วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แพะรับบาป

นิทานการตลาด ตอนที่ 29



ก่อนที่ทุกท่านจะได้เรียนรู้ว่าการเตรียมตัวสู้กับช้างนั้นจะต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง วันนี้ผมขอขั้นเวลาด้วยการเล่าให้ฟังเรื่อง “แพะรับบาป” ก่อนดีกว่านะครับ เพราะว่าใครๆ ถ้าจับตัวผู้ร้ายตัวจริงไม่ได้ ก็ชอบยกความผิดให้กับแพะกันอยู่บ่อย ทั้งๆ ที่แพะไม่ได้มารู้อีโหน่อีเหน่กับเราด้วยเลยแม้แต่น้อย

วันนี้ผมจะนำเสนอยุคที่ธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติต้องกลายเป็นแพะรับบาป ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีความผิดอะไรมากมายจนถึงกับต้องถูกต่อต้านจากชุมชนชาวไทยกันรุนแรง ลองมองย้อนไปเมื่อราวปี 2540 ในยุคที่รัฐบาลไทยประกาศลอยค่าเงินบาท และทำให้ค่าเงินบาทของไทยมีค่าต่ำลงไปตั้งครึ่ง ตอนนั้นเงิน 1 เหรียญ มีค่าเท่ากับเงินไทยเกือบ 50 บาท ถ้าหากเราจะไม่คิดแบบเห็นแก่ตัวเกินไป เราควรฟังความจริงอีกด้านหนึ่งว่า ก่อนที่จะมีการประกาศลอยค่าเงินบาทไม่กี่ปี ได้มีนักลงทุนชาวไทยจำนวนไม่น้อย ที่นิยมไปกู้เงินต่างประเทศมาขยายกิจการของตัวเองกันอย่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ของคนไทยหลายรายก็ไปกู้กันมาไม่น้อย

เมื่อมีประกาศลอยค่าเงินบาท นักธุรกิจไทยที่กู้เงินนอกเข้ามาขยายกิจการก็ล้มทั้งยืน เพราะเงินที่กู้มาเท่าไหร่ก็ตาม กลายเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทันที ยังไม่นับรวมภาระดอกเบี้ยอีกไม่น้อย ในปีนั้นนักธุรกิจไทยรายใหญ่ล้มหายตายจากกันไปไม่น้อย และในจังหวะเดียวกันนั้นเอง ที่ธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติได้เริ่มเข้ามาเทคโอเว่อร์ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทยกันไปหลายแห่ง เพราะเหมือนได้ซื้อธุรกิจเพียงครึ่งราคาเท่านั้น และเมื่อเหตุการณ์ทั้งสองอย่างมาบรรจบเข้าด้วยกัน กลุ่มธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติก็เลยกลายเป็น “แพะรับบาป” ที่ถูกมองว่าเป็นผู้เข้ามารุกรานการค้าปลีกของคนไทยไปเสียสิ้น

ส่วนจะกลับมามองธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ที่มีร้านขนาดเล็กๆ อย่าง 7-ELEVEN ก็ต้องกลายเป็นแพะรับบาปไปด้วยเหมือนกัน ที่ถูกสังคมไทยในยุคนั้นมองว่า เป็นผู้ทำลายร้านโชวห่วยในประเทศไทยให้ปิดตัวลงไปนับแสนราย ซึ่งถ้าหากจะพูดกันดีๆ ด้วยเหตุผล ก็จะเห็นได้ว่าในปี 2544 ประเทศไทยมีร้าน 7-ELEVEN เพียง 1,200 สาขาเศษๆ เท่านั้น มันจะมีอิทธิพลอะไรไปทำให้ร้านโชวห่วยต้องปิดตัวไปนับแสนรายได้ ยิ่งมาดูวันนี้ ที่กาลเวลาได้ผ่านมาอีก 10 ปีเต็ม แม้ว่า 7-ELEVEN จะประกาศตัวว่ามีสาขามากถึง 7 พันสาขาแล้ว แต่ลองมาดูข้อมูลด้านโชวห่วยกันบ้างว่า ในความจริงแล้วร้านโขวห่วยได้ขยายตัวมากยิ่งกว่า 7-ELEVEN อย่างเทียบกันไม่ติด

ถ้าหากยังไม่เชื่อผมก็ลองนึกกันง่ายๆ ว่าตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ได้มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นนับพันแห่ง ได้มีอพาร์ทม้นท์และหอพักต่างๆ เกิดขึ้นทั่วทุกระแหง และความจริงข้อหนึ่งก็คือ คอนโดมิเนียมและอพาร์ทเม้นท์หอพักทุกแห่ง ได้มีร้านของชำขนาดเล็กเปิดให้บริการด้วยทุกแห่ง และเฉพาะในกรุงเทพมหานครอย่างเดียว นับจำนวนเบื้องต้นได้หลายพันแห่งเลยทีเดียว ซึ่งยังไม่นับในเมืองใหญ่ต่างๆ ของไทยที่ธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กได้เปิดให้บริการมากมายจนน่าตกใจ ยิ่งผสมโรงกับภาวะการณ์แข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ จนทำให้ธุรกิจหลายรายที่อ่อนแอกว่า ต้องปิดตัวลงและส่งผลให้เกิดภาวะคนตกงานไม่น้อย ซึ่งประเด็นคนตกงานนี้ ก็ทำให้คนจำนวนหนึ่งได้หันไปเปิดร้านขายของชำเล็กๆ ขึ้นเป็นของตัวเองอีกไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ลองมามองอะไรแบบชาวบ้านๆ ลองคิดดูว่าร้าน 7-ELEVEN แต่ละสาขาน่าจะต้องเสียค่าเช่าเดือนละเท่าไหร่ ผมขอสมมุติว่าเดือนละ 50,000 บาท แล้วก็คิดต่ออีกว่าร้าน 7-ELEVEN เขาต้องมีพนักงานราวๆ สาขาละ 10 คน เงินเดือนรวมกันก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 80,000-100,000 บาท แล้วอีกประเด็นคือค่าไฟฟ้าที่ต้องเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ก็ต้องเสียค่าไฟฟ้าอีกอย่างน้อยราวๆ 40,000-50,000 บาทต่อเดือน นี่คิดเฉพาะแค่รายได้ที่จำเป็น 3 รายการเท่านั้น ยังไม่ได้ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย สรุปๆ ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 200,000 บาทต่อสาขาต่อเดือน แล้วก็มาทบทวนดูว่า กว่าที่เราจะขายสินค้าได้กำไรมากถึง 200,000 บาทเพื่อให้มีกำไรมากพอจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้นั้น มันต้องขายสินค้ากันเดือนละกี่บาท ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าถ้าขายได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อสาขาต่อเดือน ก็น่าจะเอาตัวรอดอยาก ซึ่งด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ธุรกิจ 7-ELEVEN จำเป็นต้อปรับตัวเองด้วยการเปลี่ยนจากธุรกิจร้านค้าปลีกแบบสะดวกซื้อ กลายเป็น “ร้านอิ่มสะดวก” ซึ่งหมายถึงมุ่งเน้นการขายสินค้ากลุ่มอาหารที่มีกำไรสูงนั่นเอง

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ คนชอบสรุปและคิดกันว่า เพราะธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์ใหญ่มีอำนาจในการต่อรองสูง ทำให้สามารถสั่งซื้อสินค้าที่มีต้นทุนต่ำมากกว่า ทำให้ร้านโชวห่วยที่เป็นร้านเล็กๆ และไม่มีอำนาจต่อรองก็ต้องพ่ายแพ้ไป แต่ผมก็ขอให้ทุกท่านได้มามองด้วยเหตุผลว่า ต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่าตามอำนาจการต่อรองที่สูงกว่านั้น มันยังเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย แต่ต้นทุนในการจัดการธุรกิจที่สูงกว่าชนิดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเลย ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากกว่า เช่น ค่าเช่า ค่าไฟฟ้า และค่าเงินเดือนพนักงานที่สูงริบลิ่วนั่นเอง

แต่เมื่อกลับมาดูธุรกิจร้านโชวห่วย ผมมั่นใจว่าต่อให้ยอดขายทั้งเดือนมีเพียง 200,000 บาท ก็สามารถทำกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาทต่อเดือนได้อย่างแน่นอน เพราะโครงสร้างกำไรของร้านโชวห่วยโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นของราคาสินค้าเป็นปกติ แต่ทั้งนี้การที่จะทำให้โชวห่วยสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคงก็ต้องมีการปรับตัว และวางรูปแบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ด้วย ที่มุ่งเน้นความสะดวกซื้อมากขึ้นๆ ตลอดเวลา

คราวนี้มาลองตั้งคำถามว่า..ทำไมร้าน 7-ELEVEN จึงสามารถขยายสาขาได้มากมายเกินกว่า 7 พันสาขา และทำไม เทสโก้-โลตัส และบิ๊กซี จึงสาขาขยายสาขาไปทั่วประเทศไทย คำตอบง่ายๆ ก็คือเพราะคนไทยจำนวนมหาศาล นิยมเข้าไปใช้บริการ เนื่องจากความสะดวกสบาย และราคาที่เขาจำหน่ายเป็นที่น่าพอใจ และคำว่า “ราคาน่าพอใจ” ผมก็ขอให้เข้าใจตรงกันว่าไม่ใช่หมายถึง “ราคาถูกกว่าหรือต่ำกว่า” แต่บางทีคนตัดสินใจซื้อเพราะ “สะดวกกว่า” ไม่ใช่เพราะ “ราคาต่ำกว่า” นั่นเอง ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนก็คือร้าน 7-ELEVEN ที่จำหน่ายสินค้าหลายอย่างราคาสูงกว่าร้านโชวห่วยอย่างเห็นได้ชัด แต่ร้าน 7-ELEVEN ก็ยังสามารถขายสินค้าได้ดีทั้งๆ ที่ราคาขายสูงกว่า เพราะคนรุ่นใหม่มักตัดสินค้าซื้อด้วยเหตุผลความสะดวกสบายในการซื้อมากกว่าเพราะราคาที่ต่ำกว่าจึงซื้อ

หากเราเลิกคิดที่จะหา “แพะในวงการค้าปลีก” แล้วเราเอาเวลามาเรียนรู้ มาศึกษาว่าธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติเขามีอะไรดี แล้วมานั่งวิเคราะห์ว่าธุรกิจค้าปลีกของคนไทยมีอะไรด้อย แล้วพยายามศึกษาค้นคว้าหาโอกาสที่จะให้ธุรกิจของตัวเองมีจุดขายที่แตกต่าง พัฒนาในด้านที่ควรพัฒนา ปรับปรุงในสิ่งที่ต้องปรับปรุง แล้วนำจุดแข็งของธุรกิจค้าปลีกไทยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และเมื่อนั้นธุรกิจค้าปลีกไทยก็ไม่มีวันล่มสลาย ผมขอรับปากว่า..ตอนต่อไปผมจะนำเสนอถึงวิธีการปรับปรุงกิจการร้านค้าปลีกของคนไทย เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกไทยสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงต่อไปนะครับ


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล
เขียนเมื่อ วันพฤหัสที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วีรบุรุษโชวห่วย

นิทานการตลาด ตอนที่ 28



ในปี 2545 ขณะที่ผมบรรยายพิเศษ ในฐานะตัวเองเป็นหัวหน้าทีม โครงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทย กระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การบริหารร้านค้าปลีกยุคใหม่ ให้กับเจ้าของธุรกิจโชวห่วย มากกว่า 500 คน ในห้องประชุมใหญ่ โรงแรมลายทอง จังหวัดอุบลราชธานี เหตุการณ์ในวันนั้น มีนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ธุรกิจจากกรุงเทพมหานครหลายรายเข้าร่วมในงานสัมมนาวันนั้นด้วย ในวันนั้นมีหนังข่าวหลายท่าน บันทึกข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าผมคือ “วีรบุรุษโชวห่วย” ตัวจริง

ตอนนั้นรู้สึกขำตัวเองที่ได้รับตำแหน่งที่ฟังดูแปลกๆ ทะแม่งๆ ยังไงพิกล แต่ในขณะเดียวกันนั้น ผมก็แอบรู้สึกปลื้มใจไม่น้อย ที่ผมสามารถนำประสบการณ์ตรงกว่า 10 ปีเต็มจากการเป็นผู้บริหารในธุรกิจ 7-ELEVEN มาปรับปรุงและนำมาถ่ายทอดให้ความรู้กับเจ้าของธุรกิจโชวห่วยได้ทั้งประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับกันอย่างมาก เพราะวิธีคิดที่ผมนำมาเสนอให้ความรู้แก่เจ้าของร้านโชวห่วยในขณะนั้น เป็นวิธีคิดที่เข้าใจง่าย และนำไปปฏิบัติง่าย และร้านโชวห่วย มากมาย สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทย กระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นไปปรับปรุงกิจการได้จริงๆ

ผมอยากให้พวกเรานึกย้อนไปเมื่อปี 2544 ขณะที่ประเทศไทย กำลังเกิดภาวการณ์ตื่นตัว ออกมาต่อต้านการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติ แต่ละจังหวัดต่างพากันปักป้ายใหญ่โต ว่าไม่ต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์ใหญ่ จากต่างชาติเข้าไปเปิดกิจการในพื้นที่จังหวัดของตน และนั่นถือเป็นจังหวะการแจ้งเกิด “วีรบุรุษโชวห่วย” พอดี ซึ่งผมถือว่าผมโชควาสนาดีที่ผมได้รับอาสาเป็นแม่ทัพนำธุรกิจโชวห่วย ให้ลุกขึ้นปรับปรุงกิจการของตน เพื่อต่อสู้กับธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติ ในท่ามกลางวิกฤติที่ธุรกิจค้าปลีกไทยกำลังถูกรุกรานจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติมากมายหลายค่ายไปหมด

เหตุการณ์ในปี 2544 นั้น ผมได้ศึกษาค้นคว้าและทำการวิจัยเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อหาทางออกให้กับธุรกิจค้าปลีกไทย ได้นำมาปรับปรุงกิจการของตน และผลจากการศึกษาเชิงลึกในปีนั้น ทำให้ผมได้ข้อสรุปจุดเด่นของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติได้ 8 ประการสำคัญ ก็คือ
1.    สภาพร้านที่ทันสมัย
2.    ความหลากหลายของสินค้า
3.    เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย
4.    การใช้ระบบข้อมูลข่าวสารในการบริหาร
5.    ระบบคลังสินค้าที่ทันสมัย
6.    การบริการที่ดี
7.    คุณภาพของพนักงาน
8.    เงินทุนมหาศาล

ทั้งนักวิชาการและนักบริหารค้าปลีกไทยหลายคนในยุคนั้น ต่างพากันมองว่าธุรกิจค้าปลีกไทยคงต้องไปไม่รอดแน่ๆ เพราะข้าศึกที่เข้าเมืองไทยมาในตอนนั้น ต่างมีจุดเด่นที่เหนือกว่าธุรกิจค้าปลีกไทยทุกประการเลยทีเดียว จึงทำให้เจ้าของธุรกิจค้าปลีกไทยมากมาย ต่างท้อแท้และท้อถอย จนถึงขั้นปิดกิจการตัวเองไปซะก่อนจำนวนไม่น้อย ซึ่งผมรู้สึกเสียดายที่พวกเขาพากันปิดตัวไปเสียก่อน ก่อนที่ผมจะเข้ามาช่วยทำทัพเพื่อต่อสู้กับธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติได้ทัน ผมยังนึกขำที่มีพ่อค้าปลีกไทยบางราย ออกมาให้ข่าวแบบเสียๆ หายๆ ว่าร้านโชวห่วยไทยปิดกิจการไปแล้วกว่า 3 แสนรายบ้าง หรือบางรายก็บอกว่าโชวห่วยไทยล้มสลายหมดสิ้นไปแล้วบ้าง ซึ่งผมแค่ได้อ่านข่าวในยุคนั้นก็ยังรู้สึกนึกขำ ที่คนไทยด้วยกันเอง กลับมาให้ข่าวบั่นทอนจิตใจคนไทยด้วยกันเองซะงั้น

ผมไม่รีรอที่จะเร่งศึกษาวิจัยข้อมูลในฟากของธุรกิจโชวห่วยบ้าง เพื่อจะได้นำมาวางกลยุทธ์ในการปรับปรุงกิจการให้กับร้านโชวห่วยทั่วไทย สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง และตอนนั้นผมก็ไม่อยากให้เจ้าของร้านโชวห่วยในประเทศไทย ไปปรักปรำว่าการปิดตัวของร้านโชวห่วยจำนวนมากในยุคนั้น จะเกิดจากการขยายตัวของธุรกิจข้ามชาติเสียทั้งหมด และในที่สุดผมก็ได้คำตอบว่า สาเหตุที่ร้านโชวห่วยต้องปิดตัวไปเพราะเหตุสำคัญ 6 ประการคือ

1.    ทายาทไม่สืบทอดธุรกิจ
2.    ขาดความรู้ในการบริหารจัดการ
3.    ขาดเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ
4.    ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย
5.    ขาดการรวมตัวกัน
6.    การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกต่างชาติ

บทสรุปจากการวิจัยของผม ทำให้ได้ข้อสรุปว่าร้านโชวห่วยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นในประเทศไทย ที่ปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาหลักเพียงข้อเดียวคือ ทายาทไม่สืบทอดธุรกิจ ส่วนสาเหตุที่ปิดกิจการเพราะการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกต่างชาติ มีน้ำหนักเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นของร้านค้าปลีกในประเทศไทยทั้งหมด และผมก็ได้นำบทสรุปจากการวิจัยนี้มาประกอบการบรรยาย ให้ความรู้กับเจ้าของร้านโชวห่วยทั่วประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าทีมที่ปรึกษา โครงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทย กระทรวงพาณิชย์

คราวนี้มามองถึงวิธีการที่จะต่อสู้กับสงครามธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่ต่างพากันขยายตัวอย่างรวดเร็ว และสิ่งแรกที่ผมต้องหาข้อสรุปก็คือ การมองจุดอ่อนของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติบ้าง ซึ่งในที่สุดผมก็ได้ข้อสรุปว่า ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติมีจุดอ่อนมากมาย และปัญหามากจนดูน่าเป็นห่วง การศึกษาในขณะนั้นทำให้ผมกล้าฟันธง ประกาศบนทุกเวทีการบรรยายทั่วประเทศไทยว่า ไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติจะต้องล่มสลาย เว้นเสียแต่ว่าเขาจะมีการปรับตัวเองอย่างยิ่งใหญ่เท่านั้น พวกเขาจึงจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และจุดอ่อนที่ผมค้นพบมี 7 ประการดังนี้

1.    ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล
2.    ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่สูงมาก
3.    ค่าเช่าร้านหรือการลงทุนก่อสร้างที่สูงมาก
4.    ค่าไฟฟ้าสูงมาก
5.    เงินเดือนสูงมาก
6.    อัตราการเข้าออกของพนักงานสูงมาก
7.    การแข่งขันรุนแรงมาก

คราวนี้ล่ะ ที่ทำให้เจ้าของธุรกิจโชวห่วยทั่วไทยเริ่มมีกำลังใจมากขึ้น และพร้อมใจที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทยกับทางกระทรวงพาณิชย์มากขึ้นๆ และผมก็ได้งบประมาณก้อนหนึ่งในการพัฒนาร้านโชวห่วยขึ้นมาเป็นร้านค้าปลีกพัฒนาต้นแบบของประเทศไทย ชื่อว่าร้านกาญจนาพาณิชย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านการเคหะแห่งชาติ บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และถือว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้น ในการประกาศชัยชนะก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญ ที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์ได้ขยายโครงการพัฒนาร้านค้าปลีกออกไปอีกหลายปี และหลายจังหวัดในประเทศไทย จนกระทั่งได้ตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่จัดตั้งบริษัท รวมค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด ขึ้นในที่สุด

ผมเริ่มมั่นใจเต็มร้อยว่า นับจากนี้ไปโชวห่วยจะไม่มีวันตายไปจากประเทศไทย ต่อให้เราจะมีจุดอ่อนมากมาย ต่อให้ร้านค้าปลีกจากต่างชาติจะมีจุดแข็งมากมาย แต่หัวใจสำคัญที่สุด ให้เราชนะเพียงข้อเดียวเท่านั้นเราก็รอดแล้ว และขอแค่เพียงให้ธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติแพ้เพียงข้อเดียวเขาก็จะล่มสลายอย่างแน่นอน ซึ่งยุทธศาสตร์ข้อนี้ก็คือ “การควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ” นั่นเอง ... ตรงนี้ต้องอธิบายกันยาว เอาไว้ผมจะแวะมาเล่าในตอนต่อไปนะครับ

โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล
เขียนเมื่อ วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView