วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เอาหุ้นเข้าตลาดเพื่ออะไร??

16 สิงหาคม 2560 / 18.04 น.

ในทางทฤษฎี การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นนับเป็นช่องทางในการระดมทุนทางหนึ เมื่อบริษัทเติบโตขึ้น ต้องการเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ หากจะรอเงินจากการดำเนินงาน ก็อาจไม่ทัน การกู้เงิน โดยทั่วไปธนาคารก็จะดูงบ และมันจะมีจุดที่ธนาคารจะไม่ยอมปล่อยกู้ให้อีกแล้ว

ดังนั้น การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจได้เงินไปใช้ในการขยายกิจการต่อไปแต่การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท จะต้องเสียสัดส่วนการถือหุ้นไป เช่น จากเดิมที่ถืออยู่ 100% ก็ลดสัดส่วนลงเหลือเท่าไหร่ก็ว่ากันไป แล้วแต่ว่าจะออกหุ้นเพิ่มทุนเท่าไหร่ หลายธุรกิจที่เป็นธุรกิจครอบครัวจึงไม่มีความคิดที่เอาเข้าจดทะเบียนในตลาด ไม่ว่าจะเป็นห้างเซนทรัล (ที่เป็นส่วนรีเทล หรือ CRC) หรืออย่างห้างเดอะมอลล์ แม้ว่าทางการจะอยากให้เอาเข้าตลาด และมีคนเชิญชวนหลายต่อหลายครั้ง
แต่ธุรกิจที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ของตระกูลของเขา ใครกัน อยากจะให้คนอื่นมาร่วมเป็นเจ้าของ และยิ่งหากธุรกิจไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ยิ่งเลิกคิดไปได้เลยที่จะเอามาเข้าตลาด

ธุรกิจบางแห่ง ไม่ได้คิดจะเอาเข้าตลาด แต่ก็ทนลูกตื๊อของที่ปรึกษาการเงินที่ไปชักชวนไม่ไหว ยกตัวอย่างเช่น ร้านสุกี้ ที่ไม่ได้อยากจะเอาเข้าเลย แต่ว่าทนลูกตื๊อไม่ไหว
หากเราเจอธุรกิจที่เจ้าของไม่ได้อยากจะทิ้งบริษัทของตัวเอง แต่ต้องการเงินไปขยายธุรกิจจริงๆ จนทำให้ต้องเอามาเข้าตลาด ธุรกิจเหล่านี้เราจะเห็นได้เลยว่า เจ้าของจะกอดหุ้นไว้อย่างแน่น คือหลังจากออกหุ้นเพิ่มเพื่อขาย IPO แล้ว เจ้าของจะไม่ขายหุ้นออกมาเลย แต่เขาจะดำรงสัดส่วนการถือหุ้นเอาไว้อย่างนั้น เพื่อให้ตัวเองยังคงอำนาจในการบริหารเอาไว้

บางบริษัทเอาเข้าตลาดมาไม่กี่ปีก็ตัดสินใจเอาออกจากตลาดไปเลยก็มี นักลงทุนที่ซื้อหุ้นบริษัทเหล่านี้ อย่างน้อยก็มั่นใจ สบายใจได้ว่าเจ้าของเดิมแม้จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงไป แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาบริหารงานต่อไป เพราะเขายังรักธุรกิจของเขา แต่จำเป็นต้องเอามาเข้าตลาดหุ้นอาจเพียงเพราะต้องการเงินเพื่อทำตามฝันของตัวเองให้สำเร็จในการขยายกิจการ แต่ก็มีบริษัทอีกบางประเภท ที่ใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นเครื่องมือในการ "สร้างกำไร" จากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมา การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนจึงเป็นทางในการ exit ออกจากธุรกิจ

ธุรกิจที่เกิดใหม่บางแห่ง เป็นธุรกิจที่เกาะกระแส และผู้ก่อตั้งอาจมองออกตั้งแต่แรกแล้วว่า ธุรกิจที่ทำอยู่ มันจะบูมแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในอนาคตยาวไกลออกไป อาจจะไม่เป็นเหมือนช่วงแรกๆ การอาศัยช่องทางในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นทางที่จะทำให้เขา exit ออกจากธุรกิจได้ ไม่เพียงแต่เจ้าของเท่านั้นที่อยากออก ธุรกิจบางประเภท เริ่มต้นจากเงินเพียงไม่มาก แต่เนื่องจากพอจะมีอนาคต เลยทำให้มีคนอยากเข้ามาร่วมลงทุนในรูปของ "เงินร่วมลงทุน" หรือ venture capital

venture capital ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของกองทุน venture fund หรือว่าจะเป็นเงินส่วนตัว (เราเรียกบุคคลที่สนับสนุนเงินส่วนตัวให้ในรูปแบบ venture capital ว่า angels หรือว่านางฟ้า) เขาไม่ได้คิดจะลงเงินในระยะเวลานาน เมื่อเขาเอาเงินเข้ามา จะต้องมีทางออกให้กับเงินที่เป็น venture capital เหล่านี้ และทางออกของนักลงทุนกลุ่มนี้ ก็คือ การเอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ผู้ร่วมลงทุนบางคนจะมีข้อกำหนดไว้เลยว่า จะต้องมีการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลากี่ปี ดังนั้น เราจะเห็นได้เลยว่า หลายครั้งที่มีการขายหุ้น IPO จะมีการเอาหุ้นของกองทุนบางแห่งออกมาขายร่วมด้วย หรือว่ามีการโยน big lot จากกองทุนบางแห่งในวันแรกที่ราคา IPO ส่วนใหญ่จะเดาได้ล่วงหน้าเลยว่า กองทุนเหล่านี้เป็นพวก venture capital fund
ในระยะหลัง เราเห็นหลายบริษัทที่มีเงินร่วมลงทุนในรูปแบบ venture capital แล้วทำการขายหุ้นออกในวันแรก ซึ่งส่วนใหญ๋จะมีการแจ้งเอาไว้ในหนังสือชี้ชวนอยู่แล้ว venture capital ไม่ใช่อะไรที่น่ากลัว เพราะถ้าไม่มีเงินทุนเหล่านี้ ธุรกิจก็ไม่มีวันดำเนินมาถึงวันนี้ได้ การขายของเงินลงทุนพวกนี้ ไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนจะต้องกลัวสักเท่าไหร่ เพราะเมื่อเทียบราคา IPO กับราคาต้นทุน (ซึ่งมักเป็นราคาพาร์) ก็ได้กำไรมากมายแล้ว และเขามักจะขายหมดในคราวเดียว เมื่อขายเสร็จ ก็เอาเงินไปให้กับธุรกิจใหม่ต่อไป แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ "การขายออกของผู้ถือหุ้นเดิม" อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า เจ้าของธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ และรักกิจการของตัวเอง ไม่มีใครอยากลดสัดส่วนการถือหุ้นลง ลำพังแค่เอาหุ้นเข้าตลาดแล้วสัดส่วนการถือหุ้นต้องเหลือ 70% พวกนี้ก็แทบจะร้องไห้แล้ว แต่เจ้าของเดิมบางรายที่หวังอาศัยตลาดหุ้นเป็นช่องทางในการชิ่งหนีจากธุรกิจก็มีไม่น้อย

ลองสังเกตดูได้เลย บางบริษัทเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน แต่ก็เอาหุ้นของตัวเองออกมาขายร่วมด้วย บางบริษัทแม้ไม่ขายหุ้นของเจ้าของออกมาตั้งแต่แรก แต่ก็จะมีการขาย big lot โดยอ้างว่า เป็นการขายให้นักลงทุนสถาบันที่อยากถือหุ้น และเป็นการกระจายหุ้นเพื่อให้หุ้นมีสภาพคล่องมากขึ้น บางรายขายแล้ว ก็ขายอีก ขายเรื่อยๆ นักลงทุนที่ไม่ได้ติดตามข่าว มาดูอีกที อ้าว เจ้าของเดิมเหลือหุ้นอยู่แค่นี้เองเรอะ? แบบนี้สิ น่ากลัว เราต้องระมัดระวังธุรกิจประเภทนี้เอาไว้ให้มาก เพราะเจ้าของธุรกิจที่ดี ไม่มีใครคิดจะทิ้งบริษัทที่ตัวเองสร้างขึ้นมากับมือ แต่ก็มีบางครั้งที่การขายของเจ้าของเดิมก็เป็นเรื่องที่พอจะสมเหตุสมผล เราจะเห็นว่าธุรกิจบางแห่ง เพิ่งเปิดกิจการมาได้ไม่นาน เจ้าของทั้งใส่เงินของตัวเองลงไป ไหนจะกู้เงินอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย เมื่อขาย IPO เอาหุ้นเข้าตลาด ก็อาศัยจังหวะนี้เป็นการ ถอนทุนและกำไรที่ตัวเองต้องการออก ส่วนที่เหลืออยู่นับว่าเป็นกำไร ถ้าธุรกิจมันจะเจ๊งในวันข้างหน้า ตัวเองก็ไม่ได้ขาดทุนอะไรอยู่แล้ว

การขายหุ้นออกของเจ้าของ นักลงทุนจึงควรให้ความสนใจเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่หุ้นเอาเข้าตลาด หรือทำ IPO แล้ว ถ้าของมันดีจริง ใครจะอยากให้คนอื่นมาเป็นเจ้าของร่วมกันมากมาย ไม่ต้องคิดอะไรมาก และถ้าเป็นไปได้ก็ควรติดตามการขายหุ้นออกของเจ้าของเดิมไว้ด้วย เพราะการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง อาจตีความได้ว่า "เจ้าของเดิม ไม่เหลือใจในการทำธุรกิจแล้ว" แล้วธุรกิจที่แม้แต่เจ้าของเดิมยังไม่อยากได้ เราจะยังอยากถือหุ้นหรือหุ้นเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะจบด้วยการเป็นหุ้น "เบี้ยหัวแตก" คือไม่มีใครถือหุ้นใหญ่เลย มีแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเต็มไปหมดจริงๆ แล้ว การพิจารณาหุ้น IPO แต่ละตัวจึงต้องมองลึกลงไปถึง "เจตนา" ว่าลึกๆแล้ว เจ้าของต้องการเอาหุ้นเข้าจดทะเบียน "เพื่ออะไร?"

การอ่านหนังสือชี้ชวนเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ตัดสินได้ว่า เจตนาของการทำ IPO คืออะไร ต้องอาศัยการสืบค้น หาข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวทางการ ข่าว gossip ซุบซิบดูเบื้องหลังของผู้บริหารว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกทางที่ช่วยในการตัดสินใจได้ และยิ่งถ้าไปเจอบริษัทที่เข้าตลาดมาด้วยการทำ backdoor listing อย่างพวกบริษัทที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างมาก

การ backdoor ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เข้ามาใหม่จะมีต้นทุนที่ต่ำมาก ทั้งในคราวแรกที่มีการ swap หุ้น แล้วอาจจะมีการขาย pp ราคาถูกๆให้กลุ่มก้อนของตัวเองหลังจากนั้นอีก ถ้าเป็นการ backdoor โดยการหวังเอาบริษัทของตัวเองเข้ามาจดทะเบียน ก็ยังดีตรงที่ว่า อย่างน้อยบริษัทก็ยังน่าจะประกอบธุรกิจไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ที่บริษัทมีปัญหา นักลงทุนต้องไม่ลืมระลึกไว้เสมอว่า ต้นทุนเขาต่ำมาก หรืออาจจะมีการดึงต้นทุนออกไปหมดแล้ว ถ้าจะเจ๊ง คนที่เจ๊งน่ะ คือเรา ไม่ใช่เขาแต่มันจะมีพวก backdoor หรือการเข้าลงทุนอีกประเภทหนึ่ง ที่ผู้เข้าลงทุน ไม่ได้ต้องการจะทำธุรกิจ แต่เห็นว่า บริษัทเป้าหมายที่มีปัญหาอยู่นั้น มี "ทรัพย์สิน" ที่น่าสนใจ
จุดมุ่งหมายของการเข้าซื้อบริษัทเหล่านี้ มักจะเป็นการเข้าซื้อเพื่อหวังถ่ายโอนเอาทรัพย์สินออกไป ไม่ได้มุ่งหวังเข้ามาประกอบธุรกิจใดๆทั้งสิ้น เราจึงมักเห็นการอนุมัติใช้เงินของบริษัทไปในโครงการต่างๆที่ดูแล้ว ไม่สมเหตุสมผล หรือท้ายที่สุด ก็จะมีขบวนการในการดึงเอาทรัพย์สินที่เป็นเป้าหมายออกไปเป็นของตนเอง อาจจะผ่านการฟ้องร้อง หรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนใหญ๋จะเป็น "ที่ดิน" พอกลุ่มก้อนของตนเองสูบเลือดสูบเนื้อจากบริษัทออกไปหมดแล้ว ก็สมประสงค์ ต่อให้หุ้นถูกขึ้น SP หรือจะต้องล้มละลาย ก็ไม่เสียหายอะไรมาก นั่นเพราะทรัพย์สินที่ผ่องถ่ายออกไปนั้นมันคุ้มค่าเกินกว่ามูลค่าของหุ้นที่ต้องสูญไปแล้วอะไรล่ะ ที่จะเหลือไปถึงมือผู้ถือหุ้นรายอื่น??

คำตอบคือ ไม่เหลืออะไรเลย ดังนั้น การเข้าลงทุนในหุ้นสักตัวหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่เราควรต้องให้ความสำคัญเอาไว้เสมอก็คือ นิสัยของ "เจ้าของ" และพยายามมองลึกลงไปถึง "เจตนา" ของเขาให้ออก ว่าเขาต้องการทำธุรกิจ หรือว่าต้องการกอบโกย ดูให้ออกว่า เขายังรักบริษัทอยู่ หรือเขาคิดจะ "ทิ้ง" บริษัทไปแล้ว
Cr. Wattana Stock Page

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView