วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จะเริ่มทำการตลาดอย่างไรดี ?

นิทานการตลาด ตอนที่ 37



ผมเขียนนิทานมาถึงตอนที่สามสิบหก เพิ่งจะนึกได้ว่าจริงๆ แล้วยังไม่แฟนคลับหรือเพื่อนๆ อีกมากมายที่แวะเข้ามาอ่าน แต่ไม่เคยเรียนภาควิชาการตลาด และไม่เคยทำงานทางด้านการตลาดมาก่อน ตลอดจนบางท่านเป็นเจ้าของธุรกิจแต่ก็ไม่เคยเข้าใจว่าหากจะนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้กับธุรกิจของตน จะต้องเริ่มต้นที่ตรงไหนก่อนดี วันนี้ผมจึงถือโอกาสเริ่มต้น นับ 1 ใหม่สำหรับแฟนคลับที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านการตลาดมาก่อนนะครับ

สำหรับท่านที่ตั้งคำถามมาว่า...จะเริ่มทำการตลาดอย่างไรดี ?

ก่อนอื่นผมขอให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหัวใจสำคัญทางการตลาดกันก่อน ก็คือเรื่องของ STP ซึ่งหมายถึง ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งกลุ่มลูกค้าทางการตลาด (Market Segmentation) ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Market Targeting) และสุดท้ายคือ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดตำแหน่งครองใจทางการตลาด (Market Positioning) ทั้งนี้ เรื่องของ STP ถือได้ว่าเป็นปฐมบทของการตลาดเลยทีเดียวก็ว่าได้ ซึ่งเคยมีนักการตลาดที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เคยกล่าวถึงขั้นว่า ... ถ้าใครวางแผนด้าน STP ผิดพลาด นั่นย่อมหมายถึงธุรกิจล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น กันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ การตัดสินใจขายสินค้าในตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดผู้บริโภค หรือตลาดอุตสาหกรรม จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า โดยทั่วไปแล้วบริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้าในทุกๆตลาดได้ เนื่องจากลูกค้ามีจำนวนมากที่อยู่กระจัดกระจาย และมีความต้องการที่แตกต่างกัน บริษัทจึงต้องทำการแข่งขันเฉพาะตลาดที่บริษัทมีความชำนาญมากที่สุด ซึ่งลำดับขั้นตอนของ STP Marketing จะประกอบไปด้วยปัจจัย 3 ประการคือ

1. การแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) หมายถึง การแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มย่อยที่แตกต่างกัน โดยใช้เกณฑ์ความต้องการ บุคลิกลักษณะ หรือพฤติกรรม ซึ่งผู้บริโภคที่อยู่ในแต่ละกลุ่มเดียวกัน จะมีความต้องการในสินค้าหรือบริการที่คล้ายคลึงกัน หรือส่วนประสมทางการตลาดที่แตกต่างกัน

2. การเลือกตลาดเป้าหมาย (Market Targeting) หมายถึง กระบวนการในการประเมินความน่าสนใจของแต่ละส่วนตลาด และเลือกเข้าสู่ตลาดเพียงหนึ่งหรือหลายส่วนตลาด ซึ่งคำว่าส่วนตลาดเป้าหมาย (Target Market หรือ Target Group) หมายถึง กลุ่มผู้บริโภคหรือส่วนตลาดที่นักการตลาดสนใจและเลือกที่จะเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนั้นๆ

3. การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Market Positioning) เป็นการจัดผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง ชัดเจน และตรงกับความต้องการ โดยการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของบริษัทกับผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขัน ให้อยู่ในจิตใจของผู้บริโภค โดยในขั้นนี้จะต้องมีการระบุความได้เปรียบ หรือความแตกต่างทางการแข่งขัน (Competitive Advantages) ในด้านต่างๆ

ดังนั้น ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ จึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการแบ่งส่วนตลาดให้ถูกต้องและเหมาะสมก่อนเป็นดับแรก จากนั้นก็จำเป็นจะต้องตัดสินใจเลือกตลาดเป้าหมายหรือลูกค้าเป้าหมายที่ดีที่สุดให้ได้ และค่อยมาถึงขั้นที่สำคัญที่สุดคือ การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ ว่าเราต้องการให้ผลิตภัณฑ์ชองเราจัดอยู่ในระดับใดในตลาด และสินค้าที่อยู่ในระดับของการตลาดที่แตกต่างกัน ย่อมต้องใช้กลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว

คราวนี้มาดูถึงเรื่อง การวางแผนการตลาดโดยใช้ 4P ซึ่งความเป็นจริงแล้วกลยุทธ์ทางการตลาดนั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่เป็นที่รู้จัก และเป็นพื้นฐานที่สุดก็คือการ ใช้ 4P (Product Price Place Promotion) ซึ่งหลักการใช้คือการวางแผนในแต่ละส่วนให้เข้ากัน และเป็นที่ต้องการของกลุ่ม เป้าหมายที่เราเลือกเอาไว้ให้มากที่สุด ในบางธุรกิจอาจจะไม่สามารถปรับเปลี่ยน ทั้ง 4P ได้ทั้งหมดในระยะสั้นก็ไม่เป็นไรเพราะ เรา สามารถ ค่อยๆปรับกลยุทธ์จนได้ ส่วนผสมทางการตลาดได้เหมาะสมที่สุด 4P อาจจะเรียกว่า marketing mix เราลองมา ดูกันทีละส่วน ได้แก่

1. Product : ก็คือสินค้าหรือบริการที่เราจะเสนอให้กับลูกค้า แนวทางการกำหนดตัว Product ให้เหมาะสมก็ต้องดูว่ากลุ่มเป้า หมายต้องการอะไร เช่นต้องการน้ำผลไม้ที่ สะอาด สด ในบรรจุภัณฑ์ถือสะดวก โดยไม่สนรสชาติ เราก็ต้องทำตามที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่ว่าเราชอบหวานก็จะพยายามใส่น้ำตาลเข้าไป แต่โดยทั่วไปแนวทางที่จะทำสินค้าให้ขายได้มีอยู่สองอย่างคือ

1.1 สินค้าที่มีความแตกต่าง โดยการสร้างความแตกต่างนั้น จะต้องเป็นสิ่งที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้จริงว่าต่างกันและ ลูกค้าตระหนักและชอบในแนวทางนี้ เช่นคุณสมบัติพิเศษ รูปลักษณ์ การใช้งาน ความปลอดภัย ความคงทนโดยกลุ่มลูก ค้าที่เราจะจับก็จะเป็นลูกค้าที่ไม่มีการแข่งขันมาก (niche market)

1.2 สินค้าที่มีราคาต่ำนั่นคือการยอมลดคุณภาพในบางด้านที่ไม่สำคัญลงไป เช่นสินค้าที่ผลิตจากจีน จะมีคุณภาพไม่ดี นักพอใช้งานได้ แต่ถูกมากๆหรือ สินค้าที่เลียนแบบแบรนด์ดังๆ ในซุปเปอร์สโตร์ต่างๆ จริงๆแล้วสำหรับนักธุรกิจมือ ใหม่ควรเลือกในแนวทาง สร้างความแตกต่างมากกว่า การเป็นสินค้าราคาถูกเพราะ หากเป็นด้านการผลิตแล้วรายใหญ่ จะมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่ารายย่อย แต่หากเป็นด้านบริการ เราอาจจะเริ่มต้นที่ราคาถูกก่อน แล้วค่อยๆ หาตลาดที่ราย ใหญ่ไม่สนใจ

2. Price : ราคาเป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญในการตลาด แต่ไม่ใช่ว่า คิดอะไรไม่ออกก็ลดราคาอย่างเดียวเพราะการลดราคาสินค้า อาจจะไม่ได้ช่วยให้การขายดีขึ้นได้ หากปัญหาอื่นๆยังไม่ได้รับการแก้ไข การตั้งราคาในที่นี้จะเป็นการตั้งราคาให้เหมาะสมกับ ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเป้าหมายของเรา เช่นหากเราขายน้ำผลไม้ที่จตุจักร ราคาอาจจะต้องถูกหน่อย แต่หากขายที่สยาม หากตั้ง ราคาถูกไปเช่น 10 บาท กลุ่มที่เป็นเป้าหมายอยากให้ซื้ออาจจะไม่ซื้อ แต่คนที่ซื้ออาจจะเป็นคนอีกกลุ่มซึ่งมีน้อยกว่า และไม่คุ้ม ที่จะขายแบบนี้ในสยาม ยิ่งไปกว่านั้นหากราคา และรูปลักษณ์สินค้าไม่เข้ากัน ลูกค้าก็จะเกิดความข้องใจและอาจจะกังวลที่จะซื้อ เพราะราคาคือตัวบ่งบอกภาพลักษณ์ของสินค้าที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม ในด้านการทำธุรกิจขนาดย่อมแล้ว ราคาที่เราต้องการ อาจไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น แต่จะมองกันในเรื่องของตัวเลข ซึ่งจะมีวิธีกำหนดราคาง่ายต่างๆดังนี้

2.1 กำหนดราคาตามลูกค้า คือการกำหนดราคาตามที่เราคิดว่า ลูกค้าจะเต็มใจจ่าย ซึ่งอาจจะได้มาจากการทำสำรวจ หรือแบบสอบถาม

2.2 กำหนดราคาตามตลาด คือการกำหนดราคาตามคู่แข่งในตลาด ซึ่งอาจจะต่ำมากจนเราจะมีกำไรน้อยดังนั้นหาก เรา คิด ที่จะกำหนดราคาตามตลาด เราอาจจะต้องมานั่งคิดคำนวณย้อนกลับว่า ต้นทุนสินค้าควร เป็นเท่าไรเพื่อจะได้กำ ไร ตามที่ตั้งเป้า แล้วมาหาทางลดต้นทุนลง

2.3 กำหนดราคาตามต้นทุนบวกกำไร วิธีนี้เป็นการคำนวณว่าต้นทุนของเราอยู่ที่เท่าใด แล้วบวกค่าขนส่ง ค่าแรงของเรา บวกกำไร จึงได้มาซึ่งราคา แต่หากราคาที่ได้มาสูงมาก เราอาจจำเป็นต้องมีการทำประชาสัมพันธ์ หรือปรับภาพลักษณ์ ให้เข้ากับราคานั้น

3. Place : คือวิธีการนำสินค้าไปสู่มือของลูกค้า หากเป็นสินค้าที่จะขายไปหลายๆแห่ง วิธีการขายหรือการกระจายสินค้าจะมีความ สำคัญมาก หลักของการเลือกวิธีกระจายสินค้านั้นไม่ใช่ขายให้มากสถานที่ที่สุดจะดีเสมอ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่า สินค้าของท่านคือ อะไร และกลุ่มเป้าหมายท่านคือใคร เช่นของใช้ในระดับบน ควรจะจำกัดการขายไม่ให้มีมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เสียภาพ ลักษณ์ได้สิ่งที่เราควรจะคำนึงอีกอย่างของวิธีการกระจายสินค้าคือต้นทุนการกระจายสินค้า เช่นการขายสินค้าใน 7-eleven อาจจะ กระจายได้ทั่วถึง แต่อาจจะมีต้นทุนที่สูงกว่า หากจะกล่าวถึงธุรกิจที่เป็นการขายหน้าร้าน Place ในที่นี้ก็คือ ทำเล ซึ่งก็ควรเลือกที่ ให้เหมาะสมกับสินค้าของเราเช่นกัน อย่าง มาบุญครองกับ สยามเซ็นเตอร์ จะมีกลุ่มคนเดินที่ต่างออกไปและลักษณะสินค้าและ ราคาก็ไม่เหมือนกันด้วยทั้งๆที่ตั้งอยู่ใกล้กัน ท่านควรขายที่ใดก็ต้องพิจารณาตามลักษณะสินค้า

4. Promotion : คือการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อบอกลูกค้าถึงลักษณะสินค้าของเรา เช่นโฆษณาในสื่อต่างๆ หรือการทำกิจกรรม ที่ทำให้คนมาซื้อสินค้าของเรา เช่นการทำการลดราคาประจำปี หากจะพูดในแง่ของธุรกิจขนาดย่อม การโฆษณาอาจจะเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นเพราะจะต้องใช้เงิน จะมากหรือน้อยก็ ขึ้นกับ ช่องทางที่เราจะใช้ ที่จะดีและอาจจะฟรีคือ สื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผู้ใช้เพิ่มจำนวนขึ้นมากในแต่ละปี สื่ออื่นๆที่ถูกๆ ก็จะเป็นพวก ใบปลิว โปสเตอร์ หากเป็นสื่อท้องถิ่นก็จะมี รถแห่ วิทยุท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น วิธีในการเลือกสื่อนอกจากจะดูเรื่องค่าใช้จ่าย แล้วควรดูเรื่องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่นหากจะโฆษณาให้กลุ่มผู้ใหญ่ โดยเลือกสื่ออินเตอร์เน็ตเพราะฟรี ก็อาจจะเลือก เว็บไซต์ที่ผู้ใหญ่เล่น ไม่ใช้เว็บที่วัยรุ่นเข้ามาคุยกัน เป็นต้น

สำหรับนิทานการตลาดตอนนี้ ถือว่าเป็นการเปิดประเด็นด้วยคำถามง่ายๆ แต่เป็นการตอบคำถามที่ยากกว่าทุกๆ ข้อ เพราะการที่นักธุรกิจจะสามารถนำการตลาดมากำหนดยุทธ์ให้กับธุรกิจของตนได้นั้น จำเป็นจะต้องมีทักษะ มีความรอบคอบ และต้องถือเป็นการบูรนาการแนวทฤษฎีทางการตลาดมากมายอย่างถ่องแท้เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยมาสู่ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ การกำหนดยุทธ์ทางการตลาด นั่นเอง ซึ่งด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอถือโอกาสนำเสนอแนวการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดในตอนต่อๆ ไปนะครับ เพราะตอนนี้อาจเขียนมายาวเกินไปสักหน่อยแล้วเดี๋ยวผู้ติดตามจะรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะอ่านไปเสียก่อนนะครับ


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล
เขียนเมื่อ วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อิสรภาพทางการเงิน

นิทานการตลาด ตอนที่ 36


เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยได้รับเชิญไปบรรยายหัวข้อการตลาดยุคโลกไร้พรมแดน และมีประเด็นหนึ่งที่ผู้เชิญต้องการให้ผมนำเสนอก็คือหัวข้อ “อิสรภาพทางการเงิน” ซึ่งทำให้ผมรู้สึกผิดมาจนถึงทุกวันนี้เลย เพราะในวันนั้นผมได้พูดขวางลำข้อคิดเรื่อง “อิสรภาพทางการเงิน” อย่างแรงมาก ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของผู้จัดต้องการให้ผมพูดในทำนองสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่ผมกลับพูดซะจนเสียหายเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อมาถึงวันนี้ผมก็ได้ทบทวนว่า..เหตุผลที่ผมค้านอย่างหนักในวันนั้น เพราะผมฝังใจว่าตัวเองไม่ชอบธุรกิจขายตรงนั่นเอง แล้วก็พาลนึกถึงคำพูดจูงใจทั้งปวงของวงการขายตรงเป็นเรื่องโกหกไปเสียทั้งหมด

คำพูดหนึ่งที่ผมนึกขำตัวเอง และก็รู้สึกผิดในการบรรยายตอนนั้นก็คือ “ถ้าใครคิดจะมีอิสรภาพทางการเงินก็ไปบวชซะ..ให้หาวัดดีๆ สักแห่งก็จะเจอกับคำว่าอิสรภาพทางการเงินได้แน่นอน” ในเมื่อบ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ แถมคนมากราบมาไหว้ยังได้เงินอีก ซึ่งฟังดูช่างหักมุม กับที่ผู้เชิญบรรยายต้องการให้นำเสนอชนิดคนละขั้วไปเลยทีเดียว และนับจากวันนั้นจนกระทั่งตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมก็ยังคงไม่ชอบคำพูดว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ตลอดมา จวบจนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้เอง ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับ “คุณเอก” ซึ่งเขาพยายามให้ผมเข้าใจ เหตุผลของคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” และพร้อมยกตัวเองย่างให้ผมมองเห็น จนในที่สุดคุณเอกทำให้เชื่อว่า “อิสรภาพทางการเงิน” มันเกิดขึ้นได้จริงๆ

แน่นอนที่สุดว่า...ถ้าหากใครเอ่ยคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ผู้ฟังส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ก็จะนึกถึงคำพูดของคนในวงการธุรกิจขายตรงก่อนเป็นอันดับแรก เพราะแนวการขับเคลื่อนให้คนเข้ามาหลงใหลธุรกิจขายตรงก็คือ “เหนื่อยเพียงไม่กี่ปีก็พักได้” ซึ่งเป็นคำพูดสนับสนุนคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” นั่นเอง ซึ่งคำพูดแนวนี้ สามารถทำให้คนเข้าใจได้ทั้งฝั่งที่เป็นลบ และฝั่งที่เป็นบวก แต่สำหรับผมก่อนหน้านี้ตลอดชีวิต ผมได้มองในฝั่งที่เป็นลบตลอดมา เพราะผมเชื่อมั่นว่า ไม่มีใครหรอกที่หยุดทำงานแล้วจะยังคงมีรายได้จริงๆ ยกเว้นข้าราชการที่ปลดเกษียณแล้วรับเงินบำนาญ เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ์นี้

คุณเอกได้ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 30 นาที เพื่ออธิบายเหตุผลว่าในโลกนี้คำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” มีอยู่จริง ด้วยการเล่าเรื่องราวกรณีตัวอย่างให้ฟังว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อว่า อาจารย์ถวัล เขียวไสว ซึ่งเคยทำธุรกิจขายตรงมาเมื่อราว 20 ปีก่อน ซึ่งมีรายได้มากกว่า 200,000 บาทต่อเดือน แต่ขณะนี้ท่านได้บวชอยู่ที่วัดพระธรรมกายมาเกิน 10 ปีแล้ว ซึ่งแน่นอนที่สุดคนที่ไปบวชในวัดพระธรรมกาย คงไม่ได้ออกมาทำธุรกิจขายตรงอีก แต่ตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา รายได้ของท่านยังคงได้รับมากกว่าเดือนละ 200,000 บาทตลอดมา ซึ่งท่านได้มอบรายได้เหล่านั้นให้กับภรรยาและลูกๆ ไว้ดำเนินชีวิต ส่วนท่านก็น่าจะปวารณาตนบวชตลอดชีวิตไปแล้ว และเรื่องเล่านี้เองทำให้ผมได้นั่งคุยกับคุณเอกต่อนับชั่วโมงเพื่อฟังเหตุผลต่อเนื่องอย่างละเอียดมากขึ้น

คุณเอกอธิบายผมว่า..คนไทยส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจขายตรง มักจะนำแนวคิดที่ดีของธุรกิจขายตรงไปใช้ในทางที่ผิด ไปหลอกลวง ไปโฆษณาชวนเชื่อ ไปพูดจาเกินจริงถึงรายได้มหาศาล และเมื่อเริ่มต้นด้วยการหลอกลวง การโฆษณาเกินจริง ก็คำตอบย่อมต้องเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างแน่นอน เพราะนั่นหมายถึง จะมีผู้คนที่หลงเชื่อคำลวงเกินจริงๆ เหล่านั้น ต้องรู้สึกผิดหวัง และเมื่อคนผิดหวังมากเข้าๆ ก็ทำให้วงการธุรกิจขายตรงในประเทศไทย กลายเป็นเรื่องที่น่าเกลียดน่าชัง จนใครๆ ก็จะตัดสินใจเกลียดธุรกิจขายตรงเป็นอันดับที่ 1 เอาไว้ก่อน ไม่รวมแม้กระทั่งตัวผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน

ยิ่งมาในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจขายตรงนับร้อยบริษัทในประเทศไทย ต่างพากันโหมโรงกลยุทธ์ขายตรงแบบ 2 ขา ด้วยคำจูงใจว่า ... เพียงชวนคนมา 2 คนก็รวยได้ หรือไม่ก็พูดว่า ทำงานเพียงขาข้างเดียวก็รวยได้ จากนั้นก็ขยายเครือข่าย แตกตัวยิ่งกว่าดอกเห็ดในต้นฤดูฝนเสียอีก ธุรกิจขายตรงบางแห่งก็โหมโรงด้วยการเคลื่อนพลนับหมื่นนับแสนไปรวมกันเพื่อประกาศศักดาถึงความยิ่งใหญ่ที่สามารถเคลื่อนพลได้มหาศาลกันขนาดนั้น เพื่อยืนยันว่าธุรกิจขายตรงของตน ได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวาง แต่ผลสุดท้ายแล้ว จำนวนคนมหาศาลเหล่านั้นก็ผิดหวังกันเป็นส่วนใหญ่ เหลือแต่คนที่อยู่ต้นสายหรือลำดับบนๆ ที่เริ่มต้นก่อน ก็พอจะมีรายได้จูงใจในระดับหนึ่ง

อีกคำพูดหนึ่งที่ฟังดูแปลกๆ จนไม่รู้จะคิดว่าเป็นบวกหรือเป็นลบดีคือ “วงการนี้คนในไม่อยากออก คนนอกไม่อยากเข้า” ซึ่งผมพยายามเพียรหาเหตุผลสนับสนุนว่าอะไรทำให้มีผู้คนมากมายนำคำพูดนี้มาใช้ในวงการขายตรง เพราะคำว่า “คนนอกไม่อยากเข้า” นี่ถือว่าชี้ชัดว่า..คนส่วนใหญ่ไม่อยากมาทำธุรกิจขายตรงแน่นอนที่สุด แต่ไอ้คำพูดที่ว่า “คนในไม่อยากออก” นี่อาจจะมองได้หลายแง่หลายง่าม ซึ่งในแง่ดีอาจหมายความถึง เข้ามาทำแล้วรายได้ดี น่าหลงใหล จนไม่อยากไปประกอบอาชีพอื่นอีก ส่วนในแง่ลบก็อาจจะอธิบายได้ว่า ... ทำอาชีพอื่นไม่ได้แล้วจึงต้องทำธุรกิจขายตรงนี่ล่ะ ทำไปทำบุญตามกรรม เพราะจะไปสมัครที่อื่นเขาก็ไม่รับแล้ว เป็นต้น

คราวนี้ย้อนกลับมาฟังเรื่องที่ “คุณเอก” กำลังอธิบายต่อว่า ... การทำธุรกิจขายตรงที่ดี จะต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ด้วยการเข้าไปพิสูจน์สินค้าของบริษัทนั้นๆ ด้วยตัวเอง แล้วทดลองซื้อใช้เพื่อพิสูจน์ว่าสินค้านั้นมีคุณภาพดีจริงและสมราคาจริงๆ และเมื่อเราใช้เองแล้วรู้สึกคุ้มค่า จึงค่อยแนะนำคนใกล้ชิด แนะนำเพื่อนสนิท ไปจนกระทั่งถึงแนะนำคนแปลกหน้าอื่นๆ ต่อไปเพื่อให้พวกเขาทดลองใช้เหมือนที่เราเคยทดลองมาก่อน และหากเราสามารถแนะนำคนอื่นๆ ได้มากเข้าๆ มันก็จะเกิดคำว่า “เครือข่าย” ขึ้นมาได้นั่นเอง และเครือข่ายที่ดีที่สุดในวงการขายตรงก็คือ “เครือข่ายผู้บริโภค” นั่นเอง

ถ้าเราไม่คิดว่าจะต้องไปร่ำรวยล้นฟ้ากับธุรกิจขายตรง แล้วให้นับเริ่มต้นแค่ตรงที่ว่า ... เราจะมียาสีฟันดีๆ ใช้สักหลอดหนึ่งในแต่ละเดือน และเราจะมีสบู่อาบน้ำหรือยาสระผมดีๆ สักขวดหนึ่งในแต่ละเดือน แล้วไม่ต้องไปชวนเชื่อให้ใครๆ ต้องมาดูถูกเราว่า เรากำลังจะไปหลอกเขามาทำธุรกิจขายตรง เพื่อจะให้เราร่ำรวยไปเพราะเขาใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้เราได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตตามปกติ ด้วยการเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพดีๆ และมีผลดีต่อชีวิตตนเองและคนที่เรารัก คนที่เราห่วงใย และเมื่อเราเป็นคนที่มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ คนรอบข้างเราทุกคน ก็จะสัมผัสได้ถึงความสุขที่แท้จริงของเราได้เอง เมื่อนั้น เราก็ค่อยๆ ถ่ายทอดความสุขกาย สุขใจของเรา เผื่อแผ่ไปยังพวกเขาทุกๆ คน ด้วยการบอกเขาไปอย่างจริงใจว่า ชีวิตประจำวันของเรานั้น เรามีความสุขกาย สุขใจ ได้ด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง

บางทีเราอาจเจอกันที่มีกลิ่นปากแรงมาก เราก็อาจแสดงความห่วงใยสุขภาพปากของเขาด้วยการนำเสนอยาสีฟันดีๆ ที่เรามั่นใจให้กับเขาได้ทดลองใช้ ซึ่งไม่เห็นจำเป็นว่าเราจะต้องไปเชิญชวนให้เขามาทำธุรกิจขายตรงกับเราแต่อย่างใด และเมื่อเขาได้ทดลองใช้ยาสีฟันที่เราแนะนำไป เขาก็จะกลับมาหาเราใหม่เพื่อที่จะซื้อยาสีฟันหลอดต่อไป และเมื่อนั้น เราก็สามารถแนะนำเขาว่า... เขาสามารถที่จะมีรายได้ จากการจ่ายเงินซื้อยาสีฟัน 1 หลอดนั้น เพียงแค่เขาตัดสินใจเข้ามาร่วมเครือข่ายผู้บริโภคกับทางเรา หรืออาจถึงขั้นเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายนักธุรกิจอย่างเดียวกับเราก็ได้ในที่สุด

ผมเริ่มรู้สึกตลกตัวเอง ที่เคยตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ชนิดไกลลิบโลก แถมยังเคยสอนใครต่อใครบ่อยๆ ว่า..คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้จะต้องเริ่มต้นมองที่จุดหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งมั่น ตั้งมั่นก้าวไปให้ถึงจุดที่ฝัน แต่พอมาถึงวันนี้ ผมเริ่มรู้สึกขบขัน เพราะทุกวันนี้ฝันของผมอีกมากมายที่ยังคงเป็นแค่ความฝัน และหลายความฝันของผมก็ล่มสลายอยู่บ่อยๆ หลังจากที่ได้เริ่มลงมือไปสักระยะเวลาหนึ่ง

วันนี้ผมนึกอยากสอนผู้คนเสียใหม่ว่า...ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มันต้องเริ่มต้นที่ “รากแก้ว” ซึ่งหมายความถึง ความมั่นคงที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ต้นไม้เติบโตยิ่งใหญ่ได้อย่างมั่นคง บางคนสำเร็จได้ด้วยการ “ทาบกิ่ง” หรือ “ตอนกิ่ง” ซึ่งอาจจะดูว่าได้กินผลเร็วกว่าที่คิด แต่ต้นไม้ที่เติบโตเพราะการทาบกิ่งหรือตอนกิ่ง จะเป็นต้นไม้ที่อายุสั้น และไม่แข็งแรง เพราะมันให้ดอก ให้ผลที่เร็วเกินไปนั่นเอง ถึงแม้ชีวิตของคนเราจะไม่ได้ยืนยาวนับพันปี แต่คนเราก็สามารถหาความสุขได้แม้ว่าเราจะอายุสั้นๆ เพียงไม่เกิน 60 ปีเท่านั้นก็ตาม

ยิ่งเมื่อคุณเอกได้ถามผมว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาของผม เคยล้มเหลวกี่ครั้ง และเคยลุกขึ้นใหม่กี่ครั้ง ตอนแรกๆ ผมรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองเคยได้รับการยกย่องว่าเป็น “แมวเก้าชีวิต” ซึ่งฟังดูคล้ายๆ กับว่า “ไม่มีวันตาย” ประมาณนั้นล่ะ แต่เมื่อได้นั่งคุยกันมากขึ้นๆ ผมก็เริ่มตระหนักว่า จริงๆ แล้วแต่ละครั้งที่ผมล้มเหลว ผมรู้สึกเจ็บปวดปางตายทุกรอบ และกว่าจะลุกขึ้นได้ใหม่แต่ละครั้งนั้นก็เหนื่อยปางตายไม่แพ้กัน ขณะที่นั่งคุยกันถึงตรงนี้ คุณเอกเริ่มกล่าวคำยืนยันว่า ... เพียงแค่อาจารย์เปิดใจนิดเดียว ด้วยการเริ่มต้นชีวิตแบบง่ายๆ แล้วทดลองใช้ยาสีฟันดีๆ สักหลอดที่ราคาก็พอๆ กับในท้องตลาด แล้วอาจารย์ก็ลองพิสูจน์ว่ามันมีคุณภาพดีจริงหรือไม่ ถ้ามันดีจริงก็ลองขยายผลไปทดลองใช้สินค้าตัวอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกไปเรื่อยๆ และเมื่อนั้นคุณภาพชีวิตของอาจารย์ก็ค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลับดับ

หากอาจารย์พร้อมเริ่มต้นธุรกิจก้าวแรก...ที่เปรียบเสมือนกับเราเริ่มต้นปลูกต้นกล้าเล็กๆ ก่อน แล้วเราก็รอวันให้มันเติบใหญ่ แตกกิ่ง แตกก้านออกไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องใจร้อนจนเกินไปนัก จากนั้นอาจารย์ก็ค่อยๆ เริ่มต้นชวนคนที่อาจารย์ห่วงใย เข้ามาร่วมกันปลูกต้นกล้าแบบเดียวกับอาจารย์ แล้วก็พากันเติบใหญ่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถ้าอาจารย์พร้อมใจ “คุณเอก” กล่าวยืนยันว่า “นี่จะเป็นการลุกครั้งสุดท้ายของชีวิตอาจารย์ และจะไม่มีวันล้มตลอดกาล”

แหม !!! ฟังๆ ดูราวกับว่าคุณเอกกำลังจะกลายเป็น “เทวดา” ไปซะแล้ว ที่จะทำให้ผมสามารถลุกขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายและไม่มีวันตายอีกตลอดกาล แต่ผมก็ยังรู้สึกดีใจที่อย่างน้อยคุณเอกก็สามารถทำให้ผมหูตาสว่างขึ้น และไม่ใจคับแคบ ด้วยการเปิดใจกว้างยอมรับสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วยมาตลอดชีวิตลงได้ ซึ่งผมก็ต้องขอขอบคุณต่อ “คุณเอก” เป็นอย่างสูงไว้ในนิทานตอนนี้ด้วยใจจริง

นับจากวันนี้....ผมจะลองปลูกต้นกล้า แล้วจะคอยรดน้ำพรวนดิน บำรุงดูแลด้วยความใส่ใจ เพื่อรอวันให้ต้นกล้าเล็กๆ ของผมในวันนี้ได้เติบใหญ่อย่างไม่คง โดยที่ไม่ต้องล้มอีก เพื่อผมจะได้ไม่ต้องตายแล้วลุก ลุกแล้วตาย ซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนกับแมวเก้าชีวิตอีกตลอดกาล


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล
เขียนเมื่อ วันพฤหัสที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView