วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทางรอดธุรกิจค้าปลีกไทย

นิทานการตลาด ตอนที่ 30



เพื่อเป็นการลดข้อกังขาสำหรับท่านผู้ติดตามนิทานการตลาดของผมมาแล้วถึง 29 ตอน ที่อาจมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า เจ้าของธุรกิจร้านโชวห่วยไทยจะเอาเครื่องมืออะไรไปต่อสู่กับพญาช้างศาลได้ ในเมื่อองค์ประกอบแทบทุกข้อ โชวห่วยไทยแทบจะมองไม่เห็นหนทางที่จะรอดได้เลย ดังนั้นผมจึงจำเป็นต้องเขียนนิทานอีกหนึ่งตอน ก่อนที่จะเดินกลางไปส่งคุณแม่ที่ภูเก็ตเป็นเวลา 3-4 วันเสียก่อน อย่างน้อยก็พอจะสามารถทำให้ใครต่อใคร ได้คลายข้อกังขาลงไปได้บ้าง

ผมขออนุญาตที่จะเขียนเรื่องราวต่อจากตอนที่ 26 ที่พูดถึงกรณี “มดล้มช้าง” เลยนะครับ ในตอนที่ผมได้เล่าไปแล้วนั้น ผมได้พูดถึงประเด็นจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติไปแล้ว และผมก็ได้พูดถึงประเด็นจุดอ่อนของธุรกิจค้าปลีกไทยด้วย มาวันนี้ผมจะพูดถึงแนวทางที่เราจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกของคนไทย สามารถเอาตัวรอดภายใต้ซอกเท้าช้างให้ได้เลยทีเดียว ซึ่งวิธีการจะรอดได้ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยต่อไปนี้คือ

1. การเลือกทำเลที่ตั้งร้านที่ถูกต้องและเหมาะสม ในประเด็นนี้ถ้าหากจะวิเคราะห์เพื่อการวางแผนเปิดร้านใหม่ ก็จำเป็นจะต้องมีการเลือกทำเลที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิธีคิดของร้านค้าปลีกยุคใหม่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งผมจะหาโอกาสมาเล่านิทานเรื่องการวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งในวันหน้านะครับ แต่วันนี้ผมจะแนะนำประเด็นของร้านที่เปิดกิจการไปนานแล้วก่อนจะดีกว่า ซึ่งขั้นตอนง่ายๆ ก็คือ ไปเอากระดาษขนาด A-4 มาจำนวนหนึ่งใบ แล้ววาดวงกลมเล็กๆ ตรงกลางกระดาษแล้วก็เขียนในวงกลมว่า “ร้านของเรา” จากนั้นก็ตั้งใจวาดแผนที่ร้านในรัศมี 500 เมตร คือ นับไปข้างหน้า ข้างหลัง ด้านซ้ายและด้านขวาของร้านในระยะทางห่างจากร้านด้านละ 500 เมตรนั่นเอง จากนั้นก็ค่อยๆ เติมรายละเอียดลงไปว่าในรัศมี 500 เมตรจากร้านเรานั้น มีโรงเรียนกี่แห่ง มีโรงพยาบาลกี่แห่ง มีหมู่บ้านจัดสรรกี่แห่ง มีแหล่งสำคัญๆ ที่เอื้อต่อโอกาสในการขายสินค้าของเราอะไรบ้าง ยิ่งเขียนได้ละเอียดมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะสำเร็จก็มากเท่านั้น เพราะทำเลที่แตกต่างกัน สินค้าขายดีก็จะไม่เหมือนกันนะครับ

2. การจัดร้านและการตกแต่งร้านที่สวยงามและเป็นระเบียบ ในประเด็นนี้ ผมขอแนะนำให้เจ้าของร้านตัดสินใจเลือกใช้ชั้นวางสินค้าตามรูปแบบร้านค้าปลีกสมัยใหม่เป็นอันดับแรก จากนั้นก็กำหนดแผนผังในร้านค้าว่าจะวางชั้นสินค้าอย่างไร แล้วค่อยมากำหนดหมวดหมู่สินค้า ตามแผนผังหลักของร้าน และถ้าหากทุกท่านนึกภาพไม่ออก ผมแนะนำให้เดินเข้าไปในร้าน 7-ELEVEN แล้วค่อยๆ นำมาเลียนแบบรูปแบบการจัดวางเลย จะถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการเข้ามาเปิดตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ถือว่ามีข้อดีอย่างหนึ่งคือ ได้มีร้านต้นแบบให้คนไทยได้นำมาเป็นตัวอย่างในการปรับปรุงรูปแบบร้านค้าของตัวเองได้สะดวกขึ้นนั่นเอง

3. การคัดเลือกสินค้าที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า ข้อนี้หลายคนอาจนึกว่า ร้านโชวห่วยต้องไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะไปจ้างนักบริหารสินค้ามีดีมาช่วยในการคัดเลือกสินค้าแน่ๆ แต่ผมก็จะแนะนำทางลัดสู่ความสำเร็จให้แบบง่ายๆ สบายๆ ก็คือ ไม่ได้ไปจ้างใครให้เปลืองเงิน ถ้าเรานึกไม่ออกว่าเราควรขายยาสีฟันยี่ห้อไหนดี เราก็ไปดูที่ร้าน 7-ELEVEN ว่าเขาขายยี่ห้ออะไร แล้วเราก็ตัดสินใจตามเขาได้เลยโดยไม่ต้องลังเล เพราะ 7-ELEVEN เขาวิเคราะห์มาอย่างดีเยี่ยมแล้ว ว่ายี่ห้อนั้นจะต้องขายดีแน่ๆ ไม่เช่นนั้นเขาก็ไม่สั่งมาขายให้เกะกะพื้นที่อันมีค่าของเขาแน่ๆ และสินค้าตัวอื่นๆ ก็ใช้วิธีคิดเดียวกันนี้ล่ะ ถือว่าง่ายที่สุดแล้วครับ

4. การบริการและการจัดการภายในร้านที่ดี ข้อนี้ถ้าคิดกันแบบสบายๆ ถือว่า ไม่ได้เป็นเรื่องยากใดๆ เลย แค่เรารู้จักสร้างบรรยากาศในร้านให้มองดูสะอาด และสบายตา ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำคือ เพิ่มหลอดไฟฟ้าจากที่มีอยู่เดิม อย่างต่ำ 2 เท่า เพราะผมเดินทางสำรวจร้านโขวห่วยทั่วไทยเกินกว่า 10,000 แห่ง จุดอ่อนคือ ในร้านจะมืดมาก หลอดไฟน้อยมาก ทำให้บรรยากาศในร้านดูมืด ไม่น่าเข้ามาซื้อสินค้าเลย ถ้าไม่กล้าตัดสินใจก็ลองไปเดินนับหลอดไฟในร้าน 7-ELEVEN ก็จะได้รู้ว่าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นแต่ละสาขา เขาใช้หลอดไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 50 หลอดกันเลยทีเดียว นอกจากจะต้องเพิ่มความสว่างภายในร้านแล้ว สิ่งสำคัญคือ ควรกำหนดชุดเสื้อผ้าพนักงานให้มองดูเป็นระเบียบด้วย ไม่ใช่พนักงาน 5 คนแต่งตัวตามสบายกันคนละแบบ ก็จะทำให้มองดูร้านของเราขาดมาตรฐานที่สวยงามไปเลย

5. การบริหารด้านการตลาดและการส่งเสริมการขายที่เหมาะสม ข้อนี้ถือว่าเป็นข้อที่ยากมากที่สุด เอาไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดในโอกาสต่อไปจะดีกว่านะครับ แต่ในวันนี้จะขออธิบายเบื้องต้นก่อนว่า กิจกรรมส่งเสริมการขาย ถือเป็นเครื่องมือที่ดีแน่นอน สำหรับธุรกิจค้าปลีกทุกรูปแบบในประเทศไทย

6. การจัดการด้านระบบข้อมูลทางด้านสาระสนเทศที่ถูกต้อง ในประเด็นนี้ผมได้อธิบายอย่างดีแล้วในตอนที่ 24 เรื่องเริ่มต้นทำระบบสาระสนเทศอย่างง่าย ผมขอแนะนำให้ทุกท่านย้อนกลับไปอ่านซ้ำได้เลยนะครับ ส่วนท่านใดที่ตัดสินใจใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปก็ขอให้ตั้งคำถามเข้ามาถึงผมทางอีเมลได้นะครับผมจะอธิบายเป็นรายๆ ไป

7. การบริหารด้านบุคลากรและการพัฒนาอบรม ประเด็นนี้อาจดูไกลตัวไปสักนิดสำหรับร้านโชวห่วยเกือบทั่วประเทศไทย เพราะโดยปกติแล้วร้านโชวห่วยเกือบทั่วประเทศไทย มักจะค้าขายกันเองเป็นธุรกิจในครอบครัว ซึ่งสมาชิกในครอบครัวก็จะช่วยๆ กัน เอาไว้ท่านใดต้องการคำอธิบายที่พิเศษในกรณีที่ต้องจ้างบุคลากรจำนวนมาก ผมค่อยอธิบายเพิ่มเติมในโอกาสหน้านะครับ

คราวนี้มาดูข้อสรุปว่าทางรอดธุรกิจค้าปลีกไทยภายใต้ซอกเท้าช้างนั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นก่อนว่า ความรู้ต่างๆ ในด้านการบริหารจัดการ ทุกคนสามารถตามทันกันได้หมด ไม่ว่าเทคโนโลยีจะสูงล้ำสักแค่ไหน วันหนึ่งก็มีคนตามกันทันเสมอๆ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจค้าปลีกโมเดิร์นเทรดไม่มีทางแข่งกับร้านโชวห่วยได้เลยก็คือ การควบคุมต้นทุนในการบริหารจัดการภายในร้านนั่นเอง ฉะนั้นถ้าเราพัฒนาร้านของเราให้สวย เราก็สามารถศึกษาจากร้านโมเดิร์นเทรดได้ เราจะเลือกสินค้าเด่นๆ เราก็เลือกตามเขาได้ แม้แต่การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งร้านค้าเราก็พัฒนาปรับปรุงได้ทันเขา แต่เรื่องการควบคุมค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ผมรับประกันได้ว่า ... งานนี้ร้านโชวห่วยชนะตั้งแต่ยังไม่ต้องต่อสู้ด้วยซ้ำไป

หมากเด็ดที่สุด ที่ชาวโชวห่วยทุกคนต้องภูมิใจเป็นที่สุดก็คือ ร้านโชวห่วยแทบทุกแห่งทั่วประเทศไทย ผู้จัดการร้าน หรือผู้บริหารร้านคือเจ้าของร้านนั่นเอง ซึ่งความเป็นเจ้าของร้านก็จะทุ่มเท ดูแลกิจการของตนเทียบเท่ากับการดูแลชีวิตตัวเองเลยทีเดียว เพราะมันคือ แหล่งรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกคนในครอบครัว แต่ขณะเดียวกัน พนักงานทุกระดับในธุรกิจโมเดิร์นเทรดคือลูกจ้าง และไม่มีลูกจ้างที่ไหนจะทุ่มเททำงานจนสุดชีวิตเสมอเหมือนเขาเป็นเจ้าของกิจการอย่างแน่นอน และถ้าใครคิดตามผมมาตั้งแต่บรรทัดแรก...ผมสามารถรับประกันได้เลยว่า “โชวห่วยรอดแน่นอนครับ”


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล
เขียนเมื่อ วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView