แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การตลาด แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การตลาด แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ภารกิจสำคัญของนักการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 12




ไม่ว่าโลกจะพัฒนาเจริญไปสู่ยุคไหนต่อยุคไหน แต่ปรัชญาทางการตลาดยุคแรกเริ่มที่เคยพูดถึงปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่สำคัญคือ 4'P ก็ยังคงเป็นภารกิจสำคัญของนักการตลาดตลอดมา เพราะในความเป็นจริงแล้ว นักการตลาดต้องมีความเชี่ยวชาญในการบริหารผลิตภัณฑ์ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารราคา มีความเชี่ยวชาญในการบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย และมีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานด้านส่งเสริมการตลาด นั่นเอง

ความเจริญทางการศึกษา และความรุนแรงทางการแข่งขันในแวดวงธุรกิจ ทำให้เกิดนักวิชาการมากมายเพิ่มขึ้นบนโลกใบนี้ พร้อมๆ กันนั้นก็เกิดนักการตลาดของแท้บ้าง ของเทียมบ้าง เพิ่มขึ้นมากมายไปหมด และแต่ละคนก็พยายามนำเสนอวิธีคิดเรื่องส่วนประสมทางการตลาด แตกแขนงออกไปมากมาย บางคนก็บอกว่าต้อง 5'P บางคนก็บอกว่าต้อง 7 หรือ 8'P บ้าง และบางคนก็พูดกันไปถึง 10'P กันเลยทีเดียว แต่ถ้าหากใครนำทฤษฎีใหม่ๆ เข้านั้นมาสรุปหลอมรวมสู่ต้นกำเนิดทฤษฎีทางการตลาด มันก็แค่พูดถึงปัจจัยหลัก 4'P นั่นเอง ไม่ได้หลุดกรอบไปไหน

ผมจึงเรียกกลุ่มคนที่กล่าวมาว่า..นักการเตลิด" เพราะชอบทำให้การตลาด ต้องเตลิดกันไปใหญ่โต นักการตลาดเก่งมากพอที่จะทำให้เรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากๆ ได้ พวกเขาสามารถพูดเรื่องที่พูดได้ง่ายๆ ฟังได้ง่ายๆ เข้าใจได้ง่ายๆ จนสามารถกลายเป็นเรื่องที่พูดยากจับใจ ฟังยากจนเวียนหัว และเข้าใจยากจนปวดหัวกันไปเลย

คำพูดหนึ่งของผู้นำระดับโลกที่ชื่อว่า "เติ้งเสี่ยวผิง" เคยพูดเอาไว้ว่า... "แมวจะสีอะไรไม่สำคัญ ของให้จับหนูได้ก็พอ" ถ้าหากนักการตลาดตระหนักถึงคำพูดของท่านเติ้งเสี่ยวผิง ก็ควรจะตระหนักต่อด้วยว่า นักการตลาดจะเก่งสักแค่ไหน จะเรียนมาสูงสักเพียงใด มันสำคัญตรงที่ว่า ทำให้ธุรกิจเพิ่มกำไรได้หรือไม่ หรือสามารถทำให้ธุรกิจฟันฝ่าอุปสรรคภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงได้หรือไม่ต่างหาก

การเปลี่ยนวิธีคิดแบบยุคเก่า ด้วยการคิดใหม่ แทนที่เราจะถามตัวเองว่าเราจะขายสินค้าอะไรดี แต่ให้หันไปคิดที่จะถามลูกค้าว่าลูกค้าต้องการสินค้าอะไร แทนที่เราจะถามตัวเองว่าเราจะตั้งราคาขายเท่าไหร่ดี ให้เปลี่ยนไปถามลูกค้าว่าราคาที่ลูกค้าพึงพอใจที่สุดของตรงไหน แทนที่เราจะถามตัวเองว่าเราจะจัดจำหน่ายสินค้าของเราผ่านทางช่องทางการจำหน่ายแบบไหนดี ก็ให้ถามลูกค้าว่า ลูกค้าสะดวกซื้อที่ใด และสุดท้ายแสนที่จะมานั่งคิดว่าจะโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขายกันยังไงดี ก็ให้หันมาศึกษาว่า ลูกค้าเขาชอบแนวทางการส่งเสริมทางการตลาดแบบใด ... ทฤษฎีพื้นฐานที่กล่าวมานี้ ยังคงมีมนต์ขลังค์ไปตราบนานเท่านาน ถ้าหากเรายังคิดว่าตัวเองยังต้องการที่จะเรียกตัวเองว่า "เป็นนักการตลาด" อยู่สืบไป


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


ค่านิยมที่ผิดใหญ่หลวงของนักการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 11




ในยุคที่ผมก้าวสู่วงการนักการตลาดใหม่ๆ ได้มีค่านิยมหนึ่งที่คนในแวดวงการตลาดชอบเอามาพูดกันก็คือ "นักการตลาดตัดสินใจพลาด 10 ครั้งดีกว่าไม่ได้ตัดสินใจอะไรเลย" ซึ่งแรกๆ ผมก็พอจะคล้อยตาม ด้วยนึกเอาว่า..การเป็นนักการตลาดนั้น จะต้องเป็นนักตัดสินใจ แต่ละวันก็ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางการตลาดมากมายไปหมด และผมได้พลอยหลงประเ้ด็นไปกับค่านิยมนั้น ด้วยเชื่อว่า..แผนส่งเสริมการขายที่ตัวผมเองบริหารอยู่นั้น ถ้าจะตัดสินใจพลาดไปบ้าง ก็คงไม่เป็นไร เพราะใครๆ ก็บอกอยู่จนชินหูว่า นักการตลาดตัดสินใจพลาดสิบครั้งก็ไม่เป็นไรนั่นเอง

มาถึงวันนี้..ผมถือว่านั่นเป็นค่านิยมที่ผิดใหญ่หลวงมากที่สุดของการเป็นนักการตลาด เพราะในโลกของความเป็นจริง การเป็นนักการตลาดที่ดีนั้น ตัดสินใจพลาดไม่ได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะการตัดสินใจพลาดเพียง 1 ครั้ง ถือเป็นความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้เลยทีเดียว และประสบการณ์ตรงของผมก็เป็นสิ่งยืนยันได้ชัดเจนว่า กิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ผมรับผิดชอบอยู่ใน 7-ELEVEN นั้น แต่ละรายการต้องใช้เงินงบประมาณหลายล้านบาท ดังนั้น ถ้าผมตัดสินใจพลาดเพียงครั้งเดียวก็หมายถึงบริษัทจะเกิดความเสียหายมากมายมหาศาล

ผมเพิ่งได้สัมผัสและเข้าใจถ่องแท้ว่า วิชาการตลาดนั้น แม้ว่าจะเรียนไม่ยากนัก เพราะล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แต่เมื่อได้ลงมือทำงานทางด้านการตลาดจริงๆ กลับกลายเป็นว่า ภารกิจในด้านการตลาดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ เพราะมันเกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์โดยตรง ที่จะยอมรับ หรือไม่ยอมรับ กิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เราได้วางแผนออกไป ความยากของการเป็นนักการตลาดนั้น บางทีก็ยากเกินกว่าจะอธิบายได้ละเอียด เอาเป็นว่าผมจะหาโอกาส เล่าให้ฟังในโอกาสหน้าว่า ภารกิจที่ท้าทายความสามารถอย่างมากของนักการตลาดนั้น มีขั้นตอนอะไรกันบ้าง


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


ผลงานการตลาดชิ้นโบว์แดง

นิทานการตลาด ตอนที่ 10




ในปี 2537 ถือเป็นช่วงจังหวะที่ 7-ELEVEN มีการขยายตัวเร็วขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อยอดขายเฉลี่ยที่เริ่มลดลงไปบ้าง จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายส่งเสริมการขายได้มีบทบาทมากขึ้น ที่จะช่วยผลักดันยอดขายให้กับบริษัท ในปี 2537 นี้เองที่ผมได้นำเสนอฝ่ายบริหารทุกระดับใน 7-ELEVEN ให้จัดรายการส่งเสริมกาขายที่ทำให้มีคนพูดกันไปทั้งเมือง แถมยังเป็นที่พูดถึงไปยังประเทศต่างๆ ที่มีร้าน 7-ELEVEN อีกหลายประเทศ ซึ่งรายการส่งเสริมการขายที่ว่าก็คือ "ตั๋วรถเมล์มีค่าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น"

ผลงานครั้งนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นแรกสุดที่ผมเป็นผู้ผลักดันอย่างเต็มความสามารถ ในฐานะที่ผมรับผิดชอบงานในตำแหน่งผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายนั่นเอง นอกจากผมจะต้องศึกษา SWOT Analysis ของธุรกิจ 7-ELEVEN ที่มีจุดเด่นคือ มีสาขามากมาย ตั้งอยู่ใกล้กับป้ายรถเมล์ทั่วกรุงเทพมหานครแล้ว ผมยังต้องศึกษาถึงพฤติกรรมการเดินทางของคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการขอเข้าพบฝ่ายบริหาร ขสมก. ในยุค และยังต้องศึกษาถึงจุดคุ้มทุนของการส่งเสริมการขายในครั้งนี้ ด้วยเครื่องมือที่จะให้ตั๋วรถเมล์มีค่าแทนเงิน สามารถมาซื้อสินค้าในร้าน 7-ELEVEN ได้ ว่าจะต้องกำหนดเงื่อนไขอย่างไร จึงจะจูงใจลูกค้าได้ดี และไม่ทำให้บริษัทสูญเสียกำไร

ผมใช้เวลาศึกษายาวนานถึง 5 เดือนเต็ม จนในที่สุดก็ได้แจ้งเกิดรายการส่งเสริมการขายชิ้นโบว์แดงสำหรับชีวิตผม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 ด้วยเงื่อนไขว่า ตั๋วรถเมล์ที่ใช้แล้ว มีค่าใบละ 1 บาท สามารถนำมาซื้อฟาสฟู๊ดทุกชนิดในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้ โดยสิ้นค้าแต่ละชิ้นสามารถใช้ตั๋วรถเมล์ได้ไม่เกิน 4 ใบ และเมื่อได้เปิดตัวรายการส่งเสริมการขายอย่างเป็นทางการ ก็มีเสียงชื่นชม ฮือฮา และพูดกันไปทั้งเมือง ลูกค้าทุกคนพึงพอใจรายการนี้มากๆ บุคคลากรในเซเว่นอีเลฟเว่นทุกคนก็พึงพอใจ ที่รายการตั๋วรถเมล์มีค่าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ได้ปลุกให้ลูกค้าทั่วกรุงเทพฯ เกิดการตื่นตัว วิ่งเก็บตั๋วรถเมล์ที่ถูกทิ้งเกลื่อนกราดไปทั่วทุกป้ายรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาซื้อฟาสฟู๊ดในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นกันอย่างสนุนสนาน

นับจากที่ได้เปิดตัวรายการส่งเสริมการขายชิ้นโบว์แดงไปในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน - 31 ธันวาคม 2537 ได้ผ่านพ้นไป ทำให้ฝ่ายบริหารได้อนุมัติขยายโครงการส่งเสริมการขายดังกล่าวไปอีกเป็นช่วงๆ ติดต่อกันหลายเดือน แต่มีการปรับตัวสินค้า และเพิ่มตัวสินค้าให้หลากหลายมากขึ้นๆ จำได้ว่ารายการดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้ติดต่อกันนานเกินกว่าครึ่งปี จนกระทั่งควันหลงตั๋วรถเมล์เริ่มจางหายไป ก็ได้ยุติรายการดังกล่าวไปในที่สุด

ปีนั้นผมเริ่มสนุกกับงานทางด้านการตลาดมากขึ้นๆ ผมเริ่มขยายความคิดด้วยการไปร่วมมือกับโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ทั้งหมดทุกแห่ง ให้ตั๋วหนังในเครือเมเจอร์มีค่าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยตั้งชื่อรายการว่า "รักตั๋วสุดหัวใจ" ตามเงื่อนไข ตั๋วหนังมีค่าอย่าทิ้ง สามารถนำกลับมาเป็นส่วนลดสำหรับซื้อฟาสฟู๊ดได้ทุกชนิดในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยได้รับส่วนลดใบละ 5 บาททันที ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกรายการส่งเสริมการขายหนึ่ง ที่ขยายวงกว้างของลูกค้า 7-ELEVEN ไปสู่ช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นๆ


โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


กว่าจะได้เรียกตัวเองว่าเป็นนักการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 9




หลังจากที่ผมตัดสินใจลาออกจากบริษัทปูนซีเมนต์ ผมก็ได้โอากสกลับเข้าทำงานใน 7-ELEVEN อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นนักการตลาดได้อย่างเต็มตัวและสมภาคภูมิ อารมณ์ของผมในตอนนั้น ผมรู้สึกราวกับว่าตัวเองเป็นคนที่เคยมีของหวงล้ำค่าหล่นหายไป แล้วได้มันกลับคืนมาเลยทีเดียว การกลับมาในครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกรัก 7-ELEVEN จับใจ และบอกกับตัวเองว่าจะไปลาออกไปที่ไหนอีกแล้ว เพราะที่นี่คือ ครอบครัวที่อบอุ่น บุคคลากรทุกระดับมีความรัก ความกลมเกลียวกันมาก ราวมกับเป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกันเลยทีเดียว

ผมได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขาย ในปี 2536 และปีเดียวกันนั้นเองผมได้ถูกรับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัญฑิตย์ สอนวิชา หลักการสื่อสารการตลาด ให้กับนักศึกษาปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ แล้วค่อยๆ ขยายไปยังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ตลอดจนได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในภาควิชาการตลาด ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการประกาศตัวถึงการเป็นนักการตลาดของผมให้เป็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นั่นหมายความว่า..นับจากปี 2536 ที่ผมได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง มันได้ส่งผลให้ผมได้มีงานเสริมด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งภารกิจที่จะต้องเตรียมการสอนในฐานะอาจารย์ใหม่ ก็ได้เอื้อต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานตำแหน่งผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายให้มีประสิทธิภาพยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ผมเริ่มนึกย้อนไปเมื่อครั้งเข้าเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ตว่า ... น่าจะมีใครสักคนในกรมอาชีวศึกษา หันมาให้ความสำคัญที่จะแก้ภาพลักษณ์ข้อที่ว่า "คนโง่เรียนการตลาด คนฉลาดเรียนบัญชี" ให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่มีใครอยากเรียนภาควิชาการตลาดกัน

ชีวิตนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยของผม ตลอดเวลา 4 ปีเต็ม นอกจากผมตั้งใจเรียนโดยไม่เคยขาดเรียนแม้แต่วันเดียวแล้ว ผมยังทำกิจกรรมมากมายกับทางมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ระดับชมรมต่างๆ จนถึงระดับสาขาวิชาการตลาด ระดับคณะบริหารธุรกิจ จนถึงงานในสโมสรนักศึกษา จนกระทั่งเพื่อนๆ เรียกผมว่า "มนุษย์กิจกรรม" ไปเลยทีเดียว และที่น่าประหลาดใจไม่น้อย ผมยิ่งทำกิจกรรมเยอะ ผมการเรียนของผมก็ยิ่งสูงขึ้นๆ เป็นลำดับ

หลังเรียนจบการศึกษาผมก็เริ่มงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งงานแรกสุดคือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการขายใน 7-ELEVEN ซึ่งเป็นภารกิจอันเป็นหัวใจสำคัญของสายงานการตลาดเลยทีเดียว เรียกได้ว่าคนที่เรียนจบสาขาการตลาดมาทุกคน คงไม่มีใครได้ใช้ความรู้ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างผมแน่ๆ ตำราทุกวิชาผมต้องขุดขึ้นมาประกอบการทำงานอย่างหนัก ราวกับผมถูกเรียนมาเพื่อตำแหน่งงานนี้โดยแท้ ด้วยปัจจัยแห่งโอกาสเหล่านี้ ทำให้ผมก้าวหน้าเร็วกว่าเพื่อนๆ ที่จบรุ่นเดียวกันมาในการก้าวสู่สังเวียนของคำว่า "นักการตลาด" นั่นเอง

ประกอบการได้รับโอกาสเข้าไปเป็นอาจารย์ในภาควิชาการตลาดของคณะบริหารธุรกิจ และคณะนิเทศศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยภาครัฐและมหาวิทยาลัยภาคเอกชนหลายๆ แห่ง ก็ยิ่งเอื้อโอกาสต่อการที่ทำให้ผมสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น "นักการตลาด" ได้อย่างชัดถ้อยชัดคำมากยิ่งๆ ขึ้นทุกวันๆ





โดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล

สำคัญตัวเองผิด

นิทานการตลาด ตอนที่ 8



      ในฐานะที่ผมเป็นบุคคลากรกลุ่มบุกเบิกธุรกิจ 7-ELEVEN ในยุคแรกเริ่ม และได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารที่มีฝีมือระดับเซียนอย่างคุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล และคุณปรีชา เอกคุณากูล ทำให้ผมเริ่มสำคัญตัวเองผิด คิดว่าตัวเองเป็นนักการตลาดที่เก่งมาก คิดแผนส่งเสริมการขายอะไรออกมา ก็จะถูกเจ้านายอนุมัติและยอมรับเรื่อยมา เริ่มจากพนักงานใหม่สู่ตำแหน่งพนักงานที่ได้รับการเลื่อนชั้นเป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี ก็ยิ่งทำให้ตัวเองลำพองใจ สำคัญตัวเองผิดไปใหญ่โต

จากพนักงานตำแหน่งเล็กๆ ก้าวสู่ตำแหน่งผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขาย ยิ่งตอกย้ำให้ผมสำคัญตัวเองผิด คิดว่าตัวเองได้กลายเป็นนักการตลาดขั้นเซียนไปเสียแล้ว นึกว่าตัวเองปลีกกล้าขาแข็ง บินได้สูงและบินได้ไกลแล้ว จึงเริ่มหาทางออกจาก 7-ELEVEN ไปทำงานในบริษัทอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า โด่งดังกว่า และที่สำคัญที่สุดให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า และจุดนี้เองถือว่าเป็นจุดหักมุม สู่ความล้มเหลวครั้งแรกสุดในชีวิตของนักการตลาด ที่บังเกิดขึ้นในชีวิตของผม และผมเลือกไปเป็นฝ่ายขายในบริษัทปูนซีเมนต์ ที่ผมวาดหวังว่าโก้หรู เงินเดือนสูง มีรถให้ใช้ด้วย 1 คัน

ผมถือว่าตัดเองตัดสินใจผิดพลาดใหญ่หลวงเมื่อเวลาผ่านไปราว 4 เดือน ผมเพราะไม่ถนัดเอาเสียเลยจริงๆ ที่จะต้องคอยไปปรนนิบัติเจ้าของร้านวัสดุก่อสร้างมากมาย ต้องคอยไปเอาใจเจ้าของกิจการที่บางรายก็แทบจะพูดภาษาคนดีๆ ไม่รู้เรื่อง บ้าอำนาจ คิดว่าตัวเองใหญ่ ผมกลุ้มใจเป็นที่สุดที่ตัดสินใจลาออกจาก 7-ELEVEN มาเพื่อหลายเดือนก่อน แต่ผมก็แข็งใจบากหน้าไปเล่าคามในใจใ้ห้กับคุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ฟัง จนท่านให้โอกาสผมกลับคืนสู่ตำแหน่งงานเดิมคือ ผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขาย ในเวลาต่อไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ราวกับชีวิตได้เกิดใหม่อีกครั้งในแวดวงนักการตลาดเต็มตัว

และหากวันนั้นถ้าคุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ไม่ให้โอกาสผม รับรองได้ว่าโอกาสที่ผมจะกลับคืนสู่สังเวียนนักการตลาดก็คงจะมืดมน เพราะผมคงต้องทนฝืนที่จะทำงานฝ่ายขายในบริษัทปูนซีเมนต์ ที่มีรายได้มากมายพร้อมรถยนต์ให้ใช้ตลอดมา เพราะจะให้ผมลาออกจากบริษัทปูนซีเมนต์ แล้วไปหางานอื่นที่ไม่ใช่ซีพี ก็คงไม่ใช่ทางเลือกของผมในห้วงเวลานั้นเป็นแน่

มาถึงวันนี้ ผมจึงขอเตือนย้ำเ็ป็นสำคัญไว้ให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักว่า ขณะที่ตัวเองเป็นพนักงานใหม่ในองค์กรที่มีอายุงานยังไม่ครบ 5 ปีเต็ม ก็อย่าเพิ่งผยอง อย่าเพิ่งสำคัญตัวเองผิด และให้ตระหนักด้วยว่า ทุกความคิดของเรา มันถูกกรองด้วยสมองขั้นเซียนของหัวหน้างานเราอีกหลายระดับ จากนั้นจึงออกมาเป็นแผนการตลาดธรรมดาๆ ที่เรารับผิดชอบได้ ไม่มีองค์กรยักษ์ใหญ่ที่ไหน เขาจะเอาความสำเร็จหรือความล้มเหลว มาผูกติดไว้กับคนที่สมองยังอ่อนปวกเปียกของบัณฑิตใหม่ที่มีประสบการทำงานไม่เกิน 5 ปี อย่างแน่นอน

ขอให้เชื่อว่า..แผนการตลาดดีๆ ทุกแผนที่แม้จะดูเหมือนว่าเราเป็นต้นคิด แต่ให้ตระหนักอย่างสูงสุดว่า มันล้วนได้ถูกกรองจากสมองที่ฉลาดปราดเปรื่องยิ่งกว่าเราหลายเท่านัก คอยทำให้แผนการตลาดทุกๆ แผนของเรากลายเป็นแผนการตลาดที่ถูกยอมรับจากลูกค้ามากมายของบริษัท ... เสียใจที่ตัวเองลำพองใจมากเกินไปในห้วงเวลานั้น ที่ผมได้สำคัญตัวเองผิดอย่างใหญ่หลวงนั่นเอง


เขียนโดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


เจ้านายในดวงใจ

นิทานการตลาด ตอนที่ 7




ด้วยความมั่นใจเต็มร้อยว่าเจ้านายในดวงใจของผมคือ คุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่-ด้านการตลาด ของ 7-ELEVEN ในปัจจุบัน ซึ่งผมถือเป็นบุญวาสนาของผมทีเดียว ที่ได้เริ่มต้นชีวิตนักการตลาดในฐานะพนักงานใกล้ชิดกับคุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ในยุคนั้น เพราะท่านเป็นเจ้านายที่จิตใจดีเยี่ยม ความสามารถสามารถเป็นเลิศ ความเฉลี่ยวฉลาดชนิดหาตัวจับยากเลยจริงๆ ประกอบกับความขยันทุ่มเทอย่างจริงจัง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแม่แบบที่วิเศษที่สุดในชีวิตของความเป็นนักการตลาดของผมในปัจจุบัน

เจ้านายที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่งคือ คุณปรีชา เอกคุณากูล ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของคุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล และปัจจุบันคุณปรีชา เอกคุณากูล มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้การจัดใหญ่ ในบริษัทโรบินสัน มหาชน และในยุคนั้นถือว่าคุณปรีชา เอกคุณากูล เป็นเจ้านายในดวงใจที่วิเศษสุดอีกลำดับหนึ่งของชีวิตผม แต่ด้วยตำแหน่งงานที่ห่างออกไปจากตัวผมอีกระดับหนึ่ง ทำให้ผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดคุณปรีชา เอกคุณากูล น้อยกว่าคุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ค่อนข้างมาก แต่ด้วยว่าในจังหวะเวลานั้น 7-ELEVEN ยังอยู่ในยุคบุกเบิก ทำให้ทุกๆ คนในบริษัทฯ ต่างได้ใกล้ชิด และสนิทสนมกันมากๆ

ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง และชีวิตคือการต่อสู้ ตลอดระยะเวลาหลายปี เจ้านายหลายคนก็มีการเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา บ้างก็ลาออกไปเป็นผู้บริหารในองค์กรอื่น และแม้แต่ตัวผมก็ลาออกจาก 7-ELEVEN มากถึง 6 ครั้งด้วยกัน เรียกว่าเข้าๆ ออกๆ ราวกับ 7-ELEVEN เป็นบริษัทของตัวผมเองไปเลยทีเดียว และนี่ก็ถือว่าเป็นบุญของผมอย่างหนึ่ง ที่สามารถลาออกจากบริษัทฯ แล้วไปทำงานที่บริษัทอื่น และกลับมาใหม่ได้อีกหลายๆ ครั้ง

ซึ่งจุดยืนของผมในวันนั้นที่ทำให้เจ้านายทุกระดับยอมรับก็คือ ผมขยันสุดชีวิต ไปทำงานก่อน 7 โมงเช้าทุกวัน และไม่เคยกลับบ้านก่อน 1 ทุ่มแม้แต่วันเดียว ผมไม่เคยทำงานสาย ไม่เคยขาด ไม่เคยลาใดๆ แม้แต่สักวัน ผมไม่เคยไปทำงานหลังเจ้านาย และไม่เคยกลับบ้านก่อนเจ้านายเลยสักครั้ง ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ของผม อาจเป็นเสน่ห์ของผมที่ทำให้ผมเป็นที่น่าเอ็นดู และน่ายอมรับในสายตาของเจ้านายเสมอๆ แม้ว่าผมจะลาออกไปหลายครั้งหลายครา เจ้านายก็ยินดีรับผมกลับเข้ามาทำงานใหม่อีกหลายๆ ครั้ง

เจ้านายในดวงใจของผมอีกคนหนึ่งที่ผมจะไม่วันลืมเลือนไปจากชีวิตก็คือ คุณปราโมทย์ มนูพิบูลย์ ผู้ซึ่งผมยกย่องว่า ลำดับต่อจากคุณพ่อแท้ๆ ของชีวิตผม ลำดับต่อจากคุณพ่อก็มีคุณปราโมทย์ มนูพิบูลย์ นี่ล่ะ ที่ผมรักและเคารพท่านลำดับถัดมาจากคุณพ่อ เพราะคุณปราโมทย์เป็นเจ้านายที่มีความปราดเปรื่องทางด้านการตลาดอย่างสูงแล้ว ท่านยังมีจิตใจเื้อื้ออารีต่อผมอย่างวิเศษที่สุด

จึงไม่เป็นการแปลกนักที่ผมจะยกย่องคุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล และคุณปรีชา เอกคุณากูล รวมถึงคุณปราโมทย์ มนูพิบูลย์ เป็นเจ้านายในดวงใจของผม ตลอดไปจนวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาเยือน



เขียนโดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล

ก้าวแรกสู่ตำแหน่งนักการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 6




       บนเส้นทางชีวิตสู่ตำแหน่งนักการตลาดของผม ได้เริ่มต้นขึ้นในจังหวะที่ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น เพราะในปีที่ผมเรียนจบ เป็นช่วงจังหวะยุคบุกเบิกร้าน 7-ELEVEN ในประเทศไทยพอดี และวันที่ผมเดินทางไปสมัครงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์เมื่อปีนั้น ความจริงผมยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าร้าน 7-ELEVEN คืออะไร เขาขายอะไรกัน และผมไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิตเลยว่า ร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ หรือแปลเป็นไทยว่าร้านสะดวกซื้อนั้นหมายถึงร้านที่เขาขายอะไรกัน

ผมได้แต่เรียกร้าน 7-ELEVEN ในใจของผมเองว่า ร้านมินิมาร์ทเล็กๆ ที่เิปิดขาย 24 ชั่วโมงนั่นเอง จะให้เรียกอย่างอื่นก็ไม่ค่อยถนัดเอาเสียเลย ตำแหน่งเริ่มต้นของผมที่ได้รับมอบหมายก็คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมการขาย ซึ่งอาจเป็นเพราะผมเรียนวิชาหลักการส่งเสริมการขาย และหลักการโฆษณาได้เกรด A มาทั้ง 2 วิชา ทำให้การสัมภาษณ์เข้าทำงานในวันนั้นจึงผ่านตากรรมการเข้าสู่บริษัีทในเครือเจริญโภคภัณฑ์จนได้

น่าขำมากทีี่่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเครือซีพี มีพนักงานในสำนักงานใหญ่มากมาย แต่ทั้งบริษัทมีโทรศัพท์เพียง 2 เลขหมาย และแฟกซ์อีก 1 เลขหมาย ทุกวันแต่ละคนต้องแย่งกันใช้โทรศัพท์กันวุ่นวายไปหมด ส่วนจะเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือใช้ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะในปีนั้นโทรศัพท์มือถือต่ำสุดก็เครื่องละ 7-8 หมื่นบาทขึ้นไป ไม่มีต่ำกว่านั้นแม้แต่สักยี่ห้อเดียว

จึงมีทางออกเดียวที่จะติดต่อสื่อสารกันได้ก็คือ ต้องไปซื้อเพจเจอร์มาใช้ ซึ่งก็เครื่องละเกิน 5 พันบาทขึ้นไป ใครจะติดต่อเข้ามาทางเราก็ต้องฝากข้อความผ่านทางเพจเจอร์ แล้วเราก็ไปวิ่งหาตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ตู้บนถนนสีลม เพื่อติดต่อกับซัพพลายเออร์ทั้งหลาย ตอนนั้นพวกเราทำงานอย่างขลุกขลักกันมาก แต่ทุกคนก็มีความสุขกันดี รักกันมาก ทุกคนต่างช่วยเหลืองานกันทุกฝ่าย ทุกแผนก เพราะทั้งบริษัทมีกันเพียงไม่กี่คนเท่านั้นเอง

ปฐมบทสู่ภาควิชาการตลาด

นิทานการตลาด ตอนที่ 5




       หลังจากประกาศผลสอบได้เข้าเรียนเป็นนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ-ภาคค่ำ ในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ผ่านพ้นไป ผมก็เริ่มเข้าไปรายงานตัวเพื่อเริ่มต้นเป็นนักศึกษาใหม่ ตอนนั้นผมรู้สึกภูมิใจในตัวเองอย่างมาก ที่สามารถพกพาความโง่ ไม่เอาถ่าน มาสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจนได้ และผมได้สาบานตนในวันรายงานตัวนั้นเลยว่า นับจากวันนี้ไปผมจะตั้งใจเรียน จะขยันขันแข็งและจะต้องเรียนให้ได้ดีที่สุด

ในวันรายงานตัวเข้าเรียนวันแรกนี้เอง อาจารย์ที่ปรึกษาได้เข้ามาแนะนำสาขาที่นักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์เลือกเรียน สำหรับนักศึกษาภาคค่ำจะมีเพียง 2 สาขาให้เลือกเรียนเท่านั้นคือ สาขาการตลาด และสาขาบริหารธุรกิจทั่วไป ตอนนั้นผมยัง งง งง ตั้งตัวไม่ทัน แต่ก็นึกขึ้นได้ว่า ตัวเองเคยพลาดมาแล้วครั้งหนึ่งตอนเลือกเรียนสาขาบัญชีที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต คราวนี้จะต้องไม่พลาดแล้ว ขอฟันธง ตัดสินใจเรียนสาขาการตลาดนี่ล่ะ เพราะเคยได้ยินว่าสาขานี้เรียนสนุก และเรียนไม่ยาก

และนี่ถือเป็นปฐมบทสู่ภาควิชาการตลาดที่แท้จริงของผมนั่นเอง การเริ่มต้นชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผมได้พลิกชีวิตจากคนไม่เอาถ่าน เหลวไหล ไม่เคยใส่ใจการเรียน ผมกลายเป็นคนขยันเรียน ไม่เคยขาดเรียน ทำการบ้านทุกข้อที่อาจารย์สั่งให้ทำ และอ่านหนังสือแทบตลอดเวลาที่ตัวเองว่าง ผมใส่ใจการบรรยายของอาจารย์ทุกวิชาอย่างตั้งใจที่สุด

แต่ด้วยพื้ันฐานในมัธยมต้นและในระดับอาชีวศึกษาของผมนั้น มันยอดแย่เสียเหลือเกิน ทำให้การขยันสุดขีดของผม ก็ยังเป็นไปอย่างทุลักทุเลอย่างมาก หลายๆ วิชาที่คิดว่ามันจะน่าจะเรียนง่าย แต่ด้วยว่าพื้นฐานทางการศึกษาของผมแย่มาก ทำให้ภาวะวิกฤติในปีแรก ผมได้ผลการเรียนเพียง 2.17 เท่านั้น ซึ่งถือว่ารอดมาหวุดหวิดอีกตามเคย

ผมเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้นมาขึ้นเป็นนักศึกษาปี 2 พร้อมๆ กับผลการเรียนดีขึ้นเป็น 2.47 และดีขึ้นเป็น 2.75 จนกระทั่งถึง 3.2 ในเทอมต่อๆ มา ซึ่งถือว่าผลการเรียนของผมมีอัตราที่สูงขึ้นและค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับตลอดทุกภาคการศึกษาเลยทีเดียว

ด้วยความที่ตัวเองเป็นนักศึกษาภาคค่ำ ที่จะเรียนเพียงจันทร์-ศุกร์ เฉพาะเวลา 17.00-20.00 น. ทำให้ตอนกลางวันผมมีเวลาว่างอย่างมาก ทำให้ผมตัดสินใจไปมหาวิทยาลัยตั้งแต่เช้าทุกวัน แล้วไปอ่านหนังสือในห้องสมุดบ้าง ไปเข้าชมรมต่างๆ ที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งเป็นผลทำให้มีเพื่อนใหม่มากมายกว่าใครๆ และผมก็ค่อยๆ เข้าไปช่วยในชมรมบางชมรม จนสามารถขึ้นเป็นประธานชมรมในขณะที่เรียนชั้นปีที่ 3

การเรียนที่ดีขึ้น เพื่อนฝูงที่มากขึ้น สังคมที่กว้างขวางขึ้น ประกอบกับตอนปลายของการเรียนปี 2 ผมได้พลิกชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ สามารถสอบชิงทุน โครงการยุวฑูตไทยขององค์การยูเนสโก้ เข้าร่วมสัมมนาเยาวชนนานาชาติ ที่ประเทศเกาหลี ก็ยิ่งทำให้ผมกลายเป็นคนที่โดดเด่นขึ้นมาตามสมควร

ผลการเรียนวิชาต่างๆ ในภาควิชาการตลาดของผม ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ในระดับแถวหน้า มีเกรด A หรือเกรด 4 โผล่มาให้เห็นหลายวิชา พร้อมๆ กันนั้นผมก็เริ่มเข้าไปมีบทบาทในกิจกรรมของภาควิชาการตลาดนะดับผู้นำ ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป หรือผู้จัดการใหญ่ ในบริษัทจำลอง ในมหาวิทยาลัยหอกา่รค้าไทย และนั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ของการก้าวสู่อาชีพนักการตลาดของผมมาจนถึงทุกวันนี้



เขียนโดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล

กว่าจะเป็นลูกแม่ไทร

นิทานการตลาด ตอนที่ 4



     หลังจากที่ผมซื้อใบสมัครสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผมก็เหลือบไปเห็นรุ่นพี่เขาวางขายชี๊ดคู่มือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มี 2 ชุดรวมเป็นเงิน 150 บาท ผมก็ไม่ลังเลที่จะซื้อติดตัวกลับบ้านไปด้วย เพราะวาดหวังว่ายังไงก็ต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้จงได้ ตอนนั้นผมมีเวลาเตรียมตัวสอบเกือบ 1 เดือนเต็ม ผมก็อ่านคู่มือเตรียมสอบเข้าที่ซื้อมาซ้ำแล้วซ้ำอีก อ่านอย่างหนัก แต่บอกตามตรงว่า ผมเข้าใจไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคู่มือเตรียมสอบที่ซื้อมา

วิชาภาษาอังกฤษผมสรุปว่าคงตกโดยไม่ต้องคิดเลย ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ก็ไม่ต้องเข็นคลกขึ้นเขา คงต้องสอบตกตามไปอีก 1 วิชาติดๆ กัน ก็คงเหลือแต่วิชาความรู้ทั่วไป และวิชาภาษาไทย ซึ่งพอจะอ่านแล้วใส่เข้าไปในสมองได้บ้าง ผมยิ่งอ่านมากก็ยิ่งมึน ยิ่เวียนหัว เพราะไม่สามารถหาใครสักคนมาติวได้เลย แค่ผมอ่านตัวอย่างข้อสอบเก่า สาบานได้เลยว่า คำว่า เดซายด์ ควอเซ็นทาย เปอร์ทาย (ไม่รู้ว่าเขียนถูกหรือไม่) ผมเกิดมาไม่เคยได้ยินชื่อเหล่านี้อยู่ในสมองเลย แม้แต่คำว่า อินเตอร์เซ็กชั่น ผมก็ตกไปตั้งแต่นั้นแล้ว โง่ขนาดนี้จะไปสอบติดได้ยังไงกันหนอ

จนกระทั่งถึงวันสอบ ตอนนั้นผมได้ไปสอบที่ตึก 5 ซึ่งเป็นตึกสูงสุดของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในยุคนั้น ยิ่งผมได้นั่งห้องสอบในชั้นที่ 7 ก็ยิ่งตื่นเต้น และเ้ฝ้าฝันอย่างหนักว่าอยากเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าอย่างที่สุด และเมื่อถึงเวลาสอบจริงๆ ผมรู้ตัวเลยว่า..น่าจะตายสนิท เพราะผมทำข้อสอบได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งแน่นอน ดังนั้นเมื่อสอบเสร็จก็เริ่มต้นวิ่งเต้น เพียรหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงในกรุงเทพมหานคร ใครบอกว่าที่ไหนศักดิ์สิทธิ์ก็จะเดินทางไปทุกแห่ง เพื่อบนบานศาลกล่าวขอให้สอบติดที่มหาวิทยาลัยหอาการค้าไทย ... เห้อ !! เขียนเองยังกลุ้มใจเอง คนอ่านจะไม่กลุ้มก็คงแปลกใจแล้วนะครับ

ก่อนที่วันประกาศผลสอบจะมาถึง ผมได้ยินรุ่นพี่พูดกันวันไปสอบเข้าว่า ถ้าหากเห็นผลสอบก่อน ให้มารอราว 2 ทุ่ม ที่หน้ามหาวิทยาลัย เพราะเจ้าหน้าที่จะเอารายชื่อคนที่สอบเข้าได้ มาติดบอร์ดที่กลางสนามหน้าเสาธงราวเวลา 2 ทุ่ม จึงทำให้ผมตื่นเต้นและไปรอดูบอร์ดประกาศผลสอบนั่นเอง ... คืนนั้น ผมอ่านรายชื่อราวสัก 8-10 บอร์ด ไล่เรียงจนครบทุกบอร์ด อ่านไปๆ ราว 5 รอบ จนเวียนหัว ตาลาย หาชื่อตัวเองไม่เจอ คืนนั้นน้ำตาเริ่มไหล แขนขาเริ่มสั่น ใจไม่ดีเลยจริงๆ ว่าตัวเองต้องพลาดแล้วแน่ๆ ก็เลยนั่งรถเมล์กลับบ้านไป โดยที่มีน้ำตาไหลไปตลอดทาง

จากคืนนั้นจนรุ่งเช้าผมนอนไม่หลับ และมีน้ำตาไหลตลอดคืน พอฟ้าเริ่มสว่างก็แข็งใจ อาบน้ำ เดินทางกลับไปยังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยใหม่อีกรอบ เพื่อไปอ่านรายชื่อคนที่สอบเข้าได้อีกครั้ง ครั้งนี้ผมค่อยๆ อ่านอย่างตั้งใจ อ่านแบบคิดว่าเป็นการอ่านครั้งสุดท้ายในชีวิตแล้วล่ะ ถ้าไม่เจอก็จะไม่อ่านซ้ำแล้ว เช้าวันนั้น ป้ายมหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มโผล่ขึ้นมาในหัวใจ ผมเริ่มนึกว่า การไปมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต้องนั่งรถเมล์สาย 61 ที่วิ่งจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปรามคำแหงในยุคนั้น แต่ก็ต้องดึงความหวังกลับมาที่บอร์ดค่อยๆ อ่านรายชื่อไปเรื่อยๆ

จวบจนกระทั่งถึงบอร์ดที่ 4 ราวกลางๆ บอร์ด มันมีรายชื่อของผมโผล่ขึ้นมาให้เห็น และบอกว่าสอบติดคณะบริหารธุรกิจ-ภาคค่ำ นาทีนั้นเอง ไม่ต้องอายใครแล้ว คราวนี้น้ำตาไหลมากกว่าเมื่อคืนเสียอีก ถึงขั้นสะอื้นเลยทีเดียว...ที่ฝันได้เป็นจริงแล้ว


เขียนโดย อาจารย์วรกร ชำนา่ญไพศาล


ถนนสู่รั้วมหาวิทยาลัย

นิทานการตลาด ตอนที่ 3



     คงเป็นเพราะความเหลวใหลของตัวเองในระดับเตรียมอุดมศึกษา หรือจะเรียกว่าในรั้ววิทยาลัยอาชีวศึกษาก็ว่าได้ ทำให้ตัวเองมีผลการเรียนที่ค่อนข้างแย่ พอจะเอาตัวรอดเรียนจบมาได้แบบน้ำขุ่นๆ และผมต้องเผชิญสู่ชีวิตนักศึกษาในกรุงเทพมหานครเต็มตัว และแน่นอนที่สุดว่า คนที่มีผลการเรียนยอดแย่อย่างผม จะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ นั่นคงเป็นไปไม่ได้เลยจริงๆ ก็คงเหลือแต่มหาวิทยาลัยเอกชนที่พอจะมีความหวังอยู่บ้าง แต่ยุคนั้นก็ไม่ใช่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแล้วจะสอบเข้าได้ง่ายๆ เหมือนกันนะครับ เพราะในปี 2528 นั้น มหาวิทยาลัยเอกชนก็ไม่ได้มีให้เลือกมากมายก่ายกองเหมือนกับทุกวันนี้

ก้าวแรกสุดเมื่อเดินทางถึงกรุงเทพ ผมมุ่งตรงสู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพก่อนเลย เพราะชื่อของมหาวิทยาลัยมันพอจะกลับไปบอกเพื่อนๆ ข้างหลังได้ว่า เรามาเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพแล้วนะ แต่อาจด้วยเพราะลิขิตฟ้า วันที่ผมนั่งรถเมล์ไปกล้วยน้ำไท ช่างเป็นจังหวะที่ฝนตกหนักพอดี ก็ฝ่ารถติด..แม้ว่าจะยังไม่ได้รถติดอะไรมากมายเหมือนทุกวันนี้ ก็คือเรียกได้ว่าสร้างความหงุดหงิดให้ผมได้ไม่น้อยทีเดียว และยิ่งพอไปถึงปากทางเข้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตรงกล้วยน้ำไท ปรากฏว่าต้องเจอกับน้ำขังและท่วมถึงหน้าแข้ง ต้องทนลุยน้ำที่ท่วมขังซึ่งดำสกปรกมากๆ เข้าไป เพื่อที่จะซื้อใบสมัครสอบเข้าเรียน

เพราะลิขิตฟ้าจริงๆ ทำให้ตัดสินใจไม่ซื้อใบสมัครในวันนั้น เพราะผมรู้สึกผิดหวังกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เสียตั้งแต่วันแรก ที่ตัวเองต้องลุยน้ำเน่าเข้าไปซื้อใบสมัคร พร้อมๆ กันนั้นผมก็นึกไปไกลว่า ถ้าหากซื้อใบสมัครแล้ว ดันไปสอบติดเข้าอีก ก็ต้องทนมาเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องเดินลุยน้ำเน่าที่ท่วมขังตอนฝนตกก็คงไม่ไหว ผมจึงเดินทางกลับที่พักแบบตัดใจเลยว่าต้องยกเลิกความตั้งใจที่จะเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพเสียแล้ว

คราวนี้มาลำดับที่สอง กับมหาวิทยาลัยในฝัน ก็คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผมก็ถามรถเมล์แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิว่านั่งรถสายอะไรผ่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และได้ทราบว่ารถเมล์สาย 24 แต่เพราะผมไม่เคยไปก็เลยไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอยู่ฝั่งไหนของถนน ความโชคร้ายในวันนั้น ผมดันไปเลือกนั่งฝั่งซ้าย แถมคนขึ้นรถแน่นไปหมด จึงมองฝั่งขวาไม่เห็น ผมก็นั่งรถยาวไปเรื่อยๆ และผ่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยตอนไหนก็ไม่รู้่ ผมนั่งยาวไปจนกระทั่งผู้โดยสารลงจากรถเกือบหมด แล้วสายตาก็เหลือบไปเห็นป้าย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เข้าเต็มตา ก็เลยลงป้าย กะว่าจะเข้าไปซื้อใบสมัครสอบมันซะเลย



เขียนโดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


ชีวิตในรั้วอาชีวศึกษา

นิทานการตลาด ตอนที่ 2




     ตลอดเวลา 3 ปีเต็ม ในช่วงปี 2525-2528 ที่ผมเรียนอยู่ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ในสาขาบัญชี ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่ค่อยใส่ใจเรียนสักเท่าไหร่ แถมยังไม่ค่อยชอบทำการบ้านอีกต่างหาก จะสรุปว่าเป็นคนขี้เกียจเรียนหนังสือก็ว่าได้ จึงส่งผลให้ผลการเรียนอยู่ในลำดับท้ายๆ ของห้องเรียนเสมอมา

ยิ่งมาเลือกเรียนสาขาบัญชีเข้าด้วยแล้ว เรียกได้ว่าแทบเอาตัวไม่รอด เพราะวิชาทางบัญชีแต่ละวิชา มันช่างยากมากมายเสียเหลือเกิน ประกอบกับที่ตัวเองไม่ค่อยใส่ใจการเรียนเข้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งเสียหายกันไปใหญ่โต เพราะกว่าจะสอบผ่านแต่ละวิชาการ ได้ว่าทั้งลอกการบ้าน ทั้งแอบดูคำตอบในข้อสอบเพื่อนบ้าง ทั้งคอยอาศัยคะแนนจากรายงานในกลุ่มเพื่อนๆ บ้าง อะไรจะแย่กันขนาดนั้นหนอคนเรา

ขณะเดียวกันนั้น ผมก็ได้ยินเพื่อนๆ ที่เลือกเรียนสาขาการขาย ต่างพากันสนุกสนานกับการเรียน เดี๋ยวก็มีการจัดงานออกร้าน เดี๋ยวก็มีกิจกรรมสัญจรมากมายไปหมด เห็นเพื่อนๆ แต่ละคนต้องคอยหอบโน้น หอบนี่มาทำกิจกรรมในห้องเรียนกัน เพื่อ Present งานตามหลักวิชาการขายที่เรียน ยิ่งคิด ยิ่งเห็น ก็ยิ่งลังเลใจว่า เราเลือกเรียนสาขาผิดไปหรือเปล่าหนอ น่าเศร้าเสียจริงที่มาเลือกเรียนสาขาบัญชี แทนที่จะได้เรียนอย่างสนุกสนานเหมือนกับเพื่อนๆ ที่เรียนสาขาการขาย

ตอนเทอมสุดท้ายในระดับ ปวช.3 เพื่อนๆ หลายคนที่เลือกเรียนสาขาการขาย มีผลการเรียนค่อนข้างสูง หลายคนร่าเริงเพลิดเพลินใจตลอดเวลา 3 ปีเต็มที่ได้เรียนในรั้ววิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ส่วนตัวผม เพิ่งจะพ้นเกรดเฉลี่ยน 2.00 มาเพียงนิดเดียว เรียกว่าจบแบบหวุดหวิด เนื่องจากถ้าเกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 ก็จะไม่จบพร้อมกับเพื่อนๆ

กว่าจะจบชั้น ปวช.3 สาขาบัญชี จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ออกมาได้เรียกว่าหืดขึ้นคอไปเลยทีเดียว เพราะผมต้องทนฝืนเรียนภาควิชาที่ตัวเองไม่ชอบ และไม่ถนัดเลย แต่ต้องแข็งใจเรียนเพราะกลัวใครๆ เขาดูถูกว่า "คนโง่เรียนการตลาด คนฉลาดเรียนบัญชี" นั่นเอง


เขียนโดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


คนโง่เรียนการตลาดคนฉลาดเรียนบัญชี

นิทานการตลาด ตอนที่1



      ย้อนเวลากลับไปเื่มื่อปี พ.ศ.2525 ขณะที่ผมสอบเข้าเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ตอนนั้นในภาคธุรกิจมีให้เลือกเรียนได้ 3 สาขาวิชา คือ 1.สาขาวิชาบัญชี 2.สาขาวิชาการขาย 3.สาขาวิชาเลขานุการ และแน่นอนที่สุดคนกลุ่มใหญ่สุดก็จะเลือกเรียนสาขาบัญชี กลุ่มรองลงมาก็คือสาขาการขาย และตามด้วยสาขาเลขานุการ

แต่พอได้เริ่มต้นเรียนจบจบชั้น ปวช.1 ก็มีการประเมินผลการเรียนการอีกรอบ เพื่อให้ทุกคนได้เลือกสาขากันอย่างจริงจัง ตอนนี้เกรดเฉลี่ยผมค่อนข้างต่ำ น่าจะอยู่ที่ราวๆ 2.20 เห็นจะได้ ซึ่งกฏของทางสถานศึกษา ชี้แนะว่าคนที่มีผลการเรียนค่อนข้างต่ำ ควรเลือกเรียนสาขาการขาย หรือสาขาเลขานุการ และไม่ควรเลือกเรียนสาขาบัญชี เพราะจะเรียนยากมาก อาจทำให้ไม่จบการศึกษาได้

และจุดนี้เองที่ผมได้ยินรุ่นพี่พูดเป็นวลีเด็ดว่า "คนโง่เรียนการตลาด คนฉลาดเรียนบัญชี" และเพราะประโยคเด็ดนี้เองที่ผลักดันให้ผมฝืนคำชี้แนะของครูประจำชั้น ด้วยการวิงวอนขอเรียนสาขาบัญชีให้ได้ เพราะเกรงว่าตัวเองจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนโง่ ที่เรียนการตลาด และนั่นถือว่า..เป็นการคิดโดยผละการจริงๆ ถ้าหากฝ่ายแนะแนวในยุคนั้น มีความสามารถสูงอีกสักนิด เขาควรปลดล็อค หาคำอธิบายมาแก้โจทย์ที่ว่า "คนโง่เรียนการตลาด คนฉลาดเรียนบัญชี" ให้คลี่คลายไปให้ได้

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ผมต้องเรียนสาขาบัญชีจนจบชั้น ปวช.3 โดยบางวิชาแทบจะตัวไม่รอด อาทิเช่น บัญชีบริษัท และบัญชีธนาคาร ซึ่งผมถือว่ายากมากสำหรับชีวิตของผมในยุคนั้น



เขียนโดย อาจารย์วรกร ชำนาญไพศาล


cahttradingview

AAPL ชาร์ต โดย TradingView