วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กลยุทธ์การตลาดกับนวัตกรรม

นิทานการตลาด ตอนที่ 32


เนื่องจากหลายวันที่ผ่านมา มีเหตุต้องเคลียร์งานด่วนมากมายจึงต้องหยุดพักการเล่านิทานการตลาดเป็นการชั่วคราว แต่วันนี้พอจะมีเวลาว่างนิดหน่อย จึงแบ่งเวลามาเล่านิทานการตลาดพร้อมๆ กับนั่งจิบกาแฟร้อนๆ ไปพร้อมๆ กับคุณพ่อ และวันนี้ผมนึกอยากเล่าเรื่อง กลยุทธ์การตลาดกับนวัตกรรม เพราะมีแรงบันดาลใจจากความตั้งใจที่จะยืนยันว่ากลยุทธ์ Blue Ocean Strategy ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่สำหรับนักการตลาด แต่ความจริงคำว่า นวัตกรรม หรือ คำว่า Innovation มันเกิดมานานกว่า 25 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งมีการวางขายคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ หรือ เมื่อครั้งที่มีการวางขายโทรศัพท์มือถือยุคแรกๆ โน้นล่ะ

ผมย้อนนึกไปถึงเมื่อครั้งที่ตัวเองทำงานในตำแหน่งพนักงานบริษัทปูนซีเมนต์ ในต้นปี 2535 ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เริ่มลดราคาลงจาก เครื่องละแสนกว่าบาท ลดลงมาเหลือราวๆ 8-9 หมื่นบาท และปีนั้นผมได้ตัดสินใจซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นของตัวเองครั้งแรกด้วยราคาราวๆ 85,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจซื้อครั้งยิ่งใหญ่เป็นครั้งที่สองของชีวิตเลยทีเดียว เพราะกว่าจะหาเงินได้ 85,000 บาท มันเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ด้วยความอยากมี อยากได้มันรุนแรงกว่า ก็ทำให้ยอมตัดสินใจซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยราคาสูงริบขนาดนั้น ประกอบกับตำแหน่งหน้าที่การงานตอนนั้น ต้องเป็นเซลปูนซีเมนต์ เดินทางดูแลลูกค้า 6 จังหวัดในภาคใต้ ตั้งแต่ ประจวบ ชุมพร สุราษฎร์ กระบี่ พังงาและภูเก็ต ก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิ่งจำเป็นมากพอดี จึงกล้าตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องลังเลใจเลย

คำว่า “นวัตกรรม” หรือคำว่า “Innovation” จึงเกิดขึ้นในใจผมเป็นครั้งที่สอง นับจาก การตัดสินใจซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกยี่ห้อ Epson จากบริษัทสหวิริยา เครื่องละเกือบแสนในปี 2531 ซึ่งผมยืนยันว่าการตัดสินใจซื้อครั้งยิ่งใหญ่ทั้งสองครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจซื้อเพราะ “นวัตกรรม” โดยแท้ เพราะในยุคนั้น การที่ใครจะมีคอมพิวเตอร์ใช้เป็นการส่วนตัวสักเครื่องหนึ่ง หรือมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของตัวเองสักเครื่องหนึ่งนั้น ถือว่าเป็น “คนเหนือคน” เพราะถือว่านอกจากมีเงินแล้ว ยังมีรสนิยมทันยุคทันสมัยอีกต่างหาก แต่หากมามองวันนี้ มันกลายเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเสียแล้ว เพราะความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีทำให้สิ่งที่เคยถูกเรียกว่า “นวัตกรรมล้ำยุค” ต้องกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไปเสียสิ้น

ทำไมผมจึงกล้าตัดสินใจซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีราคาสูงกว่าเงินเดือนประจำถึงเกือบ 10 เท่าได้อย่างไม่ลังเล และแน่นอนที่สุดที่ผมจะต้องยกประโยชน์ให้กับนักการตลาดก่อนเป็นอันดับแรก ที่มีความสามารถในการนำเสนอคุณสมบัติพิเศษล้ำยุค ผ่านช่องทางสื่อสารทางการตลาดทุกรูปแบบ ให้ผมตระหนักว่า “มันคือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต” เพราะมันจะทำให้เราไม่พลาดทุกการติดต่อจากใครๆ แต่ความจริงในยุคนั้น เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วไทย หลายจังหวัดก็ยังใช้ไม่ได้ แต่ผมก็ยังฝืนๆ ทนๆ เอาเท่าที่มันจะรับได้ก็เป็นบุญแล้วนั่นเอง

ถึงแม้ว่านวัตกรรมล้ำยุคที่เกิดขึ้น จะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนักวิศวกรรมการสื่อสาร แต่ผมก็ยังลำเอียงเข้าข้างขีดความสามารถของนักการตลาดเอาไว้ก่อน เพราะนักการตลาดเป็นผู้นำเสนอผลงานนวัตกรรมล้ำยุคนั้นๆ เข้าสู่การยอมรับของผู้บริโภคในตลาดเสมอๆ และกาลเวลาที่ผ่านมายาวนานถึง 21 ปี สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เคยทำให้ผู้ครอบครองถูกมองราวเป็นเทวดาล้ำยุค ก็ได้กลายมาเป็นโทรศัพท์มือถือที่มีราคาถูกแสนถูก จนคนที่มีรายได้น้อยที่สุดในสังคมก็ยังสามารถมีใช้เป็นการส่วนตัวกันได้แทบทุกคน และที่น่าตกใจมากที่สุดก็คือ โทรศัพท์ที่ผมเคยเสียเงินซื้อด้วยราคาสูงถึง 85,000 บาท แต่เมื่อเทียบกับโทรศัพท์เครื่องล่าสุดที่ผมเพิ่งซื้อเมื่อเดือนก่อน ที่มีราคาเพียง 850 บาท แต่กลับสามารถใช้ได้ดีกว่าโทรศัพท์ที่มีราคาสูงถึง 85,000 เสียอีก ทั้งเบากว่า เสียงชัดเจนกว่า คุณสมบัติต่างๆ มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ติด

เริ่มจากกลยุทธ์ทางด้าน Product ที่คำว่านวัตกรรมได้เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางของการวางกลยุทธ์ ซึ่งแทนที่จะค้นหาว่าเราจะขายอะไร ค้นหาว่าลูกค้าต้องการอะไร กลายเป็น ทุกคนต้องร่วมมือกันค้นหานวัตกรรมล้ำยุค เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของมนุษย์ในทุกรูปแบบโดยไม่หยุดยั้งนั่นเอง

ตามมาด้วยกลยุทธ์ทางด้าน Price ที่ความเจริญทางเทคโนโยลี ได้เข้ามาทำให้คอมพิวเตอร์ที่ราคาเครื่องละเป็นแสน ทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องละเป็นแสน ได้กลายเป็นสินค้าราคาต่ำในตลาดในเสียสิ้น ดังนั้น กลยุทธ์ที่จะมานั่งวิเคราะห์หรือนั่งประเมินว่าเราจะขายสินค้าเท่าไหร่ดี หรือแทนที่จะต้องมานั่งประเมินว่าลูกค้าจะพึงพอใจซื้อในระดับราคาที่เท่าไหร่ ก็ต้องหันมาใส่ใจถึงเรื่อง นวัตกรรมที่จะลดต้นทุนของเทคโนโลยี ที่สามารถทำให้คนทั้งหมดในโลกนี้ สามารถครอบครองสินค้านั้นๆ ได้อย่างกว้างขวางมากที่สุดไปเลย

สืบเนื่องจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยีนี้เองส่งผลให้ ขีดความสามารถในการติดต่อสื่อสารก็ได้พัฒนาไปชนิดล้ำยุคตามมาติดๆ ทำให้การวางกลยุทธ์ด้าน Place หรือด้านช่องการทางการจัดจำหน่าย ที่พัฒนาสู่ยุคการมุ่งเน้นที่ความสะดวกซื้อมากที่สุดของผู้บริโภค ทำให้วันนี้ คนจำนวนมากในโลกนี้ ยินดีที่จะซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้นๆ อย่างไร้ขีดจำกัดตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้รูปแบบการวางกลยุทธ์แบบเดิมๆ เริ่มกลายเป็นเรื่องโบราณเกินไปเสียแล้ว

ประการสุดท้ายคือเรื่อง Promotion ก็ได้มีพัฒนาการไม่หยุดยั้ง ถึงกลยุทธ์ส่วนประสมทางด้านการส่งเสริมการตลาด ที่แนบเนียนและแยบยลจนทำให้ผู้คนมากมายในตลาด ต้องเข้ามาติดกับดักชนิดไม่รู้ตัวกันเลยทีเดียว จนทำให้โลกยุคใหม่ในวันนี้ ทุกคนจะหนีไปจากคำว่ากลยุทธ์ทางการตลาดไม่ได้เลยทีเดียว เพราะอะไรๆ ก็จะเกี่ยวกับคำว่าการตลาดไปเสียหมด

ทั้งนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป เมื่อความเจริญพัฒนาถึงขีดสุดแถมยังพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จึงก่อให้เกิดคำพูดใหม่ๆ ในแวดวงนักการตลาดหรือนักบริหารมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ก็คือ “โลกเจริญขึ้นพร้อมๆ กับทำการค้ายากขึ้น” เพราะทุกๆ บริษัทต่างเพียรพยายามที่จะพัฒนาเครื่องมือในการแข่งขันที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้มนุษย์ทั้งโลกได้รับประโยชน์ทางตรงในการมีโอกาสซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลายขึ้น ในราคาที่ต่ำลงชนิดเทียบกันไม่ติดฝุ่นเลยทีเดียว ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่า กลยุทธ์การตลาด ทำให้นวัตกรรมล้ำยุค มีมูลค่าที่ต่ำลงได้นั่นเอง

โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล
เขียนเมื่อ วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView