น  คนอาจจะคิดว่านี่คือสิ่งที่บอกว่าเกมการลงทุนเป็นเกมที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ  แต่นี่เกิดขึ้นเพราะเขารวยมากแล้วและดังระดับโลกเพราะผลงานที่สะสมมานานจนเป็นที่ประจักษ์   แต่ถ้าดูผลงานการลงทุนเฉพาะตัวหุ้นหรือผลงานของพอร์ตของเขาเราก็อาจจะได้เห็นอีกภาพหนึ่งว่าจริง ๆ  แล้ว  หุ้นที่เขาลงและผลงานของพอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้น  ไม่ได้หวือหวาอย่างเซียนในระดับเดียวกันเลย  หุ้นแต่ละตัวที่เขาลงทุนนั้นดูธรรมดามาก  เป็นหุ้นเก่า ๆ  ที่อยู่มานานมีคนซื้อขายกันจนไม่มีอะไรน่าสนใจแล้ว  ราคาหุ้นก็ไม่ได้หวือหวาอะไรเลยก่อนหน้านั้นรวมทั้งผลประกอบการของบริษัทเองก็เป็นแบบเดียวกัน   ตัวอย่างเช่นหุ้นโค๊ก หุ้นใบมีดโกนยิลเล็ต  หุ้นซอสมะเขือเทศไฮนน์ ที่เขาซื้อหลังจากที่บริษัทอยู่มาหลายสิบปีและกิจการก็โตมาจนน่าจะ  “อิ่มตัว”  แล้วในสายตาของคนทั่วไป  เป็นต้น

    หุ้นที่บัฟเฟตต์ซื้อเองนั้น  ก่อนที่เขาจะดังระเบิดอย่างในวันนี้  ราคาหุ้นก็มักจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นหวือหวา  และในเวลาต่อมามันก็ไม่เคยปรับตัวขึ้นรุนแรงกลายเป็นหุ้น “ขวัญใจ”  ที่ทุกคนหันมาเล่นกันและราคาขึ้นเป็นเท่า ๆ  หรือหลาย ๆ เท่าในเวลาอันสั้น  หุ้นที่เขาซื้อนั้นมักจะขึ้นไปเรื่อย ๆ  ช้า ๆ  แต่ไม่ค่อยลงเพราะมันเป็นกิจการที่เข้มแข็งมีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งอย่างยั่งยืน  ดังนั้น  กำไรมันมั่นคงแน่นอนซึ่งทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้ในเกือบทุกสถานการณ์  เวลาผ่านไปยิ่งนาน  ราคาก็ยิ่งขึ้นไป  พอถึงวันหนึ่งคนค่อยตระหนักว่ามันคือหุ้น “สุดยอด”  ที่ไม่เคยดังจริง ๆ  เลย  ไม่เคยขึ้นหวือหวาและคนกล่าวขวัญถึง  คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดจะซื้อในระหว่างทางเพราะมันดูนิ่ง ๆ  ไม่น่าสนใจไม่มีเรื่องราวโดดเด่น  นี่คือหุ้นน่าเบื่อแต่มันทำเงินในระยะยาว  “ที่เส้นชัย”

    พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้น  ดูน่าประทับใจมาก  แต่นี่เกิดขึ้นหลังจากเวลาผ่านมานานมากหลายสิบปี  ในระหว่างทางนั้นมันก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไรนัก  แต่ละปีมีหุ้นน้อยตัวในพอร์ตที่วิ่งขึ้นเป็น “กระทิงดุ”  ดังนั้นมันจึงไม่มีข่าวอะไรที่มีสีสันเหมือนกับเซียนคนอื่น ๆ  หลายคน  ผลงานการลงทุนของพอร์ตของบัฟเฟตต์ที่น่าสนใจแต่ไม่น่าตื่นเต้นก็คือ  เขาไม่ค่อยจะขาดทุนเลยไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร  ประมาณ 60 ปีที่ผ่านมาพอร์ตของเขาน่าจะขาดทุนไม่เกิน 6 ครั้ง  เช่นเดียวกัน  การเติบโตของพอร์ตของเขาปีต่อปีก็สูงแต่ไม่น่าตื่นเต้นที่ประมาณ 20% บวกลบ แต่แทบจะไม่มีเลยที่พอร์ตจะกำไรเกิน 50% ต่อปี

    เวลาจะซื้อหุ้นหรือเทคโอเวอร์บริษัทเองนั้น  สำหรับบัฟเฟตต์เองก็ดูเหมือนว่ามันไม่ได้ดูตื่นเต้นอะไร  เขานั่งทำงานอยู่ในออฟฟิสตั้งแต่เช้ายันเย็นเป็นส่วนใหญ่  ใช้เวลากับการอ่านเป็นหลัก  เขาไม่เคยดิ้นรนวิ่งไปหาผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการเพื่อหาข้อมูลลึกแนว  Inside หรือขอซื้อหุ้นหรือกิจการในราคาพิเศษ  เขา “รอ”  ไปเรื่อย ๆ  รอให้มีคนเสนอขายกิจการหรือรอให้หุ้นที่เขาสนใจมีราคาที่เหมาะสมแล้วก็ตัดสินใจลงมือทำ  เขาไม่เสนอตัวไปแข่งกับใครหรือพยายามเข้าไปคุยหาดีลกับบริษัท  ดังนั้นเขาจึงค่อนข้างจะมีเวลาว่างมากกว่าทรัพย์สินหรือสถานะของเขามาก  ชีวิตประจำวันของเขานั้น  แม้ว่าส่วนตัวเขาเองจะคิดว่าไม่เป็นชีวิตที่น่าเบื่อเพราะเขาบอกว่าเขารักงานของเขาและมีความสุขทุกวันที่ไปทำงาน  แต่มองจากภายนอกแล้ว  เราคงรู้สึกว่า  “น่าเบื่อ”  เพราะวัน ๆ  ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้ทำอะไรนัก

    ประสบการณ์ของผมจากการศึกษานักลงทุนที่เป็นหรือเคยเป็น “เซียน”  ทั้งในระดับโลกและในตลาดหุ้นไทยผมคิดว่ามีบทเรียนที่น่าสนใจก็คือ  นักลงทุนส่วนใหญ่และคนในแวดวงตลาดหุ้นต่างก็ชอบลงทุนหรือเล่นหุ้นที่น่าตื่นเต้น  เป็นหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ๆ  ทั้งในเรื่องของพื้นฐานของกิจการและราคาหุ้น  พวกเขาจะเชียร์กันสนั่นเมื่อมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์หรือมีคุณสมบัติดังกล่าว  และก็จะเข้ามาซื้อขายหุ้นหรือลงทุนอย่างหนัก  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  “ขาใหญ่” ที่เข้าไปโหมซื้อจนมีสถานะเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่”  เมื่อมีการประกาศในข้อมูลของบริษัทเขาก็จะได้รับการสรรเสริญชื่นชมว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นได้ดีเด่นและ “ทำกำไร”  เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปแรง  จากนั้นก็อาจจะมีคนซื้อตามและส่งเสริมให้หุ้นได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น  คนจำนวนมากที่เข้าไปซื้อก่อนหน้านั้นได้กำไรและก็รู้สึกถึงความตื่นเต้นและพึงพอใจ   เวลาต่อมาหุ้นตัวนั้นก็อาจจะตกลงมาแรงเมื่อผลประกอบการอาจจะไม่ดีตามที่คาด  หรือบางทีก็อาจจะดีแต่ราคาหุ้นแพงเกินพื้นฐานไปมากทำให้นักลงทุนบางส่วนรวมถึงรายใหญ่อาจจะขายหุ้นทิ้งทำให้ราคาลดลงมามาก  คนจำนวนมากที่เข้าไปทีหลังขาดทุนอย่างหนัก  บางครั้งนักลงทุนรายใหญ่ก็ขาดทุนเช่นกันหาก “ปล่อยของ” ไม่ทัน   โดยรวมแล้วคนที่กำไรและคนที่ขาดทุนอาจจะพอ ๆ  กันหรือแตกต่างกันก็ได้แต่คนที่ขาดทุนมักไม่พูดแต่คนที่กำไรพูดไปแล้วทั้ง ๆ  ที่ต่อมาอาจจะขาดทุนทีหลัง

    ผมเองเห็นคนที่ทำผลงานเป็นกรณี ๆ  หรือหุ้นเป็นตัว ๆ  ได้น่าประทับใจอยู่พอสมควร  ซึ่งก็เกิดความรู้สึกว่ากำไรของพอร์ตโดยรวมน่าจะดีมาก—ทุกปี  อย่างไรก็ตาม  เวลาผ่านไปหลาย ๆ  ปี  ผมเองก็ไม่ได้เห็นว่าเขาเหล่านั้นมีผลการลงทุนแบบทบต้นที่โดดเด่นมาก ๆ  อย่างที่คิด  แน่นอนว่าคนที่ลงทุนหรือแม้แต่เก็งกำไรแบบ Aggressive ในช่วง  “ยุคทอง”  ที่ผ่านมาต่างก็รวยในระดับหนึ่งทั้งนั้น  แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาก็ไม่ได้ทำได้เหนือกว่านักลงทุนที่ “ลงทุนเต็มร้อย”  แบบ  “น่าเบื่อ”  เช่นเดียวกัน  ดังนั้น  ผมจึงสรุปโดยอาศัยประสบการณ์การอ่านจากต่างประเทศว่า  การลงทุนแบบที่รู้สึกว่า “น่าเบื่อ”  นั้น  ดีกว่าการลงทุนที่รู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลา

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
--------------------

วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แนวทางการลงทุนแต่ละคนไม่เหมือนกัน?

Irwin Duran นักลงทุนท้องถิ่นไม่มีชื่อเสียง แต่เป็นนักลงทุนพันธ์แท้ใช้ชิวิตแบบสมถะ บริจาคเงินแบบเงียบๆ ให้แก่บ้านเกิด เมื่อง Leesburg, Virginia มากกว่า USD30 Million  เขามีเงินมากกว่า 17,000 ล้านบาท แต่ไม่เป็นที่รู้จักแม้แต่คนในเมืองนั้น ความรำ่รวยของเขามาจากการลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก (หุ้นเติบโตที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนัก) และทำกำไรมหาศาลเมื่อบริษัทที่ลงทุนกลายเป็นหุ้นขนาดกลาง (จงให้ความสำคัญแก่ Market Cap เมื่อลงทุนระยะปานกลางและยาว)   กลยุทธในการลงทุน

1. ลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก แต่ละหุ้นถือไม่น้อยกว่า 3-5 ปี ขายเมื่อบริษัทเติบโตถึงจุดหนึ่งที่ผ่านช่วงขาขึ้นมาแล้ว  2. ลงทุนเฉพาะบริษัทที่เขารู้จักและเข้าธุรกิจเป็นอย่างดี แต่ละตัวลงทุนด้วยปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้จะต้องเข้าใจบริษัทที่ลงทุนอย่างลึกซึ้ง 3. ลงทุนแบบไม่สนใจภาวะตลาด ไม่เก็งว่าตลาดจะขึ้นหรือลง สนใจเฉพาะปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่ลงทุน เมื่อราคาหุ้นตกลงโดยไม่มีเหตุผลจะถือเป็นโอกาสให้ลงทุน 4. เมื่อลงทุนผิดพลาด พื้นฐานเปลี่ยน จะขายทิ้งทันที ส่วนหุ้นที่ลงทุนไปแล้วผลการดำเนินงานดีขึ้นเรื่อยๆ ตามคาดจะถูกเก็บไว้ยาวนาน หลายตัวกำไรเป็นสิบเท่าก็ยังไม่ขาย (หุ้นเติบโตที่ดีมักเริ่มต้นจากฐานกำไรที่ต่ำ กำไรค่อยๆ ขยับขึ้นตามแหล่งที่มาของกำไรที่ขยายฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนแบ่งตลาดค่อยๆเพิ่ม ขณะที่ค่าใช้จ่ายคงที่ หรือลดลง)  5.ให้ความสำคัญต่อการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน การผึกฝน และ ประสบการณ์ในการลงทุนมีความสำคัญ โดยที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องฉลาด หรือ เก่งคำนวณ แต่จำเป็นต้องเข้าใจธุรกิจ และ มองแนวโน้มของการเติบโตในระยะยาวว่ากำไรส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้จากธุรกิจส่วนไหน

นักลงทุนปกติจะกลัวมาก กับ สภาพตลาดหุ้น 2 ลักษณะ:- 1. กลัวว่าดัชนีจะตกต่ำลง และ หุ้นที่เข้าไปลงทุนจะตกตามไปด้วย  ถ้าพอมีกำไรก็รีบชิงขาย กะว่าเมื่อขายไปแล้วจะกลับมาช้อนกลับ  ถ้าเราได้ยินนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นจะตกต่ำลง โอกาสตกจริงๆจะมีเพียง 50% ทำนองเดียวกันถ้าคาดการณ์ว่าจะวิ่งขึ้นไป 200 จุดในปีนี้ โอกาสที่มันจะขึ้นไปอย่างนั้นจริงๆคงมีน้อยกว่า 50% สรุป กลยุทธของเราคือ เราไม่ได้ซื้อดัชนี เราซื้อตัวหุ้น  ถ้าตลาดตกจะเป็นผลดีที่จะซื้อหุ้นที่อยู่ใน Watch List ของเราในราคาถูกลง

2. เราจะกลัวหุ้นที่มีราคาสูง ส่วนใหญ่คิดว่าหุ้นคงเหมือนกับต้นไม้ คือ ถ้าสูงแล้วจะสูงไปอีกไม่ได้มาก  ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิทยาโดยแท้ ในความเป็นจริงราคาหุ้นจะขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว เมื่อเราสามารถซื้อไม้แรกได้ในราคาต่ำแล้ว  ทำไมเราจะขายออกและหวังช้อนกลับ ในเมื่อความจริงทุกครั้งเราจะซื้อกลับน้อยลงเรื่อยๆ    หุ้นเติบโตที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนัก มักจะมีกำไรที่เติบโตไม่มากในช่วงแรก มันจะเร่งทะยานเมื่อถึงจุดหนึ่ง ที่กำไรจะโตแบบก้าวกระโดด ตามแหล่งที่มาของรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากธุรกิจเดิม และ ธุรกิจใหม่ (ให้ความสำคัญต่อ Demand Trend ของแหล่งธุรกิจ)

Cr:line


ภาพคลิปไม่เกี่ยวกะเนื้อเรื่อง..เด็กทาแป้งเองคับ5555


cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView