วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เอาหุ้นเข้าตลาดเพื่ออะไร??

16 สิงหาคม 2560 / 18.04 น.

ในทางทฤษฎี การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นนับเป็นช่องทางในการระดมทุนทางหนึ เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ต้องการเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ หากจะรอเงินจากการดำเนินงาน ก็อาจไม่ทัน การกู้เงิน โดยทั่วไปธนาคารก็จะดูงบ และมันจะมีจุดที่ธนาคารจะไม่ยอมปล่อยกู้ให้อีกแล้ว

ดังนั้น การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจได้เงินไปใช้ในการขยายกิจการต่อไปแต่การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท จะต้องเสียสัดส่วนการถือหุ้นไป เช่น จากเดิมที่ถืออยู่ 100% ก็ลดสัดส่วนลงเหลือเท่าไหร่ก็ว่ากันไป แล้วแต่ว่าจะออกหุ้นเพิ่มทุนเท่าไหร่ หลายธุรกิจที่เป็นธุรกิจครอบครัวจึงไม่มีความคิดที่เอาเข้าจดทะเบียนในตลาด ไม่ว่าจะเป็นห้างเซนทรัล (ที่เป็นส่วนรีเทล หรือ CRC) หรืออย่างห้างเดอะมอลล์ แม้ว่าทางการจะอยากให้เอาเข้าตลาด และมีคนเชิญชวนหลายต่อหลายครั้ง
แต่ธุรกิจที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ของตระกูลของเขา ใครกัน อยากจะให้คนอื่นมาร่วมเป็นเจ้าของ และยิ่งหากธุรกิจไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ยิ่งเลิกคิดไปได้เลยที่จะเอามาเข้าตลาด

ธุรกิจบางแห่ง ไม่ได้คิดจะเอาเข้าตลาด แต่ก็ทนลูกตื๊อของที่ปรึกษาการเงินที่ไปชักชวนไม่ไหว ยกตัวอย่างเช่น ร้านสุกี้ ที่ไม่ได้อยากจะเอาเข้าเลย แต่ว่าทนลูกตื๊อไม่ไหว
หากเราเจอธุรกิจที่เจ้าของไม่ได้อยากจะทิ้งบริษัทของตัวเอง แต่ต้องการเงินไปขยายธุรกิจจริงๆ จนทำให้ต้องเอามาเข้าตลาด ธุรกิจเหล่านี้เราจะเห็นได้เลยว่า เจ้าของจะกอดหุ้นไว้อย่างแน่น คือหลังจากออกหุ้นเพิ่มเพื่อขาย IPO แล้ว เจ้าของจะไม่ขายหุ้นออกมาเลย แต่เขาจะดำรงสัดส่วนการถือหุ้นเอาไว้อย่างนั้น เพื่อให้ตัวเองยังคงอำนาจในการบริหารเอาไว้

บางบริษัทเอาเข้าตลาดมาไม่กี่ปีก็ตัดสินใจเอาออกจากตลาดไปเลยก็มี นักลงทุนที่ซื้อหุ้นบริษัทเหล่านี้ อย่างน้อยก็มั่นใจ สบายใจได้ว่าเจ้าของเดิมแม้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไป แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาบริหารงานต่อไป เพราะเขายังรักธุรกิจของเขา แต่จำเป็นต้องเอามาเข้าตลาดหุ้นอาจเพียงเพราะต้องการเงินเพื่อทำตามฝันของตัวเองให้สำเร็จในการขยายกิจการ แต่ก็มีบริษัทอีกบางประเภท ที่ใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นเครื่องมือในการ "สร้างกำไร" จากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนจึงเป็นทางในการ exit ออกจากธุรกิจ

ธุรกิจที่เกิดใหม่บางแห่ง เป็นธุรกิจที่เกาะกระแส และผู้ก่อตั้งอาจมองออกตั้งแต่แรกแล้วว่า ธุรกิจที่ทำอยู่ มันจะบูมแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในอนาคตยาวไกลออกไป อาจจะไม่เป็นเหมือนช่วงแรกๆ การอาศัยช่องทางในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นทางที่จะทำให้เขา exit ออกจากธุรกิจได้ ไม่เพียงแต่เจ้าของเท่านั้นที่อยากออก ธุรกิจบางประเภท เริ่มต้นจากเงินเพียงไม่มาก แต่เนื่องจากพอจะมีอนาคต เลยทำให้มีคนอยากเข้ามาร่วมลงทุนในรูปของ "เงินร่วมลงทุน" หรือ venture capital

venture capital ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของกองทุน venture fund หรือว่าจะเป็นเงินส่วนตัว (เราเรียกบุคคลที่สนับสนุนเงินส่วนตัวให้ในรูปแบบ venture capital ว่า angels หรือว่านางฟ้า) เขาไม่ได้คิดจะลงเงินในระยะเวลานาน เมื่อเขาเอาเงินเข้ามา จะต้องมีทางออกให้กับเงินที่เป็น venture capital เหล่านี้ และทางออกของนักลงทุนกลุ่มนี้ ก็คือ การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ผู้ร่วมลงทุนบางคนจะมีข้อกำหนดไว้เลยว่า จะต้องมีการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลากี่ปี ดังนั้น เราจะเห็นได้เลยว่า หลายครั้งที่มีการขายหุ้น IPO จะมีการเอาหุ้นของกองทุนบางแห่งออกมาขายร่วมด้วย หรือว่ามีการโยน big lot จากกองทุนบางแห่งในวันแรกที่ราคา IPO ส่วนใหญ่จะเดาได้ล่วงหน้าเลยว่า กองทุนเหล่านี้เป็นพวก venture capital fund
ในระยะหลัง เราเห็นหลายบริษัทที่มีเงินร่วมลงทุนในรูปแบบ venture capital แล้วทำการขายหุ้นออกในวันแรก ซึ่งส่วนใหญ๋จะมีการแจ้งเอาไว้ในหนังสือชี้ชวนอยู่แล้ว venture capital ไม่ใช่อะไรที่น่ากลัว เพราะถ้าไม่มีเงินทุนเหล่านี้ ธุรกิจก็ไม่มีวันดำเนินมาถึงวันนี้ได้ การขายของเงินลงทุนพวกนี้ ไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนจะต้องกลัวสักเท่าไหร่ เพราะเมื่อเทียบราคา IPO กับราคาต้นทุน (ซึ่งมักเป็นราคาพาร์) ก็ได้กำไรมากมายแล้ว และเขามักจะขายหมดในคราวเดียว เมื่อขายเสร็จ ก็เอาเงินไปให้กับธุรกิจใหม่ต่อไป แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ "การขายออกของผู้ถือหุ้นเดิม" อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า เจ้าของธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ และรักกิจการของตัวเอง ไม่มีใครอยากลดสัดส่วนการถือหุ้นลง ลำพังแค่เอาหุ้นเข้าตลาดแล้วสัดส่วนการถือหุ้นต้องเหลือ 70% พวกนี้ก็แทบจะร้องไห้แล้ว แต่เจ้าของเดิมบางรายที่หวังอาศัยตลาดหุ้นเป็นช่องทางในการชิ่งหนีจากธุรกิจก็มีไม่น้อย

ลองสังเกตดูได้เลย บางบริษัทเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน แต่ก็เอาหุ้นของตัวเองออกมาขายร่วมด้วย บางบริษัทแม้ไม่ขายหุ้นของเจ้าของออกมาตั้งแต่แรก แต่ก็จะมีการขาย big lot โดยอ้างว่า เป็นการขายให้นักลงทุนสถาบันที่อยากถือหุ้น และเป็นการกระจายหุ้นเพื่อให้หุ้นมีสภาพคล่องมากขึ้น บางรายขายแล้ว ก็ขายอีก ขายเรื่อยๆ นักลงทุนที่ไม่ได้ติดตามข่าว มาดูอีกที อ้าว เจ้าของเดิมเหลือหุ้นอยู่แค่นี้เองเรอะ? แบบนี้สิ น่ากลัว เราต้องระมัดระวังธุรกิจประเภทนี้เอาไว้ให้มาก เพราะเจ้าของธุรกิจที่ดี ไม่มีใครคิดจะทิ้งบริษัทที่ตัวเองสร้างขึ้นมากับมือ แต่ก็มีบางครั้งที่การขายของเจ้าของเดิมก็เป็นเรื่องที่พอจะสมเหตุสมผล เราจะเห็นว่าธุรกิจบางแห่ง เพิ่งเปิดกิจการมาได้ไม่นาน เจ้าของทั้งใส่เงินของตัวเองลงไป ไหนจะกู้เงินอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย เมื่อขาย IPO เอาหุ้นเข้าตลาด ก็อาศัยจังหวะนี้เป็นการ ถอนทุนและกำไรที่ตัวเองต้องการออก ส่วนที่เหลืออยู่นับว่าเป็นกำไร ถ้าธุรกิจมันจะเจ๊งในวันข้างหน้า ตัวเองก็ไม่ได้ขาดทุนอะไรอยู่แล้ว

การขายหุ้นออกของเจ้าของ นักลงทุนจึงควรให้ความสนใจเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่หุ้นเอาเข้าตลาด หรือทำ IPO แล้ว ถ้าของมันดีจริง ใครจะอยากให้คนอื่นมาเป็นเจ้าของร่วมกันมากมาย ไม่ต้องคิดอะไรมาก และถ้าเป็นไปได้ก็ควรติดตามการขายหุ้นออกของเจ้าของเดิมไว้ด้วย เพราะการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง อาจตีความได้ว่า "เจ้าของเดิม ไม่เหลือใจในการทำธุรกิจแล้ว" แล้วธุรกิจที่แม้แต่เจ้าของเดิมยังไม่อยากได้ เราจะยังอยากถือหุ้นหรือหุ้นเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะจบด้วยการเป็นหุ้น "เบี้ยหัวแตก" คือไม่มีใครถือหุ้นใหญ่เลย มีแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเต็มไปหมดจริงๆ แล้ว การพิจารณาหุ้น IPO แต่ละตัวจึงต้องมองลึกลงไปถึง "เจตนา" ว่าลึกๆแล้ว เจ้าของต้องการเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน "เพื่ออะไร?"

การอ่านหนังสือชี้ชวนเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ตัดสินได้ว่า เจตนาของการทำ IPO คืออะไร ต้องอาศัยการสืบค้น หาข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวทางการ ข่าว gossip ซุบซิบดูเบื้องหลังของผู้บริหารว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกทางที่ช่วยในการตัดสินใจได้ และยิ่งถ้าไปเจอบริษัทที่เข้าตลาดมาด้วยการทำ backdoor listing อย่างพวกบริษัทที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างมาก

การ backdoor ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เข้ามาใหม่จะมีต้นทุนที่ต่ำมาก ทั้งในคราวแรกที่มีการ swap หุ้น แล้วอาจจะมีการขาย pp ราคาถูกๆให้กลุ่มก้อนของตัวเองหลังจากนั้นอีก ถ้าเป็นการ backdoor โดยการหวังเอาบริษัทของตัวเองเข้ามาจดทะเบียน ก็ยังดีตรงที่ว่า อย่างน้อยบริษัทก็ยังน่าจะประกอบธุรกิจไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ที่บริษัทมีปัญหา นักลงทุนต้องไม่ลืมระลึกไว้เสมอว่า ต้นทุนเขาต่ำมาก หรืออาจจะมีการดึงต้นทุนออกไปหมดแล้ว ถ้าจะเจ๊ง คนที่เจ๊งน่ะ คือเรา ไม่ใช่เขาแต่มันจะมีพวก backdoor หรือการเข้าลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ที่ผู้เข้าลงทุน ไม่ได้ต้องการจะทำธุรกิจ แต่เห็นว่า บริษัทเป้าหมายที่มีปัญหาอยู่นั้น มี "ทรัพย์สิน" ที่น่าสนใจ
จุดมุ่งหมายของการเข้าซื้อบริษัทเหล่านี้ มักจะเป็นการเข้าซื้อเพื่อหวังถ่ายโอนเอาทรัพย์สินออกไป ไม่ได้มุ่งหวังเข้ามาประกอบธุรกิจใดๆทั้งสิ้น เราจึงมักเห็นการอนุมัติใช้เงินของบริษัทไปในโครงการต่างๆที่ดูแล้ว ไม่สมเหตุสมผล หรือท้ายที่สุด ก็จะมีขบวนการในการดึงเอาทรัพย์สินที่เป็นเป้าหมายออกไปเป็นของตนเอง อาจจะผ่านการฟ้องร้อง หรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนใหญ๋จะเป็น "ที่ดิน" พอกลุ่มก้อนของตนเองสูบเลือดสูบเนื้อจากบริษัทออกไปหมดแล้ว ก็สมประสงค์ ต่อให้หุ้นถูกขึ้น SP หรือจะต้องล้มละลาย ก็ไม่เสียหายอะไรมาก นั่นเพราะทรัพย์สินที่ผ่องถ่ายออกไปนั้นมันคุ้มค่าเกินกว่ามูลค่าของหุ้นที่ต้องสูญไปแล้วอะไรล่ะ ที่จะเหลือไปถึงมือผู้ถือหุ้นรายอื่น??

คำตอบคือ ไม่เหลืออะไรเลย ดังนั้น การเข้าลงทุนในหุ้นสักตัวหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่เราควรต้องให้ความสำคัญเอาไว้เสมอก็คือ นิสัยของ "เจ้าของ" และพยายามมองลึกลงไปถึง "เจตนา" ของเขาให้ออก ว่าเขาต้องการทำธุรกิจ หรือว่าต้องการกอบโกย ดูให้ออกว่า เขายังรักบริษัทอยู่ หรือเขาคิดจะ "ทิ้ง" บริษัทไปแล้ว
Cr. Wattana Stock Page

วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประวัติศาสตร์และอนาคตของมนุษยชาติ

เมื่อเร็วนี้หนังสือเกี่ยวกับเรื่องของประะวัติศาสตร์ชื่อ Yuval Noah Harari  หนังสือสองเล่มนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์และการทำนายอนาคตของมนุษยศาสตร์ตามลำดับ  ทั้งสองเล่มเป็นหนังสือขายดี  เป็น Best Seller ระดับนานาชาติ  คนที่เขียนคำนิยมและยกย่องชมเชยให้กับหนังสือนั้นรวมถึงอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา  บิล เกต และมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก   ดังนั้น  มันไม่ใช่หนังสือธรรมดา ๆ ที่คอหนังสือจะมองข้ามได้  โดยเฉพาะผมเองที่เป็นคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ผมจึงอ่านทั้งสองเล่มอย่าง “วางไม่ลง”  ผมคิดว่ามันเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากเพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นล้านเป็นแสนปีแต่เขียนให้จบภายในไม่กี่ร้อยหน้า  ที่สำคัญ  มันให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง  มันทำให้รู้ว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการมาอย่างไรจนมาเป็นอย่างทุกวันนี้ที่เรามีสังกัดเป็นคนชาตินั้นชาตินี้  มีศาสนา  มีวัฒนธรรม  มีนิสัยใจคอ  มีพฤติกรรมต่าง ๆ  ที่แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ  ทั้งโลก  อยู่กันในหมู่บ้านและเมือง  มีเงินใช้  มีตลาดและการซื้อขายหุ้น  และยังมีอะไรต่าง ๆ  อีกมากมายที่มนุษย์ “สร้างและจินตนาการขึ้นมา” และทุกคนยอมรับ

    หนังสือเล่มแรกที่เล่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก็คือ  Sapiens: A Brief History of Humankind  เล่มนี้เริ่มเล่าตั้งแต่การที่มนุษย์เริ่มรู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผลมีความเข้าใจและสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 70,000 ปีก่อน  ซึ่งเหตุผลที่มนุษย์เริ่มเป็นสัตว์ที่มีความคิดนี้ก็ยังไม่ชัดว่าเป็นเพราะอะไร  เพราะก่อนหน้านั้นที่มนุษย์ยุคใหม่เริ่มปรากฏขึ้นเมื่อประมาณ 150,000 ปี นั้น  พวกเราก็ยังคล้าย ๆ  กับลิงชิมแปนซีที่เดินหากินอยู่ในป่าไปวัน ๆ  ต่อมา  ประมาณ 40,000 ปี ที่แล้ว  มนุษย์ก็เดินทางจากอาฟริกาไปทั่วโลกซึ่งรวมถึงอเมริกาและออสเตรเลียที่ต้องข้ามทะเลกว้างแต่ในสมัยนั้นโลกยังเป็นยุคน้ำแข็งที่คนสามารถเดินข้ามทะเลที่เป็นน้ำแข็งต่อกันไปถึงแผ่นดินใหม่เหล่านั้นได้

    มนุษย์เราเพิ่งจะเริ่มรู้จักปลูกพืชทำการเกษตรและอยู่กันเป็นหมู่บ้านประมาณ 11,000 ปีที่แล้วนี่เองหลังจากที่อาศัยอยู่ในถ้ำ  หาของป่า  ล่าสัตว์เลี้ยงชีพมาเป็นแสน ๆ ปี  และนี่ก็เป็นการ “ปฏิวัติ” ครั้งสำคัญและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่ก่อให้เกิดอารยะธรรมที่ดำเนินมาอย่างรวดเร็วจนถึงทุกวันนี้

    การที่มนุษย์เริ่มอยู่กับที่เป็นหลักเป็นแหล่งและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ทำให้มนุษย์มีการขยายจำนวนประชากรขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองและดังนั้นจึงต้องมี “สถาบัน” ที่จะควบคุมให้สังคมมีความสงบสุข  นั่นทำให้มนุษย์เริ่มต้องมีผู้ปกครองและระบบการปกครอง  เริ่มมีรัฐ  มีกษัตริย์  มีศาสนา  มีกฎหมายมีระบบความนึกคิดต่าง ๆ  มีเงินเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เริ่มมี  “ผู้เชี่ยวชาญ”  ที่ทำงานอาชีพต่าง ๆ  นำสินค้าที่ตนเองผลิตมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ตนเองต้องการ  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงนี้มนุษย์ในโลกก็ยังพัฒนาไปอย่าง “ช้า ๆ” เพราะทุกอย่างก็อาศัยกำลังคนและสัตว์ประกอบกับเครื่องมือที่ยังไม่ซับซ้อน

    การ “ปฏิวัติครั้งที่สอง”  ของมนุษยชาติ น่าจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีมานี่เอง  นี่คือการปฏิวัติทาง  “วิทยาศาสตร์”  ที่คนเริ่มมีความคิดว่าสิ่งและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลและการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์  เป็นเรื่องของ “ธรรมชาติ”  ไม่ใช่เกิดจากการบัญชาของพระเจ้าหรือภูตผีปีศาจหรือความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมานานโดยพระที่อ้างว่าเป็นผู้นำสารของพระเจ้า    ยุคนี้น่าจะเริ่มประมาณสมัยกาลิเลโอที่พิสูจน์ว่าโลกกลม  ไม่ได้แบนเหมือนอย่างที่คนเข้าใจ  เป็นต้น

    การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นจุดที่ก่อให้เกิดการ  “ปฏิวัติทางอุตสาหกรรม”  ที่เริ่มต้นมาประมาณ 250 ปีก่อนหน้านี้จากการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำของเจมส์ วัตต์ที่เปลี่ยนแปลงการผลิตของมนุษย์อย่างสิ้นเชิงจากการใช้แรงงานคนและสัตว์มาใช้เครื่องจักรกลที่ใช้พลังความร้อนที่ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

    การปฏิวัติครั้งล่าสุดนั้นเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 50-60 ปีมานี้เองนั่นก็คือการ “ปฏิวัติของข้อมูลและข่าวสาร” ที่เริ่มจากการใช้คอมพิวเตอร์มาประมวลผล  และนี่ก็นำไปสู่การปฏิวัติทางด้านไบโอเท็คโนโลยีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในตัวของมนุษย์และอาจจะนำไปสู่การทำลายมนุษยชาติเองในที่สุดตามความเชื่อของฮาราริ

    จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ผมคิดว่ามาจากแนวทางการเขียนที่นำเอาธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ที่จริง ๆ  แล้วก็เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งที่ “บังเอิญ” มีวิวัฒนาการที่แตกต่างออกไป  “เล็กน้อย”  เช่นเรื่องของความสามารถในการพูดและภาษาซึ่งทำให้สามารถติดต่อสื่อสารได้ดีขึ้นและใช้มันจนประสบความสำเร็จกลายเป็น  “คนเหนือสัตว์” ที่สามารถเอาชนะสัตว์ทั้งมวลและทำอะไรต่าง ๆ  ที่สัตว์ไม่สามารถทำได้  อย่างไรก็ตาม  ยีนของคนก็ยังเป็นแบบเดิม  มีอารมณ์และนิสัยแบบเดิม  ยังกินและทำลายสัตว์อื่นรวมทั้งพวกตัวเองที่เป็น “กลุ่มอื่น”  เป็นต้น  นอกจากนั้น  การที่วิวัฒนาการก้าวหน้ามากขึ้นนั้นก็อาจจะไม่ได้ทำให้มนุษยชาติดีขึ้นแต่อย่างใดด้วย

    หนังสือเล่มที่สองชื่อ Homo Deus: A Brief History of Tomorrow  ซึ่งเป็นการทำนายถึงอนาคตของมนุษยชาติ   ธีมของหนังสือเล่มนี้ดูเหมือนว่าจะมองเรื่องของวิวัฒนาการของมนุษยชาติในแง่ร้าย  เขามองว่ามนุษย์พยายามสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ  เพื่อสร้างพลังอำนาจให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และพยายามเอาชนะธรรมชาติและปราศจากการตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาว่าวันหนึ่งสิ่งที่มนุษยชาติทำนั้นจะทำลายตัวเอง สิ่งต่าง ๆ  เหล่านั้นรวมถึงการที่มนุษย์อาจจะรบกันเองจนโลกสลาย   ทำลายสิ่งแวดล้อมจนอยู่ไม่ได้  หรืออาจจะสร้างหุ่นยนต์หรือ AI ขึ้นมามีความรู้ความสามารถสูงจนคนไม่มีความหมาย  คนจำนวนมหาศาลอาจจะต้องตกงานและเกิดความยากลำบากจากการพัฒนาของหุ่นยนต์   คนอาจจะอยู่ได้เป็นอมตะแต่ชีวิตก็อาจจะไร้ความหมาย  เขาคิดว่ามนุษย์จะต้องพยายามกลับมาคิดว่าจะพัฒนากันอย่างไรที่จะทำให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้มนุษย์มีความสุขขึ้นแทนที่จะพยายามควบคุมทุกอย่างและเพิ่มศักยภาพขึ้นเรื่อย ๆ  เขากลัวว่าวันหนึ่งมนุษย์ก็อาจจะเป็นแค่ “ระบบทางชีวภาพ” อีกระบบหนึ่งที่ถูกคุมด้วยระบบเครือข่ายใหญ่ของโลกที่จะคอยบอกว่าเราจะต้องทำอะไรนาทีต่อนาที

    ถ้ามองถึงตัวฮาราริเองนั้น  เขาเป็นคนยิวที่มีความคิด “สุดโต่ง”  นอกจากประวัติศาสตร์แล้ว  เขาน่าจะเป็นนักปรัชญาและออกจะมีแนวชีวิตแบบ “ตะวันออก”  เช่น  เขาเป็นนักวิปัสสนาตัวยง  ต้องนั่งทำทุกวันและปีหนึ่งต้องสละเวลา  บางทีเป็นเดือน  เพื่อนั่งทำสมาธิโดยไม่ติดต่อกับผู้คน  เขาบอกว่าการทำสมาธิเป็นส่วนหนึ่งของการทำวิจัยที่สำคัญมากของเขา   เขาไม่กินเนื้อสัตว์เพราะเชื่อในเรื่อง “สิทธิของสัตว์” อย่างแรงกล้า  เขาไม่คิดว่ามนุษย์นั้นควรมีสิทธิและอ้างสิทธิเหนือสัตว์  เขาแต่งงานอยู่กินกับผู้ชายและไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ  เช่นเดียวกัน  ดูเหมือนว่าหนังสือจำนวนมากมายที่เขาเขียนเองนั้น  ก็ “สุดโต่ง”  แต่ก็เต็มไปด้วยเหตุผล  ผมเองคิดว่าเขาจะเป็น “ยักษ์”  หรือผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของโลกในฐานะนักคิดที่มีความเป็นเอกลักษณ์  หนังสือ 2 เล่มที่สร้างชื่อให้  “ดังระเบิด”  นี้  ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและอีกกว่า 30 ภาษาทั่วโลก  ผมเองได้แต่หวังว่าวันหนึ่งจะมีแปลเป็นภาษาไทย

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView